ศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงรายฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Thursday September 23, 2010 09:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย ดำเนินโครงการฝึกซ้อมแผนเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี พ.ศ.2553 ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2553 ณ บริเวณตลาดด่านแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงเสริมสร้างทักษะให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นายธีระ เหลียวสุธีร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย เปิดเผยว่าพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ดังนั้น ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงรายจึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตพื้นรับผิดชอบ ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนฝึกซ้อมแผนเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี พ.ศ. 2553 โดยกำหนดฝึกซ้อมแผนในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX ) เพื่อแบ่งมอบภารกิจ และซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหว และฝึกซ้อมแผนฏิบัติการจริง(Field Training Exercire : FTX) ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2553 เวลา 08.00 น. ณ บริเวณตลาดด่านแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ (ความรุนแรงระดับ 3) ส่งผลให้บ้านเรือน สิ่งสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จึงต้องระดมกำลังจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ฯ เข้าเผชิญเหตุ ช่วยเหลือ และอพยพผู้ประสบภัย ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนฯดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงเสริมสร้างทักษะให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานความปลอดภัยของภาครัฐให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ