หอมมะลิหนีกฎเข้มตั้งโรงงานในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 21, 2007 10:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นายเจริญ  เหล่าธรรมทัศน์  อุปนายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศและประธานกรรมการบริษัท อุทัย โปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ ได้เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงพาณิชย์ยุครัฐบาลทักษิณ ได้ออกประกาศกำหนดให้ข้าวหอมมะลิเป็นสินค้ามาตรฐาน มีสาระสำคัญ คือ ข้าวที่ส่งออกต้องมีความบริสุทธิ์ของข้าวหอมไม่ต่ำกว่า 92% อีก 8% สามารถนำข้าวชนิดอื่นมาปนได้แต่ต้องอยู่ในเกรดเดียวกัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มค. 2545 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวเกรดพรีเมียมและขายได้ราคาดี
จากนโยบายและหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้ส่งผลต่อผู้ส่งออกข้าวไทยที่ต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น อาทิ ต้องส่งตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรม(ดีเด็นเอ) กับผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า(เซอร์เวเยอร์)ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานมาตรฐานสินค้านำเข้า-ส่งออกของกรมการค้าต่างประเทศ โดยปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวหอมมะลิประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี ต้องเสียค่าตรวจดีเอ็นเอรวมกันเป็นร้อยล้านบาท
ล่าสุดบริษัทได้เตรียมเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่เมืองเสินเจิ้น ซึ่งเป็นตลาดข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดของไทยในจีน ทั้งนี้เพื่อให้มีต้นทุนการดำเนินการลดลงและสามารถปั้นแบรนด์เพื่อแข่งขันในตลาดจีน
ด้านนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท เจียเม้ง จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งของไทย กล่าวว่า จากมาตรฐานข้าวหอมมะลิที่เข้มงวด และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง บริษัทได้เข้าไปร่วมทุนกับนักธุรกิจจีนเพื่อตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่เมืองเสินเจิ้นสัดส่วน 50:50 มีเป้าหมายเพื่อทำตลาดผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต โดยชูแบรนด์หงษ์ทองซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิมาตรฐาน 92% จับตลาดบน มีแบรนด์หยางและอีก 6-7 แบรนด์ในการเจาะตลาดผู้บริโภครองลงมา ซึ่งขณะนี้ช่องทางการจำหน่ายไปได้ค่อนข้างดี สามารถส่งข้าววางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในจีนได้แล้วกว่า 400 สาขาของ 16 ห้าง อาทิ วอลมาร์ต โลตัส คาร์ฟูร เอเบส พาร์คเอนช็อป แซมคลับ เป้าหมายเราจะขยายให้ได้ 1,000 สาขา นอกจากนี้ยังเตรียมนำสินค้าอื่น ๆ จากประเทศไทยไปทำตลาดด้วย
ประเด็นวิเคราะห์
กรมการค้าต่างประเทศ มีความเห็นว่า มาตรฐานข้าวหอมมะลิถือว่าดีอยู่แล้วและต้องเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป การกำหนดมาตรฐานทำให้ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นจาก 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ปัจจุบันอยู่ระดับมากกว่า 500 ดอลลาร์/ตัน
การที่ภาคเอกชนเข้าไปตั้งโรงงานในจีน เป็นทางออกที่ดีทำให้สามารถลดต้นทุนค่าบริหารจัดการลงได้มาก โดยเฉพาะค่าแรง ค่าบรรจุภัณฑ์ และมีช่องทางการจำหน่ายกว้างขวางยิ่งขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ