ผลการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2548

ข่าวทั่วไป Thursday May 12, 2005 14:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 48 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2548 ซึ่งนายธนา ชีรวินิจ เป็นประธานในการประชุม โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร
กทม. กำหนดมาตรการและแนวทางการลดปริมาณขยะมูลฝอย
นายอภิชาติ หาลำเจียก ส.ก.เขตจตุจักร ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การกำจัดมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการดำเนินการในการลดปริมาณมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมาตรการของกรุงเทพมหานครในการจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก และสถานพยาบาลอื่นในเขตกรุงเทพมหานครให้ได้ครบถ้วนและปลอดภัย
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ต้องการลดปริมาณขยะ และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะหรือรีไซเคิล โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการเรียกประชุมพนักงานเก็บขนขยะ การมอบนโยบายผ่านทางสำนักรักษาความสะอาดและสำนักงานเขตในเรื่องของการเก็บขนมูลมูลฝอยตามพื้นที่ ตรอก ซอกซอย ตลาดสด และสถานที่ที่มีการค้าขายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าเทศกาลที่จะมีปัญหาเรื่องขยะมากเป็นพิเศษ เช่น ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมามีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นมาก ตนได้มอบหมายให้นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดูแล ซึ่งนอกจากจะให้เพิ่มความถี่ในการจัดเก็บแล้ว ก็ได้มอบหมายให้แต่ละสำนักงานเขตไปสำรวจและปรับวิธีการจัดเก็บขยะให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เขต รวมทั้งการประสานกับประชาชนหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในแต่ละพื้นที่เพื่อร่วมกันในการแก้ปัญหานี้ด้วย
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 9,400 ตัน ซึ่งตามสถิติพบว่าปริมาณขยะในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้วถึง 11 % และในเดือนมีนาคมของปีที่แล้วเปรียบเทียบกับปีนี้ลดลงถึง 13% โดยหากสามารถบริหารจัดการการเก็บขนขยะให้อยู่ในระดับนี้ได้ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึงปีละ 600 ล้านบาท สำหรับในช่วงฤดูฝนนี้ตนได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขต และสถานีเก็บขนขยะทั้ง 3 แห่ง ทำการบีบอัดขยะเพื่อให้น้ำขยะออกให้หมดก่อน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการกำจัดน้ำขยะได้ถึง 500 บาทต่อตัน สำหรับหลักของการดำเนินการเพื่อลดปริมาณขยะก็คือการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการลดปริมาณขยะ มีการหารือร่วมกับหน่วยงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดปริมาณขยะ การจัดตั้งศูนย์ลดปริมาณลดขยะชุมชนโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลขยะครบวงจร และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับเรื่องการบริหารจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อนั้น ในขณะนี้มีขยะติดเชื้ออยู่ประมาณ 19 ตันต่อวัน โดยคำนวณจากจำนวนเตียงในสถานพยาบาลต่างๆ โดยกทม. สามารถจัดเก็บได้ 16.4 ตันต่อวัน ที่เหลือเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครกำลังห่วงใย และหาวิธีการที่จะควบคุมและจัดเก็บให้ได้ทั่วถึง ซึ่งกทม. ได้ว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคมเป็นผู้ดำเนินการในการเก็บขนขยะติดเชื้อดังกล่าว
ทั้งนี้พบว่ายังไม่สามารถจัดเก็บได้อย่างครอบคลุมในส่วนขของสถานพยาบาลเอกชน คลินิก และโพลีคลินิก กทม. จึงได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ประกอบการที่จะขออนุญาตจัดตั้งสถานพยาบาลใหม่ต้องมีการขอรับบริการเก็บขนขยะติดเชื้อจาก บ.กรุงเทพธนาคมด้วย เพราะจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บที่ปลอดภัย
โดยมีรถที่ใช้จัดเก็บขยะที่อยู่ในอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส ลักษณะของรถมีการแสดงให้เห็นว่าเป็นรถที่ใช้จัดเก็บขยะติดเชื้อเท่านั้น และมีเครื่องป้องกันให้กับพนักงาน รวมทั้งมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานเกี่ยวกับการแพร่เชื้อและมีการตรวจสุขภาพประจำปีต่อพนักงานทุกคน สำหรับแนวทางการบริหารขยะรีไซเคิลนั้น ตามข้อบังคับของกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของอาคาร สถานที่ และสถานบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2545 มีการกำหนดวัน เวลา สถานที่ทิ้งรวมทั้งการแยกประเภทมูลฝอยด้วย ซึ่งกทม. ออกประกาศให้ทุกสำนักงานเขตกำหนดเวลา สถานที่การจัดเก็บมูลฝอย และให้แต่ละสำนักงานเขตประกาศทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทำการแยกขยะออกเป็น 3 กลุ่ม คือมูลฝอยเศษอาหาร ขยะยังใช้ได้ และขยะอันตราย โดยกำหนดให้วันจันทร์-เสาร์เป็นการเก็บขนขยะทั่วไป และในวันอาทิตย์เป็นขยะที่ใช้ได้ และขยะอันตราย นอกจากนี้กทม. ยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาดูว่ากฎหมายเกี่ยวกับการเก็บขนขยะมูลฝอยที่มีอยู่มีข้อบกพร่องตรงไหน จำเป็นต้องมีกฎหมายเพิ่มเติมหรือไม่ สำหรับขยะมูลฝอยที่มีขนาดใหญ่ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น กรุงเทพมหานครจะดำเนินการในลักษณะของการให้บริการ โดยสำนักงานเขตส่วนใหญ่จะจัดให้มีวันทิ้งของเหลือใช้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งสภาเห็นชอบร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 48
สภากทม. อนุมัติเพิ่มเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนนักผจญเพลิง
นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา เป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ ...) กล่าวว่า ตามที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 พ.ค.48 คณะกรรมการได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยพร้อมตั้งข้อสังเกต คือ ฝ่ายอนามัยและสิ่งแวดล้อมของ 50 สำนักงานเขต เกี่ยวกับเครื่องตรวจวัดสภาพน้ำที่ไม่สามารถใช้ได้ ให้กรุงเทพมหานครจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจัดซื้อเครื่องมือที่มีความทันสมัยและเหมาะสมกับงานที่จะปฏิบัติเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าว พร้อมให้เลขานุการยื่นญัตติส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามต่อไปนักผจญเพลิงกทม. ได้เฮ สภาอนุมัติเพิ่มเงินพิเศษรายเดือนเป็น 5,000 บาท
นายแห้ว แก้วสันตติ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับผู้ปฏิบัติงานกู้ภัย พ.ศ.... รายงานผลการพิจารณา ว่า ด้วยเหตุที่ลักษณะงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกู้ภัย มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากสถานการณ์ดับเพลิง กู้ภัย และบรรเทาสาธารณภัยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยจะต้องเข้าไปดำเนินการในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือสถานประกอบที่มีสารเคมี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานได้ คณะกรรมการฯ เห็นสมควรมีสวัสดิการเป็นเงินช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
นอกจากนี้คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนเพิ่มจากเดิม 3,000 บาท เป็น 5,000 บาท ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องผ่านการประเมินสมรรถภาพเสียก่อน ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีติเห็นชอบให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามและประกาศใช้ต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ