ไทย โชว์ศักยภาพ ต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง มูลค่า 1,695 ล้านบาท ลำแรก ในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday August 27, 2010 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--โครงการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกในประเทศไทย กองทัพเรือ โชว์ศักยภาพต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรก ในประเทศไทย มูลค่า 1,695 ล้านบาท เผยมีสัญญาลิขสิทธิ์ สามารถส่งออกแบบเรือ โนว์ฮาวของเรือ และรับต่อเรือให้กับบริษัท หรือประเทศที่สนใจได้ทั่วโลก ถึง 10 ปี พลเรือโท วีรพล กิจสมบัติ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และรองเสนาธิการทหารเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรือต้องปฎิบัติตามบทบาทและภารกิจที่ได้รับ คือ การปฎิบัติทางทหารในการป้องกันประเทศ และการรักษากฎหมาย ช่วยเหลือประชาชน โดยให้มีขีดความสามารถในการลาดตระเวน ตรวจการณ์ รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ป้องกัน และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เป็นต้น ดังนั้นกองทัพเรือจึงมีความต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จำนวน 6 ลำเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถที่ต้องการ ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในสภาวะแวดล้อมช่วง 10 ปีข้างหน้า จึงได้มอบความไว้วางใจให้ อู่กรุงเทพ ในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญสูงสุดในวงการนี้ เป็นผู้ดำเนินการในด้านการออกแบบ จัดหาพัสดุในการต่อเรือ จัดหาแรงงาน พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างการต่อเรือให้กับกองทัพเรือทั้งหมด นาวาเอก ชุมพล พรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เปิดเผยว่า อู่กรุงเทพ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2408 โดยเริ่มจากการเป็นผู้ให้บริการแก่เรือสินค้าเดินทะเลที่เข้ามาที่กรุงเทพมหานคร ผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆมามากมาย ปัจจุบันมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ สังกัดกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่หลักให้บริการด้านการต่อเรือ และซ่อมบำรุงเรือต่างๆ ให้กับกองทัพเรือ และเอกชนต่างๆ โดยภารกิจล่าสุดคือ การเป็นผู้สนับสนุนกองทัพเรือ ในการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกในประเทศไทย มูลค่า 1,695 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 4 ปี เริ่มจากปี พ.ศ. 2552 — 2555 “ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ กองทัพเรือ ในฐานะเจ้าของและผู้ต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ จึงได้มอบหมายให้บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในด้านการออกแบบ จัดหาพัสดุในการต่อเรือ พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างการต่อเรือให้กับกองทัพ การต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิคของบุคลากรของกองทัพเรือในการต่อเรือขึ้นมาใช้เองในประเทศ ทั้งยังเป็นการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีความพร้อมเป็นอย่างสูง ที่จะส่งออกแบบเรือ หรือโนว์ฮาวในการผลิตเรือ รวมถึงรับจ้างต่อเรือแบบเดียวกันนี้ ให้กับประเทศผู้สนใจได้ทั่วโลก โดยมีสัญญาด้านลิขสิทธิ์ถึง 10 ปีเต็ม คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ และธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเรือแต่ละลำมีมูลค่าค่อนข้างสูง ” นาวาเอก ชุมพล กล่าว มิสเตอร์สก๊อต เจมไมล์สัน International Program Director บริษัท BAE Systems Surface Ships ในฐานะผู้ออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ กล่าวเสริมว่า BAE เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆ ให้กับประเทศที่สนใจทั่วโลก โดยเฉพาะการออกแบบเรือรบที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงได้ร่วมมือกับบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด เป็น อินดัสทรี พาร์เนอร์ ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุน อู่กรุงเทพ ในการร่วมมือกับกองทัพเรือ ต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งในครั้งนี้ ความร่วมมือนี้ จะนำมาซึ่งมิติใหม่ของการต่อเรือ ทั้งด้านการเสริมความรู้ของบุคลากรในประเทศ การผลิตสมัยใหม่ การตลาดสากล และฐานความรู้ในการดำเนินงาน นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในย่านนี้ เชื่อว่าในอนาคตไทยจะสามารถทำรายได้จากการส่งออกแบบเรือ โนว์ฮาว และเรือรบประเภทนี้ให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกได้อย่างแน่นอน สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ คุณยอดยิ่ง แสนยากุล ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ โครงการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกในประเทศไทย โทร. 0-2956-5276 E-mail : pr@newsperfect.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ