อนุกก.คุรุศึกษาฯ ชี้ ต้องแยกใบประกอบวิชาชีพครูประถม มัธยมฯ ห่วงไทยมีศาสตราจารย์ไม่ถึงร้อยละ 1

ข่าวทั่วไป Wednesday September 8, 2010 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--สกศ. เมื่อเร็วๆนี้ คณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น การสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครู ครั้งที่ 5/2553 ณ ห้องประชุมลำพอง 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ อนุกรรมการคุรุศึกษา กล่าวในที่ประชุมว่า กระบวนการผลิต พัฒนาครูและพัฒนาคณาจารย์ในสถาบันผลิตครูมีความซับซ้อนมาก และถ้าดำเนินการคล้ายกับโครงการกาญจนาภิเษกสำหรับคณาจารย์คุรุศาสตร์และศึกษาศาสตร์เพื่อให้ได้ปริญญาเอก คงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันมีการเปิดสอนปริญญาเอกในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มากมาย แต่ไม่มีการวิจัยต่อหลังจากจบปริญญาเอก จึงทำให้มีคณาจารย์ระดับศาสตราจารย์ไม่ถึงร้อยละ 1 และที่น่ากังวลมาก คือ คณาจารย์ ที่จบปริญญาเอกบางคน ยังต้องการการบ่มเพาะความเป็นครู เพื่อเพิ่มจิตวิญญาณของความเป็นครู ซึ่งเป็นจิตสำนึกใหม่ที่จะตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญยิ่งของการเป็นครูที่สอนครู นอกเหนือจากการเป็นคนเก่งและคนดี ด้านนายดิเรก พรสีมา อนุกรรมการคุรุศึกษา ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จะมีใบอนุญาตของครูปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลายจะออกใบอนุญาตแยกเป็นครู ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ส่วนครูประจำการที่อยู่ในระบบจะใช้กระบวนการฝึกอบรมในวิชาที่สอน แต่หลังจากปี พ.ศ. 2557 ครูที่จะต่อใบประกอบวิชาชีพต้องมีการสอบวัดความรู้ว่ายังคงมาตรฐานและทันสมัยอยู่หรือไม่ “ ในส่วนของการขออนุญาตเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิตของคณะคุรุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ที่จะเปิดสอนเวลาเขียนเสนอขออนุญาตทำมาดีมาก และคุรุสภาก็รับรองให้ แต่เวลานำไปปฏิบัติจริงมีการ หลบเลี่ยง ปรับเปลี่ยนไป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ผู้ที่จะขอขึ้นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ นอกจากสอบวิชาครูแล้วต้องสอบเนื้อหาสาระที่จะต้องใช้ในการสอนด้วย ถ้าสอบไม่ผ่านก็ให้ไปประกอบวิชาชีพอื่น ” นายดิเรกกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ