พาณิชย์ลงใต้ แจงประโยชน์และแนะการปรับตัวการเปิดเสรีสินค้าเกษตร

ข่าวทั่วไป Monday April 30, 2007 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ปชส.จร.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาเผยแพร่ประโยชน์จาการเปิดเสรีสินค้าเกษตรและโอกาสของไทยในการส่งออก และแนวทางในการปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกาภิวัฒน์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการเรื่อง “การค้าสินค้าเกษตร : โอกาสและความท้าทายในตลาดโลก” ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ประโยชน์และเห็นว่าเกษตรกรต้องปรับตัว เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป โดยเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้มักประสบปัญหาราคาตกต่ำจึงควรหาทางแก้ไขอื่นๆ เช่น การใช้พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกปลูกผลไม้นอกฤดูกาล การแปรรูปสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกน้ำมันปาล์มต้องคำนึงถึงคุณภาพน้ำมันปาล์มโดยเฉพาะวัตถุดิบต้นน้ำ หากเกษตรกรเอาใจใส่ตั้งแต่ต้นจะได้ผลผลิตคุณภาพดี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังคงต้องให้ความรู้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น สำหรับยางพาราเกษตรกรควรศึกษาแนวโน้มราคาก่อนลงทุนปลูก
นอกจากนี้ ในการสัมมนากลุ่มย่อย เกษตรกรผู้ปลูกยาง ได้เสนอให้ภาครัฐมีแผนงานในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางแท่ง เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเกษตรกรยังขาดความรู้เกี่ยวกับช่องทางการขายสินค้าไปต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องดังกล่าว ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และประมง ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาน้ำมันแพง จึงขอให้ภาครัฐหาทางชดเชยการขาดทุนของเกษตรกรและให้หาตลาดส่งออกกุ้งใหม่ๆ ด้วย ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ประสบปัญหาเรื่องข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ตรงกัน ทำให้คาดการณ์การผลิตได้ยาก และปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ รวมถึงภาครัฐไม่มีนโยบายในการพัฒนาปาล์มทั้งระบบอย่างชัดเจน
นางสาวชุติมา กล่าวว่า ผู้เข้าสัมมนามีความพอใจและได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้แทนภาคเอกชน รวมทั้งได้เสนอให้มีการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องมาตรการสุขอนามัยพืชที่มีผลต่อการส่งออกหรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ทั้งนี้กรมเจรจาฯ จะนำผลที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ