กสอ.ขนทัพผู้ประกอบการโชว์ศักยภาพงาน SME Thailand Expo 2010 พร้อมจัดสัมมนาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs ไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2010 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม รุกจัดงาน “กสอ.เพื่อ SMEsไทย” ในงาน SME Thailand Expo 2010 ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2553 ณ ฮอลล์ 3-4 อิมแพค เมืองทองธานี โดยคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการต่างๆ ของกรมฯ มาร่วมจัดแสดงผลงาน จำนวน 85 กิจการ พร้อมเปิดเวทีสัมมนาตลอด 4 วันของการจัดงาน เพื่อเสริมเติมทักษะการประกอบกิจการให้แก่ SMEs ไทยได้นำกลับไปใช้บริหารกิจการให้ยั่งยืนต่อไป นายชัยวุฒิ บรรณาวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีจำนวนกว่า 2.8 ล้านราย ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งแม้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปีนี้แต่ด้วยปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองและปัญหาภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการ SME ดำเนินโครงการการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างเสริมทักษะการประกอบกิจการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการฝึกอบรมในโครงการต่างๆ และการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้าร่วมงาน SME Thailand Expo 2010 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2553 ณ ฮอลล์ 3-4 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการไทยในวงกว้างผ่านการจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการที่ได้นำความรู้จากการเข้าฝึกอบรมไปดำเนินการบริหารกิจการจนประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้กับกิจการของตนเองต่อไป นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะจัดขึ้นภายในงาน SME Thailand Expo 2010 นั้น ใช้ชื่อว่างาน “กสอ.เพื่อ SMEs ไทย” โดยพื้นที่การจัดงานภายในฮอลล์ 3 และ 4 อิมแพ็ค เมืองทองธานี แบ่งออกเป็น 3 โซนด้วยกัน โซนที่หนึ่ง เป็นกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ มีพื้นที่ในการจัดงาน 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะเป็นการสัมมนาภายในห้องสัมมนา 303 บริเวณชั้นลอยของ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสามารถรับผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาได้ครั้งละ 50 คน มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ แนวทางการจำหน่ายสินค้าร่วมกับไปรษณีย์ไทย 7-Catalog และ 108 Shop ซึ่งถือเป็นการตลาดรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ รวมถึงการสัมมนาในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs เช่น ค้นหาพลังแฝงเพื่อการบริหารธุรกิจ, กลยุทธ์การตลาดในยุคเศรษฐกิจใหม่ และกลยุทธ์การทำตลาดของ SMEs ด้วย Social Network เป็นต้น และพื้นที่จัดสัมมนาอีกส่วนหนึ่งจะอยู่บริเวณห้องจูปิเตอร์ 4-7 ห้องสัมมนาบริเวณนี้จะรับผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาได้ครั้งละ 500 คนขึ้นไป โดยสำนักต่างๆ ของกรมฯ จะผลัดเปลี่ยนกันจัดสัมมนาทุกวัน โดยวันแรกวันที่ 2 กันยายนจะเป็นการสัมมนาและมอบรางวัล ECIT Award, วันที่ 3 กันยายนจะเป็นการสัมมนาเรื่อง Lean Management, วันที่ 4 กันยายน เป็นการสัมมนาเรื่องและมอบประกาศนียบัตรโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ (NEC) ในช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะเป็นการสัมมนาและปาฐกถาเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีของโครงการ คพอ. สำหรับวันสุดท้ายวันที่ 5 กันยายนจะเป็นการจัดสัมมนาและมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการของสำนักพัฒนาบริการอุตสาหกรรม (สพบ.) โซนที่สอง เป็นการจัดแสดงสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 85 กิจการ ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการผ่านการเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ NEC จำนวน 20 กิจการ, โครงการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือ คพอ. จำนวน 30 กิจการ และส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอื่นๆ ของกรมฯ ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนไปจนถึงผู้ประกอบการ SMEs รายใหญ่ และ โซนที่สาม เป็นส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ โดยกรมฯ จะนำโครงการบางส่วนที่จัดดำเนินการขึ้นเพื่อช่วยเหลือพัฒนาทักษะและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs มาจัดแสดง เช่น คพอ., NEC, MDICP, Lean, ECIT, CF (Consultancy Fund) และ TC (Training Fund) เป็นต้น พร้อมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของโครงกา หรือสามารถเข้ามาตรวจสอบกิจการของตนเองว่าควรจะเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการใด ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดที่ปรึกษาไว้คอยให้คำแนะนำ พร้อมจัดเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้คอยให้บริการ E-Consulting แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพียงพิมพ์คำถามลงไป ระบบจะออนไลน์มายังเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ช่วยตอบคำถามต่างๆ ให้ นอกจากนี้ภายโซนนิทรรศการยังจะมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่กรมฯ ได้คัดเลือกมาจัดแสดง 3 ประเภทด้วย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากการจัดประกวดภายใต้การดำเนินงานของสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย, แพ็กเกจจิ้งที่ผ่านการประกวดจากงาน Asia Star และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่จะแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งทอไทย นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานในปี 2554 ด้วยว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงินรวม 998 ล้านบาท ซึ่งได้วางแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการ คือ 1.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ประชาชนมีความมั่นคงในอาชีพและมีรายได้ 2.การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิมให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และ 3.การสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสาขาเป้าหมายมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอพียง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กำหนดเป้าหมายการให้บริการให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเพื่อให้เป้าหมายการดำเนินงานของกรมฯ บรรลุผลสำเร็จ ได้กำหนดกลยุทธ์หลักรวม 3 ด้านเช่นกัน ได้แก่ 1.การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตและยั่งยืน 2.การสนับสนุนปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม และ 3.การพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์นี้ ถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติผ่านทางโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตและยั่งยืนด้วยการเพิ่มมูลค่าการลงทุน และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ มีโครงการที่สำคัญ คือโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) โครงการสร้างสังคมการประกอบการ โครงการเพาะต้นกล้าอุตสาหกรรม การส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในภาคอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็จะให้การสนับสนุนปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนในปี 2554 จำนวน 18,960 คนโดยมีศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (Business opportunity Center: BOC) เป็นหน่วยงานให้บริการข้อมูลสานสนเทศและคำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ส่วนการดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สอดรับกับโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้นั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องในการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโครงการ Hand in Hand ที่ได้เริ่มดำเนินการนำร่องมาเมื่อปี 2552 ณ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยในปี 2554 ได้รับงบประมาณวงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งได้ตั้งเป้าขยายพื้นที่เพิ่มเติม ณ อำเภอรามัญ โดยมีเป้าหมายจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 250 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ