นโยบายรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ข่าวการเมือง Monday December 9, 1996 08:58 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

          คำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา  วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2539
ท่านประธานรัฐสภา และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่เคารพ ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายหลักของการบริหารราชการแผ่นดินที่จะเทิดทูนและยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะสถาปนาความเชื่อมั่นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สรรค์สร้างความสมัครสมานสามัคคีและนำมาซึ่งการอยู่ดีกินดีของประชาชน จะเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด จะเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งให้มีการกระจายประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม จะผลักดันให้มีการปรับทัศนคติ และระบบการทำงานของภาครัฐจากการปกครองประชาชน มาเป็นการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และปรับระบบการทำงานของภาครัฐจากที่เป็นผู้คิดเองทำเองมาเป็นระบบที่ร่วมคิดร่วมทำกับภาคเอกชนและประชาชน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันจะส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนในชาติมีวินัยอย่างจริงจัง รวมทั้งจะเร่งรัดกระจายเงิน กระจายงาน และกระจายคนให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นตอน กล่าวโดยรวมแล้ว รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการบริการที่ดี มีการศึกษาที่ได้มาตรฐาน มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี
คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินไว้ 11 ด้าน โดยมีรายละเอียดของนโยบายดังต่อไปนี้
1. นโยบายด้านการเมือง
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะดำเนินการ
1.1 เร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยสนับสนุนให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน องค์การเอกชน และสื่อสารมวลชน มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
1.3 เร่งรัดผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีศาลปกครองขึ้นเป็นเอกเทศจากระบบศาลยุติธรรม โดยสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
1.4 ส่งเสริมและสนับสนุน รัฐสภาและพรรคการเมือง ให้เป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน
2. นโยบายด้านการบริหาร
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต เพื่อเผชิญกับยุคโลกาภิวัฒน์ โดยจะดำเนินการ
2.1 นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
2.1.1 ปรับลดบทบาทของรัฐจากที่เป็นผู้ดำเนินการ มาเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ กำกับดูแล รักษากติกา วางแผน และประสานงาน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุน และดำเนินการแทนในกิจการที่รัฐไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเอง
2.1.2 ปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสนองตอบต่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
2.1.3 ปรับปรุงกลไก และวิธีการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้การจัดสรรงบประมาณตอบสนองต่อนโยบายและเป้าหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2.1.4 ผลักดันให้มีการปรับทัศนคติ และระบบการทำงานของภาครัฐจากการปกครองประชาชน มาเป็นการให้บริการทีดีแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการบริการของรัฐให้เป็นที่พอใจของประชาชน
2.1.5 ส่งเสริม และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐนำอุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ และในการให้บริการประชาชน จัดทำระบบฐานข้อมูลทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ
2.1.6 พัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงขึ้น และให้ได้รับเงินเดือน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ สัมพันธ์กับคุณภาพของงานและสอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมอย่างสมฐานะ มีเกียรติ และศักดิ์ศรี
2.2 นโยบายด้านการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น
2.2.1 ปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน เร่งรัดกระจายภารกิจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น และถ่ายเทบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นตามความเหมาะสม
2.2.2 เร่งรัดการกระจายรายได้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น อย่างเป็นขั้นตอนและเพียงพอที่จะบริหารกิจการตามอำนาจหน้าที่ ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว
2.3 นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.3.1 ให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของรัฐและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.3.2 ให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ในปัญหาสำคัญของชาติ
2.3.3 ให้ประชาชน และสื่อมวลชน สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้มากยิ่งขึ้น
2.4 นโยบายด้านการอำนวยความยุติธรรม
2.4.1 ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลโดยการจัดตั้งระบบงานระงับข้อพิพาท และข้อขัดแย้งในสังคม โดยการไกล่เกลี่ย หรือประนอมข้อพิพาท และโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ
2.4.2 ให้บริการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน และสนับสนุนบทบาทของทนายความ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.4.3 พัฒนาบุคลากร และกระบวนการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทั่วถึง เพื่อรองรับสิทธิของบุคคลในการร้องทุกข์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
2.5 นโยบายด้านการปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ปรับปรุงระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างมีเสถียรภาพ ลดช่องว่าง และขจัดความยากจนในประเทศให้ลดน้อยลง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ โดยจะดำเนินการ
3.1 นโยบายด้านการเงินการคลัง
รัฐบาลจะรักษาระเบียบวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และจะดำเนินนโยบายการเงินการคลังให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ตลอดจนพัฒนาตลาดการเงิน และตลาดทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคนี้ โดยจะดำเนินการ
3.1.1 ส่งเสริมให้มีการลงทุนในระบบเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต และแหล่งงานของประเทศ
3.1.2 ระดมเงินออมภายในประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน ด้วยมาตรการจูงใจและมาตรการเร่งรัดเพื่อลดช่องว่าง ระหว่างเงินออมและเงินลงทุนให้ต่ำลง และลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ
3.1.3 รักษาเสถียรภาพของระดับราคาผู้บริโภค และควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ให้อยู่ในระดับที่ไม่กดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
3.1.4 แก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีระดับต่ำลง ด้วยมาตรการทั้งในด้านการเพิ่มแหล่งรายได้ และเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
3.1.5 เร่งรัดฟื้นฟูแก้ไขภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ด้อยประสิทธิภาพการแข่งขัน การเกษตรที่มีผลผลิตต่ำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงินโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งจะดูแลรักษาสภาพคล่องทางการเงินภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ
3.1.6 เปิดเสรี และผ่อนคลายข้อจำกัดทางการเงินอย่างเป็นขั้นตอน และในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งในด้านธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทประกัน และประกันชีวิต และสถาบันการเงินอื่นๆ
3.1.7 สนับสนุนให้สถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ กระจายรายได้ กระจายแหล่งงาน และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และท้องถิ่น
3.1.8 พัฒนาตลาดการเงิน ตลาดทุน และตลาดเงินตราต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และเป็นสากลภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม
3.2 นโยบายการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ
รัฐบาลจะดำเนินการให้ราคาและคุณภาพสินค้าอุปโภคบริโภค มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มพูนศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขัน โดยจะดำเนินการ
3.2.1 แก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงและคุณภาพต่ำ ด้วยการเปิดเสรีและส่งเสริมการแข่งขันในระบบตลาดภายใน เร่งมาตการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและสินค้าจำเป็น ตลอดจนคุ้มครองดูแลผู้อุปโภคบริโภคให้ได้รับประโยชน์จากการแข่งขัน
3.2.2 รักษาระดับราคาพืชผล ให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตด้วยมาตรการส่งเสริม และสนับสนุนการขายทั้งในและต่างประเทศ และด้วยมาตรการแทรกแซงด้านการตลาด
3.2.3 เสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการแข่งขันกับต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การขนส่ง การตลาด ส่งเสริมภาคบริการที่มีความสำคัญต่อการค้า และการลงทุน ปรับปรุงกฎ ระเบียบทางธุรกิจ ให้เป็นสากลและสะดวกคล่องตัว
3.3 นโยบายด้านอุตสาหกรรม
รัฐบาลจะดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก โดยจะดำเนินการ
3.3.1 ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมส่งออกในชนบท
3.3.2 ฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ได้ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต และสนับสนุนให้มีการลงทุนอย่างเต็มที่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่แข่งขันในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ และในอุตสาหกรรมสนับสนุน
3.3.3 ยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ
3.3.4 ควบคุมมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
3.3.5 สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรม
3.4 นโยบายด้านเกษตรกรรม
รัฐบาลจะดำเนินการพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของเกษตรกร และสร้างโอกาสการมีงานทำ โดยมุ่งปรับโครงสร้างการเกษตรตามแนวทางเกษตรยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำผลิตผลทางการเกษตร มาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยระบบอุตสาหกรรมการเกษตร โดยจะดำเนินการ
3.4.1 ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจตามความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ยกระดับราคาผลผลิตทางการเกษตร ให้เป็นธรรมต่อเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร สนับสนุนข้อมูลข่าวสารการเกษตร และปรับย้ายแรงงานภาคเกษตรให้ไปอยู่ในภาคอื่นตามความเหมาะสม รวมทั้งเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ตลอดจนจัดทำแผนการปรับตัวภาคเกษตรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินค้าเกษตรในอนาคต
3.4.2 เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจน และไม่มีที่ดินทำกินเพียงพอตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
3.4.3 จัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ให้มีเพียงพอและทั่วถึง และจัดทำแผนแม่บทการชลประทานเพื่อวางแผนการจัดหาน้ำให้แก่เกษตรกรในระยะยาว
3.4.4 แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งในระบบ และนอกระบบ ด้วยการจัดสรรเงินสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนหนี้ ให้เข้าสู่ระบบ ตลอดจนสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน และขยายเวลาการชำระหนี้ให้เหมาะสม
3.4.5 สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรมีการบริหาร และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเป็นองค์กรสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม
3.4.6 ฟื้นฟูทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทย ส่งเสริมและพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทย และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง และสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องมือประมงเพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชายฝั่ง
3.4.7 ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงและบำรุงพันธุ์ปศุสัตว์ ให้มีคุณภาพและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งป้องกันและแกไขโรคสัตว์ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อการบริโภค และการส่งออกอย่างครบวงจร
3.5 นโยบายด้านการขนส่งและการสื่อสาร
รัฐบาลจะดำเนินการกระจายเครือข่ายการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และการสื่อสารให้ทั่วถึง โดยจะดำเนินการ
3.5.1 การขนส่งทางบก
3.5.1.1 พัฒนา ปรับปรุง และขยายเครือข่ายทางหลวง และเส้นทางการขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดต่างๆ และระหว่างจังหวัดในทุกภาคของประเทศ โดยเร่งรัดให้มีการก่อสร้างขยายถนนทั้งในแนวราบและแนวยกระดับ ระหว่างภาค และระหว่างจังหวัดที่มีการจราจรหนาแน่น
3.5.1.2 ปรับปรุงเส้นทางรถไฟสายหลักให้เป็นทางคู่ขนาน และให้มีการนำรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในเส้นทางที่เหมาะสม
3.5.1.3 เร่งรัดการจัดสร้างเครือข่ายการขนส่งทางรถยนต์ และรถไฟ กับประเทศเพื่อนบ้าน
3.5.2 การขนส่งทางน้ำ
3.5.2.1 เร่งรัดให้มีการใช้ท่าเรือน้ำลึก ในเขตพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเต็มที่ และเร่งรัดการก่อสร้างและการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม ตลอดจนประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมลงทุนสร้างและใช้ท่าเรือน้ำลึก
3.5.2.2 ส่งเสริม และจัดระบบการจราจร และการขนส่งทางน้ำ
3.5.2.3 ส่งเสิรมการพาณิชย์นาวีอย่างจริงจัง ฟื้นฟูระบบการขนส่งชายฝั่งทะเล และสนับสนุนกิจการอู่เรือ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชย์นาวีให้เพียงพอ และได้มาตรฐานสากล
3.5.3 การขนส่งทางอากาศ
3.5.3.1 เร่งรัดการก่อสร้าง และปรับปรุงสนามบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศให้ทันสมัย ตามความจำเป็นและเหมาะสม
3.5.3.2 ส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งสายการบินเพิ่มขึ้น เร่งรัดการตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ และศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศนานาชาติ ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพ ในการบริหารงานของสายการบินแห่งชาติให้มีคุณภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น
3.5.3.3 เพิ่มขีดความสามารถในการค้นหา และช่วยเหลืออากาศยาน และเรือที่ประสบภัย
3.5.4 การสื่อสาร
3.5.4.1 พัฒนา ปรับปรุง และขยายบริการสื่อสารไปรษณีย์ และโทรคมนาคม ให้สามารถบริการประชาชนได้ทั่วถึงทั้งประเทศ
3.5.4.2 เร่งรัดขยายบริการโทรศัพท์ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ และขยายโทรศัพท์ทางไกลชนบทให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน
3.5.4.3 เร่งรัดให้มีการเปิดเสรี เพื่อการแข่งขันในกิจการสื่อสารโทรคมนาคม บริการโทรศัพท์พื้นฐานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการสื่อสารโทรคมนาคมอื่นๆ
3.5.4.4 เร่งรัดให้มีแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคม และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน
3.6 นโยบายด้านพลังงาน
รัฐบาลจะดำเนินการให้มีพลังงานเพียงพอกับความต้องการ มีระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยจะดำเนินการ
3.6.1 ส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้มีการผลิตเครื่องใช้พลังงานประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานอื่นๆ มาใช้ทดแทน
3.6.2 พัฒนาระบบการขนส่งน้ำมัน และแก๊สทางท่อให้กระจายสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และลดปัญหาจราจร
3.6.3 ส่งเสิรมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงานมากขึ้นบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
3.7 นโยบายด้านการท่องเที่ยว
รัฐบาลจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีค่ายิ่ง โดยจะดำเนินการ
3.7.1 เสริมสร้างค่านิยมให้ประชาชน ท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคตลอดปี
3.7.2 ส่งเสิรมการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวในทิศทางที่ยั่งยืน ให้สามารถรองรับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในระยะยาว
3.7.3 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ปลอดภัย มีความสวยงาม และเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวตลอดไป
3.7.4 ส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทองเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในการขยายโครงการสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และการบริการต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมทองเที่ยวให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ
4. นโยบายด้านต่างประเทศ
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระ และมีเอกภาพ โดยจะดำเนินการ
4.1 เสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคงในเอเชีย และสนับสนุนการสร้างสันติภาพของโลก
4.2 ขจัดปัญหา อุปสรรค และขยายความสัมพันธ์ในทุกด้านกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย
4.3 ดำเนินนโยบายที่ช่วยเสริมสร้างและเกื้อกูลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเจรจาพหุภาคีด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยเน้นการทูตเพื่อขยายผลประโยชน์ของไทย ในการเจรจาแก้ไขปัญหาและกฎระเบียบในด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการส่งออก การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ การสนับสนุนเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
4.4 เพิ่มบทบาทไทยในองค์การระหว่างประเทศทุกระดับ
4.5 ให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ในการแก้ไญหาซึ่งจะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติ
4.6 เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถานทูต เพื่อการบริการประชาชนในต่างประเทศ
4.7 ขยายงานการส่งเสริม และเผยแพร่ประเทศไทย โดยเน้นความเป็นประชาธิปไตย และคุณค่าที่ดีงามของสังคมไทย ด้วยวิถีทางทางการทูตและการประชาสัมพันธ์ ที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์
5. นโยบายด้านการศึกษา
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาและขยายโอกาสให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม เพื่อให้การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นแรงผลักดันทึ่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง โดยจะดำเนินการ
5.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทุกคน ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 12 ปี โดยจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ผู้ยากจน ผู้ด้อยโอกาส และผู้บกพร่องทางร่างกายและปัญญาตามความจำเป็น
5.2 ขยายการจัดการศึกษาชั้นอนุบาล หรือก่อนประถมศึกษาเพื่อให้เด็กกลุ่มอายุ 3 - 5 ขวบ ได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึง
5.3 ขยายการจัดการศึกษานอกระบบทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานได้พัฒนาตนเอง และได้รับการศึกษาพื้นฐานเพิ่มขึ้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา
5.4 ปฏิรูปการอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น โดยให้สถานศึกษาและสถานประกอบการร่วมมือกันจัดการศึกษาอย่างใกล้ชิด ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเน้นการสร้างนิสัยความรับผิดชอบให้สูงขึ้น ตลอดจนพัฒนาวิทยาลัยเกษตรกรรมให้เป็นสถาบันทางการเกษตร และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรได้อย่างเต็มที่
5.5 ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบการจัดการศึกษาอย่างใกล้ชิด
5.6 ส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานผ่านกองทุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ และใช้บัตรการศึกษาสำหรับคนยากจนเพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนได้ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐเพิ่มมากขึ้น
5.7 ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู
5.8 เพิ่มสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการลงทุนและการพัฒนาการศึกษาให้สูงขึ้น
5.9 ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีการจัดการศึกษาที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น
5.10 ขยายโอกาสอุดมศึกษาไปยังภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ ด้วยการจัดตั้งกองทุนเงินกู้ยืมให้ภาคเอกชน เพื่อจัดตั้งหรือขยายสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไปยังภูมิภาค
5.11 สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาให้ผลิตบัณฑิต ให้มีปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นและภูมิภาค และสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ
6. นโยบายด้านสังคม
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีระเบียบวินัย มีจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม มีสุขภาพพลานามัยที่ดี พัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มั่นคง ตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนและเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ โดยจะดำเนินการ
6.1 นโยบายด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและทำนุบำรุงศาสนา
6.1.1 สืบทอดเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และรับวัฒนธรรมต่างชาติมาอย่างเหมาะสม ตลอดจนให้มีศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศที่สำคัญ
6.1.2 ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐท้องถิ่น องค์กรเอกชน ประชาชน และสถาบันการศึกษาในการทำนุบำรุง พัฒนา และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น
6.1.3 ส่งเสริมให้มีสื่อคุณภาพ เพื่อถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยมที่ดีงาม เสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิง และกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติร่วมกัน
6.1.4 ส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ และพัฒนาการบริหารงานด้านศาสนาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้บุคลากรและสถานที่ทางศาสนาในการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
6.1.5 สนับสนุนโครงการสร้างจริยธรรม คุณธรรม และวินัยของคนในชาติ เช่น โครงการลูกเสือ การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร
6.2 นโยบายด้านสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
6.2.1 สนับสนุนบทบาทสตรี ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการบริหารทุกระดับ รวมทั้งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
6.2.2 ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศต่อเด็กและสตรี และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ตลอดจนรณรงค์แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
6.2.3 ส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือ และดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ถูกทอดทิ้งทางสังคมอย่างจริงจัง
6.2.4 เสริมสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือ และการบริการพื้นฐานทางสังคมทุกด้านอย่างเหมาะสม ทั่วถึง และเป็นธรรม
6.2.5 ให้การสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ด้วยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้ และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
6.3 นโยบายด้านการสาธารณสุข
6.3.1 เร่งรัดการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน และคุณภาพทั้งในภาครัฐและเอกชน
6.3.2 สนับสนุนการสร้างระบบประกันสุขภาพ
6.3.3 ส่งเสริมการผลิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารสุข ให้มีคุณภาพและเพียงพอ และให้มีการกระจายบุคลากรอย่างเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทันสมัยและคุ้มค่ามาใช้ในการให้บริการ
6.3.4 เร่งรัดการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม และดูแลรักษาและพัฒนาศักยภาพของผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนให้รู้จักการป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
6.3.5 เร่งรัดขยายงานสาธารณสุขมูลฐานในชนบท โดยสนับสนุนองค์กรประชาชน สถาบันครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุข ให้เข้ามามีบทบาทอย่างเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพตนเอง การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค
6.3.6 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง การดูแลสุขภาพตนเอง การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค
6.3.7 กวดขันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร ยา สินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ
6.3.8 ให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาระบบ รูปแบบ และเทคโนโลยีการให้บริการสาธารณสุข
6.3.9 ให้มีมาตรการการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงในภูมิภาค ที่เข้ามากับกลุ่มแรงงานต่างชาติและประชาชนอื่นๆ
6.3.10 เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของประชาชน ให้อยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัย สร้างหลักประกันสุขภาพและคุ้มครองความปลอดภัยจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเร่งรัดให้มีการกำจัดขยะติดเชื้อและบำบัดน้ำเสียจากสถานบริการสาธารณสุขอย่างจริงจัง ตลอดจนจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในชนบทอย่างทั่วถึง
6.4 นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม
รัฐบาลจะส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำด้วยการพัฒนาฝีมือ มีระบบสวัสดิการและระบบความปลอดภัยในการทำงานที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรลูกจ้างและนายจ้างตลอดจนกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยจะดำเนินการ
6.4.1 พัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน มีวินัย และมีขีดความสามารถสอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ
6.4.2 จูงใจให้คนไทยระดับนักวิชาชีพ ผู้ชำนาญการและผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในต่างประเทศกลับมาทำงานในประเทศ
6.4.3 ปรับปรุงระบบการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ให้มีความเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน
6.4.4 ควบคุมการทำงานของแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวด และเป็นระเบียบ
6.4.5 ส่งเสริมให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ การคุ้มครองแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงานทั้งระบบทวิภาคี และไตรภาคี
ุ6.4.6 ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และพนักงานรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
6.4.7 เร่งดำเนินการทั้งมาตรการป้องกัน และปราบปรามเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และโสเภณีเด็ก
6.4.8 กระจายบริการสวัสดิการสังคมไปยังชนบท โดยสนับสนุนทุนดำเนินการของศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน
6.4.9 เร่งจัดตั้งศูนย์สารสนเทศแรงงานและสวัสิการสังคม
6.5 นโยบายด้านกีฬา
รัฐบาลจะดำเนินการส่งเสริม และพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพอนามัยของคนในชาติ รวมทั้งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ มีศักยภาพทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยจะดำเนินการ
6.5.1 จัดเตรียมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ให้มีความพร้อมในทุกด้าน รวมทั้งพัฒนาสมรรถภาพของนักกีฬาให้มีความพร้อมในการเข้าแข่งขัน
6.5.2 ส่งเสริมให้มีกีฬาขั้นพื้นฐานเพื่อการแข่งขันการอาชีพ และเพื่อสุขภาพ โดยกระจายโอกาสด้านกีฬาไปให้ทั่วทุกภูมิภาค และทุกชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์กีฬาภายในประเทศ ให้มีมาตรฐานและมีราคาถูก
6.5.3 ให้มีการเล่นกีฬาตั้งแต่เยาว์วัย และสนับสนุนบริการพื้นฐานด้านกีฬาให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ
6.5.4 จัดตั้งศูนย์กีฬาระดับนานาชาติ เพื่อเป็นที่ฝึกซ้อมและเก็บตัวนักกีฬา เสริมสร้างขวัญและกำลังใจนักกีฬา ที่นำชื่อเสียงและเกียรติภูมิมาสู่ประเทศ ให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดี รวมทั้งจัดสวัสดิการช่วยเหลือนักกีฬาที่ประสบอุบัติเหตุ
7. นโยบายด้านการพัฒนาชนบทและกระจายรายได้และความเจริญ ไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น
รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชนบท และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น โดยขยายบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคมให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาชนบทเป็นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยจะดำเนินการ
7.1 เร่งรัดการกระจายรายได้และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ด้วยการส่งเสริมการดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่อนุภาค พื้นที่ชายแดน พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และพื้นที่ชายทะเลภาคใต้ ตลอดจนกระจายอุตสาหกรรมและการลงทุนไปสู่ภูมิภาคและชนบท
7.2 เร่งรัดจัดทำผังโครงการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อสร้างสมดุลการพัฒนาไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ