มิวเซียมสยาม สานฝันเด็กไทยสู่ “การ์ตูนนิสต์” รุ่นใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2010 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--มิวเซียมสยาม มิวเซียมสยาม เปิดตำนานประวัติศาสตร์การ์ตูนไทย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงการ์ตูนนิสต์ชื่อดังร่วมสานฝันเด็กไทยสู่อาชีพนักเขียนการ์ตูนมิวเซียมสยาม จัดกิจกรรม พิพิธพาเพลิน ตอน “การ์ตูนไทย” นำเสนอองค์ความรู้ในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดผ่านลายเส้นของการ์ตูนไทยในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ และแอนนิเมชั่น ผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนานภายใต้แนวคิด Discovery Museum นายราเมศ พรหมเย็น ผอ.สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเปิดเผยว่า กิจกรรมพิพิธพาเพลินตอนการ์ตูนไทย จัดขึ้นเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ในเรื่องของการ์ตูนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านนิทรรศการขนาดย่อมชื่อว่า “ประวัติการ์ตูนไทย” และภายในงานจัดให้มีกิจกรรมสอนการวาดภาพจากการ์ตูนนิสต์ชื่อดังอาทิ คุณเซีย ไทยรัฐ, คุณสิทธิพร กุลวโรตตมะ, คุณอิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ และคุณผดุง บุญสิริ รวมไปถึงการฉายภาพยนตร์การ์ตูนไทย เพื่อเรียนรู้เรื่องราวและวิวัฒนาการของของการ์ตูนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการสร้างสรรค์การ์ตูนแบบต่างๆ จุดประกายความสนใจและสร้างทักษะให้กับเยาวชนไทยที่มีความต้องการจะเป็นนักเขียนการ์ตูนในอนาคต โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การ์ตูนไทย” ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการ์ตูนไทย และสานฝันให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจจะก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก เปิดเผยว่าการ์ตูนเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้ โดยเฉพาะการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก “มีงานวิจัยระบุว่าการ์ตูนสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเด็กได้ โดยถ้าเด็กได้อ่านการ์ตูนที่ดีมีภาพที่สวยงาม และมีแม่คอยเล่านิทานให้ฟัง เด็กจะมีพัฒนาการดีกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่านการ์ตูนเลย ดังนั้นการ์ตูนจึงช่วยสร้างหรือพัฒนาสมองให้เด็กไทยได้ รวมพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์ได้ ทำอย่างไรที่จะให้สังคมเห็นความสำคัญกับการ์ตูนไทย เราอยากจะเห็นพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทยเกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ และเป็นเวทีให้เด็กไทยได้ฝึกฝนและพัฒนาฝีมือเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นการ์ตูนนิสต์รุ่นใหม่ๆ รองรับการการขยายตัวของอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยที่จะเติบโตขึ้น” คุณสุดใจกล่าว นายวรัชญ์ วานิชวัฒนากุล ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่กล่าวว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยจะขยายตัวและมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้นักเขียนหน้าใหม่มีโอกาสในการที่จะนำเสนอผลงานมากขึ้น รวมไปถึงผู้อ่านก็มีทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้นเช่นกัน “ปัจจุบันการ์ตูนไม่ได้เป็นหนังสือเฉพาะเด็กๆ เท่านั้น แต่หนังสือการ์ตูนเป็นเหมือนภาพยนตร์มีการแบ่งกลุ่มออกผู้ชมทุกเพศทุกวัย ทำให้มีความกว้างขวางมากขึ้นกว่าในอดีต ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการ์ตูนของโลกยังมีชนิดของการ์ตูนแยกย่อยออกไปกว่า 300 ชนิดตามความต้องการของผู้อ่าน ซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักเขียนรุ่นใหม่ได้ค้นหาตัวเองว่ามีความถนัดในการเขียนการ์ตูนแบบไหน แต่สิ่งสำคัญก็คือนักเขียนรุ่นใหม่จะต้องไม่ยึดติดกับในแนวคิดและรูปแบบของตนเอง ต้องเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาปรับปรุงผลงานของตัวเองให้ตรงกับตามความต้องการของตลาดด้วย” คุณวรัชญ์ระบุ นายภุชฌงค์ คล่องวาณิชกิจ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังกล่าวว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูนนั้นไม่ได้เป็นอาชีพที่ไส้แห้งแล้วในปัจจุบัน มีผลตอบแทนที่ดีไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนเพิ่มมากขึ้นทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว “นักเขียนการ์ตูนที่ดีจะต้องมีวินัย เป็นคนช่างสังเกต จดจำ และเก็บข้อมูล เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลงานในอนาคต และต้องสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี การที่จะก้าวขึ้นเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพได้นั้น นอกจากจะต้องพยายามหมั่นฝึกฝนการเขียนการ์ตูนทุกวันเพื่อให้เกิดความชำนาญและมีลายเส้นที่เฉียบคมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือแก่นของเรื่องหรือแก่นของความคิด รวมไปถึงเทคนิคในการนำเสนอและนำเสนอ เพราะการ์ตูนที่ดีไม่ได้ดูที่ความสวยงามเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่การนำเสนอที่จะดึงดูดความสนใจและถ่ายทอดสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อไปยังผู้อ่านได้ ซึ่งปัจจุบันนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ยังขาดทักษะในเรื่องนี้” คุณภุชณงค์ระบุ นิทรรศการขนาดย่อมชื่อว่า “ประวัติการ์ตูนไทย” มีกำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม ถึง24 กันยายน 2553 ณ ห้องคลังความรู้ อาคารสำนักงาน มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 414 หรือที่เว็ปไซต์http://www.ndmi.or.th/museums/activities สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 08-1819-8197 เหมวดี พลรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ