กทม. จับมือ SCG นำร่องโครงการฉลากเขียว กระตุ้นสำนึกรักสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2010 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. ร่วมกับ SCG Paper นำร่องโครงการฉลากเขียว กระตุ้นประชาชนสำนึกรักสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะ และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน พร้อมบรรจุเป็นยุทธศาสตร์ในแผนบริหารราชการกทม. สนับสนุนชุมชนให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ SCG Paper นำร่องโครงการฉลากเขียว” ร่วมกับนายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลการประกวดผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ “โครงการประกวดผลิตภัณฑ์และพัฒนาวัสดุเหลือใช้ ประจำปี 2553” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการบริโภค ช่วยกันลดปริมาณขยะ รวมไปถึงการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนต่อไป รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรด้วยการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำแนวคิดตลาดสีเขียว (Green Market) ด้วยการติดฉลากเขียวบนผลิตภัณฑ์หลากหลายตั้งแต่สินค้าทั่วไปจนถึงการก่อสร้างและบริการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้บรรจุเป็นยุทธศาสตร์ของแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552—2555 กลยุทธ์สนับสนุนชุมชนให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดถือปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ โดยจัดทำเป็นคู่มือในการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 17 ประเภท ได้แก่ สินค้า 14 ประเภท ประกอบด้วย 1. กระดาษคอมพิวเตอร์ — กระดาษสีทำปก 2. กระดาษชำระ 3. กล่องใส่เอกสาร 4. เครื่องถ่ายเอกสาร 5. เครื่องพิมพ์ 6. เครื่องเรือนเหล็ก 7. ซองบรรจุภัณฑ์ 8. ตลับหมึก 9. แบตเตอรี่ปฐมภูมิ 10. ปากกาไวต์บอร์ด 11. ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด 12. แฟ้มเอกสาร 13. สีทาอาคาร 14. ฟลูออเรสเซนต์ และบริการ 3 ประเภท ประกอบด้วย 1. บริการทำความสะอาด 2. บริการโรงแรม และ 3. บริการเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร โดยให้ถือปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ซึ่งในปี 2554 หน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการให้มีสินค้าเหล่านี้เกินร้อยละ 60 ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้าน นายเชาวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า SCG ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรด้วยการทำตลาดสีเขียว เพื่อแสดงถึงการใส่ใจของผู้ผลิตในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร่วมเป็นพันธมิตรกับกรุงเทพมหานครในการดำเนิน “โครงการฉลากเขียว” พร้อมจัดการสัมมนาให้กับเจ้าหน้าที่พัสดุของกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)” โดยวิทยากรจาก กรมควบคุมมลพิษ และมอบกล่อง “รักษ์โลก” จำนวน 10,000 ใบ ให้กับหน่วยงานที่เข้าร่วมสัมมนาด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ