วว. จับมือภาคเอกชนพัฒนาบุคลากรการผลิตเอทานอลสนองนโยบายรัฐบาล

ข่าวเทคโนโลยี Monday March 12, 2007 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัทฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล หวังส่งเสริมการผลิตในประเทศให้มีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล
นางสาวพิศมัย เจนวณิชปัญจกุล รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าวชี้แจงว่า วว. ได้ร่วมกับบริษัทฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้จัดสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 120,000 ลิตรต่อวัน ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างของประเทศจีน ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล ทั้งนี้เพื่อสร้างความร่วมมือและก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาบุคลากรทางด้านกระบวนการผลิตในโรงงานเอทานอลและเตรียมความพร้อมในการผลิตเอทานอล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงตามนโยบายด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาล ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงในประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
“ ...ปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทต่างๆ เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลมีจำนวน 45 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวมวันละกว่า 11,035,000 ล้านลิตร/วัน ซึ่งการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตจะต้องมีการจัดหาและจัดเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ เพื่อให้เกิดการดำเนินการผลิตที่มีประสิทธิภาพบรรลุตามเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจและป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น จากความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาในโครงการเอทานอลของ วว. เป็นเวลากว่า 20 ปี รวมทั้งมีบุคลากรที่มีความรู้ มีความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรและโรงงานต้นแบบ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จและเป็นรูปธรรม” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าว
ดร.ธีรภัทร ศรีนรคุตร นักวิชาการระดับ 10 ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า วว. จะพัฒนาบุคลากรให้แก่บริษัทฯ ด้านกระบวนการผลิตเอทานอลในรูปแบบของการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หัวข้อที่สำคัญของภาคทฤษฎี อย่างเช่น การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล การเพาะเลี้ยงเชื้อ การหมักแบบเบทซ์และแบบต่อเนื่อง การกลั่นและการใช้ประโยชน์ของเสียจากโรงงานเอทานอล เป็นต้น สำหรับภาคปฏิบัติจะเป็นการทดลองหมักเอทานอลในห้องปฏิบัติการ การวิเคราะห์ตัวอย่างในสายการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ได้สินค้ามีมาตรฐานเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าและผลการวิเคราะห์ยังสามารถนำไปใช้ในการวางแผนปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งการอบรมเทคนิคการสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์ เป็นการลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
นางฉัณทิพย์ จำเดิมเผด็จศึก กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับ วว. ในการพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศร่วมกัน สำหรับโรงงานผลิตเอทานอลขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ประมาณต้นเดือนเมษายน 2550 และจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอลให้กับการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ต่อไป
“ประเทศไทยยังขาดนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่มาก และขาดการสืบทอดวัฒนธรรมด้านนี้...การประกอบธุรกิจเอทานอลไม่ใช่ธุรกิจเสือนอนกิน แต่เป็นพลังงานสะอาดซึ่งจะสามารถช่วยมวลชนและมนุษยชาติได้ อันจะช่วยให้เรามีอากาศบริสุทธิ์หายใจ” นางฉัณทิพย์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านเอทานอล ได้ที่ ายเทคโนโลยีชีวภาพ วว. โทรศัพท์ 0 2 577 9000 ในวันเวลาราชการ WWW. tistr.or.th E-mail: tistr@tistr.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ