“มารีโน” จับแผ่นอะครีลิค สร้างไอเดียใหม่ ใส่ดีไซน์ ปรับโฉม “อ่างอาบน้ำ” เพิ่มค่า ‘ของเหลือ’ ในโรงงาน

ข่าวทั่วไป Friday September 10, 2010 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--iTAP iTAP เชิญผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าช่วย “ marino” สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากอ่างอาบน้ำแปลงร่างเป็น “เก้าอี้นั่งสไตล์เก๋” สู่ตลาดเฟอร์นิเจอร์เพิ่มช่องธุรกิจ ผู้บริหาร ระบุ “ โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯ ” ช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ตรงจุด แก้ปัญหาวัสดุคงคลังและของเหลือใช้ในโรงงาน นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพิ่มค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เมื่ออ่างอาบน้ำหลากสีเริ่มหมดความนิยมลง แผ่นอะครีลิค (Acrylic) วัตถุดิบหลักในการผลิตมูลค่าหลายล้านบาทของบริษัท มารีโนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องกลายเป็นของเหลือใช้ในโรงงานสร้างความหนักใจให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ หรือแม้แต่จะชั่งกิโลขายก็ได้เพียงไม่กี่บาท กระทั่งบริษัทได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของไทย หรือ iTAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ”เปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯ “ ซึ่งมี ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เข้าไปช่วยเปลี่ยนของเหล่านั้นกลายเป็น “เฟอร์นิเจอร์” ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับบริษัท นายศุภกิจ ลิ่วเฉลิมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มารีโนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เล่าว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 เริ่มแรกผลิตอ่างล้างหน้าหินสังเคราะห์ ต่อมาในปี 2521 ได้ผลิตอ่างอาบน้ำ ฉากกั้นอาบน้ำ บ่อสปา จากุชชี่ ฯลฯ เพื่อให้ครอบคลุมสินค้าเกี่ยวกับห้องน้ำมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปแบบสุญญากาศนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าเครื่องละ 5 ล้านบาท จำนวน 2 เครื่อง กำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 50-60 ชิ้นต่อวันต่อเครื่อง ( ไม่นับรวมอ่างล้างหน้า ) ปัจจุบันอ่างอาบน้ำของบริษัทมีมากถึง 80 แบบ เพื่อให้รูปแบบมีความหลากหลาย และมีความทันสมัยสะดวกสบายเหมาะกับการใช้งาน แต่หลังจากที่วัตถุดิบหลักในการผลิต คือ แผ่นอะครีลิคหลากสี ( ชมพู ,แดง , ฟ้า , ดำ , เขียว , น้ำตาลฯลฯ )ตกยุคไม่ได้รับความนิยมแล้ว กลายเป็นภาระในการจัดเก็บของบริษัท เนื่องจากมีปริมาณหลายร้อยแผ่น บางแผ่นมีขนาดใหญ่ถึง 1 เมตร x 2 เมตร สิ้นเปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ จึงต้องการหาวิธีที่จะกำจัดหรือระบายของเหลือเหล่านี้แทนการเก็บไว้เฉยๆ หรือ ชั่งกิโลขายที่ได้เพียงไม่กี่บาทขณะที่ของเหลือดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันหลายล้านบาท นายศุภกิจ กล่าวว่า “ ได้รู้จักโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯ จากสื่อ และเห็นว่าเป็นโครงการที่มี ดร.สิงห์ อินทรชูโต เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจารย์มีผลงานในการออกแบบสร้างสรรค์ สามารถเปลี่ยนเศษวัสดุ และของเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ จึงอยากขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาของเหลือใช้ในโรงงานว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากจะทิ้งไปก็เสียดาย หรือจะนำไปรีไซเคิลใหม่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก หากนำมาดัดแปลงทำเป็นเฟอร์นิเจอร์จะได้หรือไม่ เพราะตนเองก็ไม่มีความถนัดด้านนี้และไม่มีช่องทางด้านการตลาดรองรับ จึงเป็นที่มาของการเข้ารับการสนับสนุนในโครงการดังกล่าว ” อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการเปลี่ยนของเหลือใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์นั้น เงื่อนไขหลักของผู้ประกอบการรายนี้ คือ ต้องไม่ใช้กระบวนการที่ไปเพิ่มเรื่องของ พลังงาน หรือ ลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม เพียงเปลี่ยนเศษวัสดุที่มีอยู่ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น กรรมการผู้จัดการมารีโน กล่าวว่า ก่อนเริ่มกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางบริษัทฯ จะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการผลิตและการขึ้นรูปแผ่นอะครีลิคแก่คณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการนำไปออกแบบ เพราะงานที่ต้องใช้การปั้มขึ้นรูปจะติดข้อจำกัดทางเทคนิค ทำให้แบบบางอย่างไม่สามารถทำได้ จึงไม่ใช่จะออกแบบอะไรได้ตามจินตนาการของผู้ออกแบบแต่ต้องดูถึงข้อจำกัดดังกล่าวด้วย การดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาใช้ระยะเวลาเพียง 4 เดือน เริ่มตั้งแต่คณะผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาและศึกษากระบวนการขึ้นรูป และวัสดุที่ใช้ จากนั้นทางผู้เชี่ยวชาญได้กลับไปออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้เวลากว่า 1 เดือน จากแบบที่ได้ 4-5 แบบ คัดเลือกมา 2 แบบ ( แบบเก้าอี้ยาว และเก้าอี้สั้น ) นำมาทำต้นแบบด้วยไม้ก่อนใช้เวลานานเกือบ 1 เดือน จากต้นแบบได้มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อย จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำแม่พิมพ์ (Mold)ไฟเบอร์กลาส และ Mold อะครีลิค (สำหรับใช้ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จริง มีการเสริมเหล็กเข้าไปเพื่อให้สามารถทนต่อความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 170 o C) เมื่อนำมาปั๊มขึ้นรูปด้วยเครื่องปั๊มขึ้นรูปสุญญากาศแล้วนำมาตัดขอบและปรับตกแต่งเพิ่มเติม โดยในขึ้นตอนตั้งแต่การทำ Mold จนถึงขึ้นรูป ใช้ระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “เก้าอี้สไตล์เก๋ ” สีสันสดใสจากของเหลือใช้ได้สำเร็จ ล่าสุดยังได้ดีไซน์เก้าอี้ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเหมาะสำหรับการใช้งานให้มากขึ้น กรรมการผู้จัดการมารีโน กล่าวว่า “ เก้าอี้จากอ่างอาบน้ำ” ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทนี้ สามารถรองรับน้ำหนักได้ 3 — 4 คน สามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ปี เนื่องจากใช้วัสดุที่มีคุณภาพ ประกอบกับภายในตัวผลิตภัณฑ์หลังจากขึ้นรูปเสร็จจะนำมาลงไฟเบอร์ และเสริมความแข็งแรงด้วยไม้อีกชั้นหนึ่ง สามารถนำไปวางได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร หรือจัดวางในสวน เฉลียงบ้าน ห้องนั่งเล่น หรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ในร้านกาแฟ เบื้องต้นกำหนดราคาขายไว้ไม่เกิน 4,000 บาท ” การเข้าร่วมในโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองฯ นายศุภกิจ ย้ำว่า “เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่ดี ที่ผู้ประกอบการมองหาเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นหน่วยงานใดนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเห็นผลชัดเจนเช่นนี้ นอกจากจะกำจัดขยะ ซึ่งเป็นของเหลือใช้ในโรงงาน ยังลดวัสดุคงคลังในโรงงานลงได้ และนำเศษหรือของที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้แทนการกำจัดทิ้ง เช่น การเผาอาจสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม แต่นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และยิ่งได้ผู้เชี่ยวชาญอย่างอาจารย์สิงห์มาช่วยสร้างสรรค์การออกแบบแล้ว ยังอาจมองตลาดอื่นๆ ได้กว้างขึ้น เพราะการเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยังเปลี่ยนตลาดใหม่ โดยใช้วัสดุคงคลังที่บริษัทมีอยู่” บริษัท มารีโนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เลขที่ 54 อาคารธนบดี ชั้น 4-7 สุขุมวิท ซ. 1 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทร. 02-655-1011-9 www.marino.co.th สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการiTAP(สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่โทร.0-2564-7000 ต่อ 1300 , 1301 ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ iTAP โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 114-115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ