ตั้งเป้าอุตสาหกรรมไทย เซียนฐานข้อมูล LCI ในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 1, 2010 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ที่กลายเป็นกระแสสาธารณะไปทั่วทั้งโลก โดยมุ่งประเด็นไปที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่รุนแรงมากขึ้น จึงทำให้รัฐบาลแทบทุกประเทศหันมาเริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อหยุดการร้อนขึ้นของโลก และเร่งวางมาตรการเพื่อลดผลกระทบอย่างจริงจัง กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ที่ดูแลด้านการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานการค้าโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อผลกระทบดังกล่าว จึงลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำมาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า โดยได้สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งทำงานร่วมกับพันธมิตร 4 องค์กรหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดทำ “ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ” (National Life Cycle Inventory Database; LCI Database) ที่เป็นวัตถุดิบต้นทางและพลังงานพื้นฐานในอุตสาหกรรมหลักหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร ภาคพลังงานและการขนส่ง เป็นต้น โดยการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการผลิตวัตถุดิบ สินค้า หรือบริการหนึ่งๆ ครอบคลุมสารขาเข้า (input) อาทิ วัตถุดิบ ระบบสนับสนุน (utility) การขนส่ง เป็นต้น และสารขาออก (output) อาทิ ผลิตภัณฑ์ มลสารที่ออกมาจากกรบวนการผลิต (emission) เป็นต้น การดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจาก สถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทาง นักวิชาการ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้ได้ฐานข้อมูล LCI พื้นฐานกว่า 300 ฐานข้อมูล (และที่ดำเนินการอยู่ในปี 53 อีกกว่า 65 ฐานข้อมูล) เก็บในระบบจัดการฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับระบบจัดการฐานข้อมูล LCI ของนานาชาติ ฐานข้อมูล LCI ที่จัดทำขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย อาทิ การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment; LCA) และเทคนิคการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint; CF) เป็นต้น ซึ่งทั้ง LCA และ CF เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน ที่ใช้ในการตอบโจทย์มาตรการด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากให้ผลการประเมินที่เป็นรูปธรรม ซึ่งหัวใจสำคัญของการใช้ LCA และ CF คือ “ฐานข้อมูล LCI” โดยในการประเมิน LCA และ CF นั้น จำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนเข้ามาเกี่ยวข้อง และมิใช่เพียงแต่ข้อมูลภายในโรงงานของผู้ประกอบการเท่านั้น ในการประเมินยังต้องใช้ข้อมูลตลอด Supply Chain ของการผลิตสินค้าและบริการนั้นๆ อาทิ ผู้ผลิตตู้เย็น อาจต้องใช้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับ เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม แก้ว กระดาษ พลาสติก เชื้อเพลิง ไฟฟ้า น้ำ เป็นต้น ผู้ผลิตสินค้าจึงไม่สามารถจัดหาข้อมูลทั้งหมดได้เอง หรือหากทำได้ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการจัดทำฐานข้อมูล LCI ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถพัฒนาและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยในการรักษาและเพิ่มตลาดส่งออกได้ในอนาคต อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวเป็นผู้นำในตลาดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Market) ในอาเซียนภายใน 10 ปี ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ยังช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของประเทศ โดยให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาทางสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ การจัดทำฐานข้อมูล LCI ยังมีความร่วมมือทางเทคนิคกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นผ่านโครงการ Sustainable Manufacturing for Thailand+ (SMThai+) ภายใต้ Green Partnership Plan และความร่วมมือกับ Joint Research Center (JRC) ของสหภาพยุโรปอีกด้วย กิจกรรมและผลงานข้างต้น ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่อง LCI / LCA มากสุดในภูมิภาคอาเซียน และกำลังริเริ่มบทบาทผู้นำเรื่อง LCI/ LCA/ EcoProduct Development และ Carbon Footprint ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ล่าสุดโครงการฯ ได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ดำเนิน “โครงการการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์” โดยนำฐานข้อมูล LCI ไปประยุกต์ใช้ในการขอรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint; CF) เพื่อเป็นการสร้างกระแสแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ติดบนผลิตภัณฑ์จะเป็นการสื่อสารกับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลมากขึ้นในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ในส่วนของผู้ผลิตเอง ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ควรปรับปรุง ก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนต่ำ อันจะนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมยุคคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy and Society) จากความพยายามของทุกฝ่าย ที่จะผลักดันให้เกิดการใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว 63 ผลิตภัณฑ์ โดยหลายผลิตภัณฑ์นับเป็นผลิตภัณฑ์แรกของโลกที่ได้รับเครื่องหมายคาร์บอนฟุต พริ้นท์ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ผลผลิตเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทย โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของประเทศในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ / ที่ปรึกษาจากต่างชาติในปี 2552 ได้ถึง 16 ล้านบาทโดยประมาณ และยังมีการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่อง LCI / LCA ให้บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 1,500 คน การสร้างเครือข่าย LCA และ EcoDesign ที่เข้มแข็งในประเทศและในภูมิภาค ASEAN ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัด Regional Workshop ด้าน LCI, LCA, EcoDesign, CF เป็นต้น หากทุกผ่ายเริ่มปฏิบัติการเพื่อหยุดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึง ภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค ย่อมส่งผลให้สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นปกติสุขเช่นเดิม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022024371 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ