ไทยศิลาดล มุ่งผลิตเซรามิกชั้นนำของโลก พัฒนาสูตร‘เคลือบศิลาดล’จากไม้ลำไย ทางเลือกใหม่ให้ตลาดฯ

ข่าวทั่วไป Friday April 8, 2005 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สวทช.
สวทช. หนุน ไทยศิลาดล พัฒนาสูตรเคลือบศิลาดล เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ตลาด จากขี้เถ้าไม้ลำไย และไม้ลิ้นจี่ของเหลือทิ้งจากเชื้อเพลิงโรงงาน กลับมาสร้างประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบธรรมชาติในอนาคตให้กับอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ที่สำคัญ ยังช่วยประหยัดพลังงานลงได้ถึง 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานในการเผาทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าสู่ “ผู้ผลิตเซรามิกซิราดลชั้นนำของโลก”
เครื่องปั้นดินเผา หรือ เครื่องเคลือบสังคโลก ” ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของคนภาคเหนือเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและหัตถกรรมซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ และหากเอ่ยถึง “ศิลาดล” ผู้ที่ชื่นชมศิลปะแขนงนี้ย่อมต้องนึกถึง เครื่องปั้นดินเผาที่มีสีเขียวเหมือนหยก วาวใส และมีรอยแตกลายงาบนตัวเคลือบ อันเป็นลักษณะเด่นของ “ศิลาดล” ที่ไม่เหมือนเครื่องปั้นดินเผาทั่วไป ที่สำคัญ ยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นมีเพียงที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ทั้งในแง่ของวัตถุดิบที่ใช้ และภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เชื่อกันว่าเป็นการเคลือบที่เก่าแก่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่งที่คนไทยค้นพบโดยบังเอิญและมีการทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
“ศิลาดล” เป็นคำสันสกฤต แปลว่า การเคลือบที่มาจากหิน เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ความร้อนสูง เคลือบด้วยวัสดุธรรมชาติขี้เถ้าจากไม้เนื้อแข็ง ผสมดินหน้านา ทำให้เคลือบเป็นสีเขียวเหมือนหยก เป็นการเคลือบธรรมชาติล้วนๆ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เจือปน โดยสีเขียวที่เกิดขึ้นทำได้โดยการเอาไม้รกฟ้า หรือ ไม้มะก่อตาหมู (ไม้ก่อ) ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง มาเผาเอาขี้เถ้า แล้วนำมาผสมกับดินหน้านาเป็นน้ำเคลือบจากนั้นนำไปเผาด้วยความร้อนสูง ที่ระดับ 1260-1280 องศาเซลเซียส แล้วทิ้งให้เย็นตัวจะเกิดเป็นสีเขียว ส่วนรอยจราน หรือ แตกลายงาบนตัวเคลือบนั้น เกิดจากการหดตัวของเนื้อดินกับน้ำเคลือบเมื่อเย็นตัวลง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของศิลาดล ทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น กลายเป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างมาก โดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศ
สำหรับศิลาดลของเชียงใหม่ยุคปัจจุบัน ได้กำเนิดขึ้นมาเมื่อกว่า 90 ปีมาแล้ว โดยชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ (บริเวณธนาคารกรุงเทพ สาขาช้างเผือก และโรงแรมช้างเผือก ถ.โชตนา ในปัจจุบัน ) ชาวไทยใหญ่เหล่านี้ได้ตั้งบ้านเรือนและทำเตาเผาเครื่องเคลือบดินเผาศิลาดล เป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือกิจการในครอบครัว ต่อมาบุคคลผู้สื่บสานและบุกเบิกการทำเครื่องปั้นดินเผาศิลาดลในเชิงการค้าเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาคือ “ลุงแดง” หรือ “คุณบุณยืน วุฒิสรรพ์” โดยใช้ชื่อว่า “โรงงานเชียงใหม่สังคโลก”
ต่อมาในปี 2503 ดร.รักษ ปันยารชุน และ Mrs.Maxine North นักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้เข้ามาซื้อกิจการและพื้นที่โรงงานจากลุงแดง และได้ก่อตั้งเป็น บริษัท ไทยศิลาดล จำกัด ซึ่งได้มีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและมีความเป็นสากลมากขึ้น จนได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ กระทั้งในปีพ.ศ. 2529 ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของกิจการมาเป็น คุณธงไชย ดาวเรือง และคุณวีระพงษ์ โพธิภักติ จนถึงปัจจุบัน
จากการที่ บริษัท ไทยศิลาดล จำกัด เป็นบริษัทเก่าแก่ประกอบกิจการมาเป็นเวลานานกว่า 44 ปี อีกทั้งวิธีการผลิตต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการสอนและสืบทอดต่อๆ กันมาจากคนรุ่นเก่าที่ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการคิดค้นทดลองเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทักษะฝีมือแรงงานเป็นหลัก แต่จากการผลิตในปัจจุบันพบปัญหาในขั้นตอนการผลิตอยู่เสมอ และทำการแก้ไขเฉพาะเรื่อง โดยขาดหลักวิชาการสนับสนุน อีกทั้งไม่ได้มีการนำระบบทางวิทยาศาสตร์ของการผลิตเซรามิกมาใช้ในการแก้ไขปัญหา การควบคุมและตรวจสอบกระบวนการผลิต วัตถุดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ จึงทำให้มักพบปัญหาในการผลิตอยู่เสมอ ซึ่งบางปัญหาสามารถแก้ไขได้ แต่ก็แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อีกประเด็นหนึ่งคือ เคลือบศิลาดลเป็นการเคลือบโบราณที่มีสูตรเฉพาะ วัสดุที่จำเป็นส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนประกอบหลักที่ทำให้เกิดสีเขียวของความเป็นศิลาดล คือ ขี้เถ้าที่ได้จากไม้รกฟ้าและไม้มะก่อตาหมู(ไม้ก่อ)นั้น ในอนาคตอาจจะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ยาก และไม่มีเพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาสูตรเคลือบศิลาดลที่ใช้วัตถุดิบอื่นๆ ไว้รองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความสวยงามของเคลือบศิลาดลแบบเดิม
นายสรพล ธูปะคุปต์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทยศิลาดล จำกัด เปิดเผยถึงข้อจำกัดว่า “ข้อจำกัดของการเผาศิลาดลแบบโบราณ คือ การเผาในอุณหภูมิและระบบเฉพาะเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของไม้ที่นำมาทำเป็นขี้เถ้าใช้ในการเคลือบเพื่อให้เกิดสีเขียวและความมันใส ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการเคลือบศิลาดลที่นับวันใกล้จะหมดไป จนปัจจุบันต้องรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านในรูปของขี้เถ้า ซึ่งบางครั้งมีการปลอมปนของขี้เถ้า จึงเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และเพื่อเป็นการรองรับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากธรรมชาติในอนาคต จึงได้เร่งพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพการผลิต และการพัฒนาปรับปรุงสูตรดินและสูตรเคลือบ จากแหล่งวัตถุดิบใหม่และวัตถุดิบทดแทน ”
บริษัทฯ ได้เข้ารับการช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำความรู้ในการจัดระบบการควบคุมคุณภาพและการปรับปรุงส่วนผสมเคลือบศิลาดล เพื่อลดการใช้พลังงาน (แก๊ส LPG) จากการเผา และลดการสูญเสียจากการผลิตโดยการหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม จัดตั้งระบบควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึง ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยดร.ศักดิพล เทียนเสม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ หลังจากที่บริษัท หยุดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิตมานานพอสมควร และจากที่เห็นว่า วัตถุดิบตามธรรมชาติอาจร่อยหลอลง บริษัทฯ จึงได้นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาหาสูตรเคมีเพื่อใช้เป็นแผนสำรองในยามที่วัตถุดิบหลักในธรรมชาติหาไม่ได้แล้ว ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการเคลือบที่ถึงแม้เอกลักษณ์จะไม่เหมือนสักทีเดียว แต่ยังคงมีความใกล้เคียงกับการเคลือบศิลาดลมากที่สุด คือ ต้องคงความเป็นสีเขียว มีความมันใส และแตกลายงา จึงควรหาระบบอะไรเข้ามารองรับในการที่เราจะรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพราะหากฐานยังไม่แน่นพอ อาจเกิดปัญหาจุกจิกต่างๆ ในกระบวนการผลิตได้ ” นายสรพล กล่าว
ในเรื่องการพัฒนาส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องของการปรับวิธีการทำงานของคน โดยการใช้หลักจิตวิทยา ปรับเปลี่อนเทคนิควิธีการผลิต พร้อมกับการจัดระบบควบคุมคุณภาพ ให้เป็นมาตรฐานในการทำงานแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อให้สามารถฝึกคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมหรือทดแทนคนรุ่นเก่าได้ โดยอาศัยหลักวิชาการมากกว่าจากเดิมที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เน้นทักษะของคนเป็นหลัก กรณีบุคลากรเหล่านี้ร่อยหลอลง หรืออาจไม่มีผู้สานต่อ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทได้ นอกจากนี้ ได้พัฒนาสูตรน้ำดิน เพื่อให้ชิ้นงานที่ออกมามีคุณภาพสม่ำเสมอทุกครั้ง แก้ปัญหาที่แฝงและสะสมมาในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และยังเพิ่มกำลังการผลิตดินขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิมที่เคยทำได้ โดยไม่ต้องเพิ่มเครื่องจักร
ในส่วนของการปรับปรุงส่วนผสมเคลือบศิลาดลนั้น ดร.ศักดิพล กล่าวว่า ขณะนี้ได้สูตรผสมใหม่แล้วเกือบ 100% ซึ่งนอกจากปรับปรุงส่วนผสมเคลือบแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนระบบการเผาใหม่จากเดิมที่เป็นการเผาแบบมีควัน มาเป็นการเผาแบบสมบูรณ์ (ไม่มีควัน) เรียกว่า “สูตรปฏิวัติ”ซึ่งการเผาไหม้แบบนี้จะสามารถประหยัดเชื้อเพลิงลงได้ และอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาต่ำกว่าเดิม จากความร้อนสูงที่ระดับ 1280 องศาเซลเซียส เหลือเพียง 1200 องศาเซลเซียส ช่วยลดปริมาณการใช้แก๊สลงได้ถึง 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในการเผา
สำหรับเคลือบศิลาดลสูตรใหม่นั้น ดร.ศักดิพล ได้คิดค้นขึ้น 2 สูตรด้วยกัน สูตรแรกจะมีส่วนประกอบของเคมีผสมอยู่ไม่ถึง 1 % แต่ส่วนประกอบพื้นฐานหลักยังคงเป็นแร่ธาตุทางธรรมชาติ ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้วจากกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสูตรดังกล่าวแม้จะไม่ได้มาจากธรรมชาติทั้งหมด แต่ใช้เป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่งให้กับตลาดและมีราคาถูกกว่า สูตรที่สอง จะเป็นการนำขี้เถ้าจากไม้ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีปริมาณที่มากพอ เช่น ไม้ลิ้นจี่ และ ไม้ลำไย ซึ่งผลทดสอบเบื้องต้น พบว่ามีความใกล้เคียงกับศิลาดลแบบดั้งเดิมที่สุดเกือบ 100% สูตรนี้จะเป็นการนำเสนอความเป็นธรรมชาติทดแทนสูตรดั้งเดิมได้ ที่สำคัญยังเป็นการนำของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมหนึ่งที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง มาใช้ประโยชน์ทดแทนขี้เถ้าชนิดเดิม โดยยังคงมีคุณลักษณะเหมือนกับเคลือบศิลาดลแบบดั้งเดิม และยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นตัวอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานจากวิทยาศาสตร์สู่อุตสาหกรรมได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นความกล้าของบริษัท ไทยศิลาดล ที่ฉีกแนวการพัฒนาสูตรเคลือบศิลาดลจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับรองรับการขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคต เชื่อว่า จะสามารถเพิ่มช่องทางด้านการตลาดให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่ง
“ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยศิลาดล ยังคงยืนหยัดมาได้อย่างยาวนาน แม้ปัจจุบันจะมีผู้ผลิตศิลาดลในเชียงใหม่กว่า 20 ราย ส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบและคุณภาพ อีกส่วนคือ การคงความเป็นเอกลักษณ์ของการเคลือบศิลาดลแบบโบราณตลอดมา ซึ่งผู้ผลิตศิลาดลแต่ละรายจะมีสูตรเฉพาะของปริมาณการเคลือบและเทคนิคการเผาที่ไม่เหมือนกัน ตั้งแต่สีเขียวอ่อน ไปจนถึงเขียวมะกอก ปัจจุบัน บริษัทฯ มียอดสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากต่างประเทศจนแทบผลิตไม่ทัน เนื่องจากงานแต่ละชิ้น ต้องการความประณีต และพิถีพิถันในการผลิต ซึ่งต้องใช้ทักษะฝีมือของช่างผู้ชำนาญ ” นายสรพล กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ไทยศิลาดล จำกัด ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตเซรามิกเคลือบศิลาดลชั้นนำของโลก ที่ได้รับความนิยมและการยอมรับมากที่สุดในด้านคุณภาพ รูปแบบ และความสวยงามของเคลือบศิลาดลที่ไม่เหมือนที่ใด ทำให้บริษักำหนดภารกิจในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด แต่ยังคงไว้ซึ่งความสวยงามของเอกลักษณ์ไทย และความสวยงามของเคลือบศิลาดลแบบไทย พร้อมทั้งมุ่งทำสาธารณะประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเชียงใหม่
ด้าน นางสมศรี พุทธานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP) สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ กล่าวเสริมว่า เซรามิกศิลาดล ถือเป็นสินค้าสำคัญ และขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งบริษัท ไทยศิลาดล จำกัด ยังถือเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนตามนโยบายของรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคุณค่า และควรรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นศิลาดลไว้ให้คงอยู่สืบต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งย่อมต้องมีวันหมดไป หากสามารถหาวัตถุดิบชนิดอื่นที่ใกล้เคียงมาใช้ในการผลิตและยังคงคุณลักษณะและมีคุณภาพเหมือนกับเคลือบศิลาดลแบบดั้งเดิม ก็จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับตลาดได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ เข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ ITAP สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือ ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/itap
สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพประกอบเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
คุณนก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการITAP 0-2619-6187-8--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ