รายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือนกันยายน ปี 2546: สรุปภาวะเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 4, 2003 14:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

        เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนขยายตัวต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับเดือนก่อนและดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยตามความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมูลค่าการส่งออกอยู่ในระดับสูงตามการขยายตัวของทั้งราคาและปริมาณการส่งออก ทางด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ว่ารายจ่ายลงทุนยังคงเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน
ในภาคการผลิต ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวดีทั้งอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อความต้องการภายในประเทศและการส่งออก รายได้เกษตรกรจากพืชผลหลักก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในระดับปกติ สะท้องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อนเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ การจ้างงานขยายตัวดี อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับต่ำดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นขณะที่หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน
สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวในเกณฑ์ดีจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อที่ขยายตัวดีขึ้น ผลประกอบการของภาคธุรกิจที่ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อุปสงค์ภาคเอกชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลงบ้างจากไตรมาสที่ 2 ส่วนหนึ่งเพราะการใช้จ่ายเพื่อสินค้าคงทนที่เร่งตัวสูงมากในช่วงก่อนได้กลับสู่ระดับการขยายตัวปกติในไตรมาสนี้ นอกจากนั้น เศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้นมากใน 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาสนี้
เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง การลดลงของหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศ ตลอดจนการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยสถาบันจัดอันดับ ในต่างประเทศได้ช่วยให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น และมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทโน้มแข็งขึ้น
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 มีดังนี้
1. การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งตัวจากร้อยละ 5.3 ในเดือนสิงหาคม ส่วนหนึ่งเพราะฐานดัชนีปีก่อนที่ต่ำทำให้ผลผลิตของหมวดยาสูบ เครื่องดื่ม และปิโตรเลียมขยายตัวสูง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดี หมวดยานยนต์ยังขยายตัวตามการผลิตรถยนต์นั่งที่อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศมีต่อเนื่อง ขณะที่หมวดแผงวงจรรวมและหมวดอาหารทะเลทั้งแช่แข็งและกระป๋องก็ขยายตัวดีตามภาวะการส่งออก สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.8
ในไตรมาสที่ 3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.0 ชะลอลงจากร้อยละ 14.0 ในไตรมาสก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน
2. การใช้จ่ายภายในประเทศ ในเดือนกันยายนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 110.7 คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้สำคัญที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่การใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย การใช้น้ำมันเบนซิน และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค แต่เครื่องชี้ในกลุ่มยานพาหนะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ข้อมูลเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน โดยในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 59.9 คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เครื่องชี้ที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน
ในไตรมาสที่ 3 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นอัตราที่แผ่วลงจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากการชะลอตัวของเครื่องชี้กลุ่มยายพาหนะ ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ข้อมูลเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 9.8 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนเนื่องจากเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ชะลอตัว ขณะที่เครื่องชี้ในหมวดก่อสร้างยังขยายตัวสูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
3. ภาคการคลัง ในเดือนกันยายนรายได้รัฐบาลขยายตัวร้อยละ 12.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีสรรพสามิตที่ขยายตัวสูงเป็นสำคัญ ขณะที่รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ตามการเร่งเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณแต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหดตัวร้อยละ 4.8 อัตราการเบิกจ่ายในเดือนนี้เท่ากับร้อยละ 8.7 ดุลเงินในงบประมาณเกินดุล 9.9 พันล้านบาท ส่วนดุลเงินนอกงบประมาณเกินดุล 11.8 พันล้านบาท ดุลเงินสด จึงเกินดุล 21.7 พันล้านบาท
ทั้งปีงบประมาณ 2546 รายได้รัฐบาลขยายตัวร้อยละ 13.6 ขณะที่รายจ่ายหดตัวร้อยละ 3.4 โดยอัตราการเบิกจ่าย (ไม่รวมชำระคืนเงินต้น) เท่ากับร้อยละ 89.1 ซึ่งใกล้เคียงกับร้อยละ 89.2 ในปีงบประมาณก่อนส่งผลให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 34.3 พันล้านบาท
4. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 โดยราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ตามราคาข้าวสารหอมมะลิที่ความต้องการจากตลาดต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ไม่เปลี่ยนแปลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและค่าเช่าบ้านที่โน้มลดลงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ
ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุกหมวด ทั้งนี้ หมวดผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 10.4 รองลงมาได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และ 2.0 ตามลำดับ
ในไตรมาสที่ 3 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.9 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0
5. ภาคต่างประเทศ ในเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกสูงถึง 6,918 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.6 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ส่วนมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 6,266 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 652 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อประกอบกับดุลบริการรายได้และเงินโอนที่เกินดุลเพียง 45 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพราะเป็นช่วงตกงวดของการส่งกลับกำไรและเงินปันผลดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเกินดุล 697 ล้านดอลลาร์ สรอ. ดุลการชำระเงินเกินดุล 552 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2546 เท่ากับ 40.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิจำนวน 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
ในไตรมาสที่ 3 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 11.0 ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 11.8 ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่อง 838 ล้านดอลลาร์ สรอ. ดุลบริการ รายได้และเงินโอนกลับมาเกินดุล 1,011 ล้านดอลลาร์ สรอ. ภายหลังจากที่ขาดดุลในไตรมาสก่อนเพราะภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเกินดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นกันที่ 1,849 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ดุลการชำระเงินเกินดุลเพียง 731 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการชำระคืนหนี้ IMF Package ก่อนกำหนดของ ธปท. เป็นสำคัญ
6. ภาวะการเงิน ในเดือนกันยายน ปริมาณเงิน M2 M2A และ M3 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.9 5.3 และ 5.8 ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชน (รวมการถือครองหลักทรัพย์ภาคเอกชน) ของธนาคารพาณิชย์ที่บวกกลับการตัดหนี้สูญและสินเชื่อที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ แต่ไม่รวมสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินของสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากฐานในเดือนกันยายนปีที่แล้วต่ำเพราะมีการถอนเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ
ในเดือนกันยายน อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับเดียวกันที่ร้อยละ 1.10 ต่อปี
ในไตรมาสที่ 3 อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินโดยรวมปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากไตรมาส 2 เป็นผลสืบเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.11 และ 1.07 ต่อปี ตามลำดับ
7. เงินบาท ค่าเงินบาทในเดือนกันยายนเฉลี่ยอยู่ที่ 40.50 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเดือนสิงหาคม อนึ่ง แม้ ธปน. ได้ประกาศมาตรการดูแลการเก็งกำไรค่าเงินบาทในเดือนกันยายน แต่ก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงเพียงชั่วคราว ก่อนกลับแข็งค่าขึ้นอีก
ในไตรมาสที่ 3 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นมากโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 41.31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ 42.23 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อน การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวมาจากทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของไทย
สำหรับในช่วงวันที่ 1-29 ตุลาคม ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 39.71 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินบาทส่วนหนึ่งจากการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยสถาบันจัดอันดับในต่างประเทศอย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทปรับอ่อนลงอีกครั้งหนึ่งภายหลังจาก ธปท. ออกมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 และมาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ
1.2 ประเด็นเศรษฐกิจในประเทศ (16 กันยายน - 16 ตุลาคม 2546)
1. มาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ธปท. ได้ออกมาตรการจำกัดการกู้ยืมเงินบาทระยะสั้นของสถาบันการเงินจากผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident: NP) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2546 เพื่อจำกัดช่องทางที่ NR จะนำเงินระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่ปรากฎว่า NR ยังมีความพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการดังกล่าวโดยการทำธุรกรรมผ่านบัญชี Nostro-Account กับสถาบันการเงินในประเทศดังเห็นได้จากยอดคงค้างในบัญชีเงินฝากของ NR ที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 15,000 - 20,000 ล้านบาท ในช่วงก่อนออก มาตรการเป็น 46,000 ล้านบาทซึ่งการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท และขัดต่อวัตถุประสงค์ของการอนุญาตให้ NR เปิดบัญชีเงินบาท Nostro Account กับสถาบันการเงินในประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินที่เกิดจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ธปท. จึงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทโดยให้มีผลในทันที ดังนี้
1. ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป NR จะฝากเงินในรูปบัญชีกระแสรายวันหรือเงินฝากออมทรัพย์ได้เฉพาะกรณีเพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น หากเพื่อวัตถุประสงค์อื่นต้องมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
2. ยอดเงินฝากทุกประเภทของ NR ต่อราย ณ สิ้นวันต้อง ไม่เกิน 300 ล้านบาท เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี
3. ให้สถาบันการเงินงดจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากประเภทกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์แก่ NR ทุกบัญชี จ่ายได้แต่เฉพาะเงินฝากประจำที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
มาตรการนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป และธปท. ให้เวลาสถาบันการเงินปรับตัวให้ยอดเงินฝากที่สูงกว่ากำหนดลดลงอยู่ในเกณฑ์ภายใน 7 วัน คือวันที่ 22 ตุลาคม 2546
2.ผลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่สำเร็จแล้วของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.)
จากการที่ คปน.ได้ดำเนินการอนุมัติ กลุ่มลูกหนี้เป้าหมายใหม่ปี 2546 เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวนทั้งสิ้น 2,217 ราย มูลหนี้ 18,507 ล้านบาทนั้น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2546 มีลูกหนี้ตอบรับเข้าร่วมโครงการจำนวน 449 ราย มูลหนี้ 5,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 32 ราย มูลหนี้ 88 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มลูกหนี้เป้าหมายเดิมที่ คปน.อนุมัติในปี 2541 ถึง 2545 จำนวนทั้งสิ้น 15,386 ราย มูลหนี้ 2,841,749 ล้านบาทนั้น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2546 มีลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จทั้งสิ้น 10,344 ราย มูลหนี้ 1,396ฐ882 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3 ราย มูลหนี้ 6,101 ล้านบาท
สำหรับลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จเมื่อจำแนกตามประเภทธุรกิจแล้ว ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ในธุรกิจการพาณิชย์ การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และการอุตสาหกรรม
1.3 ประเด็นเศรษฐกิจต่างประเทศ (21 กันยายน - 24 ตุลาคม 2546)
สหรัฐอเมริกา
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัว ดีขึ้น โดย GDP ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 2.2 (yoy) หรือร้อยละ 3.3 (qoq, annualized)
ด้านภาคการผลิต ดัชนีภาคการผลิต Chicago PMI และดัชน ISM Manufacturing ในเดือนกันยายน ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.2 และ 53.7 ตามลำดับ (แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50) เป็นผลจากการลดลงในองค์ประกอบด้านการผลิตและการจ้างงาน ส่วนด้านการบริโภคนั้น รายได้และรายจ่ายของผู้บริโภค ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.8 (mom) ตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (U.of Michigan Confidence) ในเดือนตุลาคมปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 89.4 เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นประกอบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
สำหรับสถานการณ์ในตลาดแรงงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นนั้น แม้ว่าอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เท่ากับเดือนก่อนแต่จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2546 ยอดการใช้สิทธิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) ได้ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 384,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน
นอกจากนี้ ดุลการค้าในเดือนสิงหาคมขาดดุล ลดลงมาอยู่ทีระดับ 39.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการขาดดุลที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน นับเป็นสัญญาณที่ดีที่อาจทำให้ GDP ในไตรมาสที่ 3 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
กลุ่มประเทศยูโร
เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรยังคงอ่อนแอ แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในช่วงต้นปี 2547 โดยช่วงที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากทั้งนี้ ในรายงาน ECB Bulletin ล่าสุดประจำเดือนกันยายน ยังแสดงความกังวลถึงนโยบายการคลังของหลายประเทศ ใน Euro Zone เช่น เยอรมณี และฝรั่งเศสที่ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องเกินกว่าร้อยละ 3 ตามข้อกำหนดของ "Stability and Growth Pact" แต่ ECB ไม่ได้แสดงความวิตกต่อการแข็งค่าของเงินยูโรจนทำให้ต้องลดดอกเบี้ยลงแต่อย่างใด
ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EU Economic Sentiment) ปรับตัวดีขึ้นมากโดยในเดือนกันยายนสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 95.4 จากระดับ 95.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งอยู่ในทิศทางดี สอดคล้องกับดัชนี PMI ในกลุ่มประเทศยูโรที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยดัชนี PMI Service index อยู่ที่ระดับ 52.9 50.1 และ 53.6 ตามลำดับ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อ (HICP) ของกลุ่มประเทศยูโรในเดือนกันยายนทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เท่ากับในเดือนก่อนหน้า (สูงกว่าเป้าอัตราเงินเฟ้อของ ECB ที่ร้อยละ 2 เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น)
อนึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 ECB ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน Refinancing rate ที่ร้อยละ 2 ต่อปีตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์หลังจากที่ปรับลดลงไปครั้งสุดท้ายร้อยละ 0.5 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 โดย ECB ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่เชื่อว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนี้ไว้อีกระยะหนึ่ง
ญี่ปุ่น
ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2546 ได้มีมติเพิ่มปริมาณเงินในระบบโดยการเพิ่มเป้าหมาย current account ของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่กับธนาคารกลางจาก 27 - 32 ล้านล้านเยนเป็น 27-32 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้พยายามที่จะแก้พยายามที่จะแก้ปัญหางเงินฝืดด้วยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบโดยการเพิ่มเป้าหมาย current account ของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่กับธนาคารกลางนับตั้งแต่ปลายปี 2545 นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มท่าทีในการประเมินภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มติดต่อกันจากเดือนกันยายน ทั้งนี้ แม้ว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำแต่การลงทุนของภาคธุรกิจ (business fixed investment) ได้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งการส่งออกได้ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจได้ปรับตัวดีขึ้นโดยผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ (Tankan) ของธนาคารกลางญี่ปุ่นประจำไตรมาสที่ 3 ในเดือนกันยายน 2546 ขยายตัวร้อยละ 1 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ 5 ทั้งนี้ นับเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ธันวาคม 2543 สะท้อนว่าบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในญี่ปุ่นจะปรับตัวดีขึ้นนอกจากนี้ The Economic Watchers Survey Index ในเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สี่มาอยู่ที่ 48.6 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงประสบกับปัญหาภาวะเงินฝืดและปัญหาการว่างงาน โดยในเดือนสิงหาคม CPI และ Core CPI ลดลงร้อยละ 0.3 (yoy) และ 0.1 (yoy) ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ที่ร้อยละ 5.1
กลุ่มเอเชียตะวันออก
- เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3 ปี 2546 ขยายตัวร้อยละ 91. (yoy) ส่งผลให้เศรษฐกิจ 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 8.5 สำหรับปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีคือการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยการค้าปลีกได้เริ่มฟื้นสู่ภาวะปกติและขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่ 3 ภายหลังการระบายของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) สิ้นสุดลง กอปรกับการลงทุนของภาครัฐขยายตัวสูง การค้าต่างประเทศขยายตัวแข็งแกร่ง รวมทั้งมีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าสู่จีนอย่างต่อเนื่องโดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน จีนได้รับ FDI มูลค่า 40.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. อนึ่ง นักวิเคราะห์บางรายมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจกำลังประสบปัญหา overheat อยู่ในขณะนี้
วันที่ 15 ตุลาคม 2546 สถาบันจัดอันดับ Moody's Investors Service ได้ปรับเพิ่ม credit rating ตราสารหนี้ ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศ (Long term foreign currency bonds) ของจีนจาก A3 เป็น A2 เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจีนจะรักษาความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่อย่างแข็งแกร่งได้ต่อไป (strong external payments position) นอกจากนั้น Moody's กล่าวว่าภาวะการส่งออกของจีนที่แข็งแกร่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้นต่อเนื่องซึ่งทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน ณ สิ้นเดือนกันยายน มีมูลค่า 383.9 พันล้านดอนลาร์ สรอ. หรือประมาณ 2 เท่า ของหนี้ต่างประเทศ
ธนาคารกลางจีนได้ออกระเบียบใหม่สำหรับตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอนุญาตให้ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือ travel notes เป็นเงินหยวนได้เท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ทำการแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นเงินตราต่างประเทศ สำหรับผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นเงินตราต่างประเทศให้แลกได้เฉพาะกับธนาคารที่ได้รับอนุญาต โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 การออกระเบียบใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประชาชน และเพื่อรักษาให้ตลาดเงินตราต่างประเทศของจีนเป็นระเบียบ
- เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่ประกาศ ณ เดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ลดลงจาก ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 8.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตโรค SARS ส่งผลให้มีการจ้างงานในภาคบริการและภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะที่ underemployment rate ก็ปรับลดลงเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ 3.6
อนึ่ง นาย Tung Chee-hwa ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษเกาะฮ่องกง ได้กล่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว พร้อมกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจีน นาย Wen Jiabao ได้ตกลงที่จะให้เกาะฮ่องกงเป็น offshore center สำหรับธุรกรรมเงิน renminbi ในอนาคตอีกด้วย
- เศรษฐกิจไต้หวันเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีชี้นำเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 101.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายตัวขยายตัวดีขึ้น
การส่งออกของไต้หวันในเดือนกันยายนขยายตัวร้อยละ 11.6 (yoy) เนื่องจากมีอุปสงค์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาส รวมทั้งมีอุปสงค์จากกลุ่มประเทศเอเชียด้วย นอกจากนี้ ในเดือนกันยายนคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 20.0 ทำให้การส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มดี
อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลในเดือนกันยายนของไต้หวันลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 2 ปี ตามปกติอัตราการว่างงานของไต้หวันมักจะสูงในช่วงฤดูร้อนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื่องจากนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และต่ำลงในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคการผลิตและการส่งออกเริ่มเข้าสู่ภาวะสูงสุดในรอบปี
อนึ่ง แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ระดับราคาของไต้หวันยังคงปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนติดลบร้อยละ 0.2 (yoy) ซึ่งราคาอาหาร เสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายเดินทางเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว แต่ค่าเช่าและราคาสินค้าคงทนยังคงลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ทางการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นและการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.8 (yoy) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.1 (yoy) ทั้งนี้ Korea Development Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีใต้ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เหลือเพียงร้อยละ 2.6 (ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ต่างๆ คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.8) เนื่องมาจากความอ่อนแอของการบริโภคภายในประเทศ
ยอดค้าปลีกในเดือนสิงหาคมหดตัวร้อยละ 1.4 (yoy) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.5 ในเดือนกรกฎาคม แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยในเดือนกันยายนอยู่ที่ 90.4 ปรับลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ระดับ 92.0
อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 (yoy) ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้แถลงว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้ราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม
การส่งออกในเดือนกันยายนขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 23.8 (yoy) ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.3 (yoy) ส่งผลให้เกาหลีใต้เกินดุลการค้า 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการเกินดุลสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 จีนได้กลายมาเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดแทนที่สหรัฐฯ
กลุ่มอาเซียน
- เมื่อวันเสาร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Gloria Macapagal Arroyo แถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า (2547) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของประธานาธิบดี Arroyo จะยิ่งสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของฟิลิปปินส์ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกันยายนยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 2.9 (yoy) และมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีจากราคาน้ำมันดิบที่อาจสูงขึ้นหากกลุ่ม OPEC ตัดสินใจลดกำลังการผลิตลง
การส่งออกในเดือนสิงหาคมหดตัวร้อยละ 2.2 (yoy) ตามการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดส่งออกหลัก ทำให้การส่งออกของฟิลิปปินส์ในช่วง 8 เดือน แรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 (yoy) อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีการค้าของฟิลิปปินส์ นาย Manuel Roxas เชื่อมั่นว่าการส่งออกของฟิลิปปินส์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าการส่งออกในปีนี้ที่ร้อยละ 5.0 (yoy)
- เศรษฐกิจมาเลเซียยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีโดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 6.7 (yoy) เป็นการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต (Manufacturing sector) ที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 (yoy) เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมียอดสั่งซื้อสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ชิพ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพิ่มขึ้น
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 (yoy) โดยเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้า และภาษีสรรพสามิตสำหรับสุรา (ร้อยละ 10) และยาสูบ (ร้อยละ 20) สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดยารักษาโรค (ร้อยละ 1.5) และหมวดอาหาร (ร้อยละ 1.4)
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 S&P ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศของมาเลเซียจาก BBB+เป็น A- เนื่องมาจากปัจจัยบวกทางด้านการเมือง กล่าวคือ มาเลเซียมีการเตรียมการล่วงหน้าให้นายอับดุลลาร์ บาดาวีร์ รองนายกรัฐมนตรีขึ้นดำรงตำแหน่งในสิ้นเดือนตุลาคม 2546 โดยการเปลี่ยนตัวผู้นำดังกล่าว เป็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างค่อนเป็นค่อนไป ซึ่งช่วยลดความไม่แน่นอนด้านการดำเนินนโยบายต่างๆ นากจากนี้ การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ยังเป็นผลมาจากการที่มาเลเซียมีฐานะการคลังของรัฐบาลที่ปรับตัวดีขึ้นโดยทางการพยายามจะลดการขาดดุลการคลังลงจากร้อยละ 5.4 ของ GDP ในปี 2546 ให้เหลือร้อยละ 3.3 ของ GDP ในปี 2547
- เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประมาณการว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวร้อยละ 3.1 (yoy) เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 6.2 (yoy) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.4 ปัจจัยสำคัญมาจากค่าเงินรูเปียห์ที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง SBI ระยะ 1 เดือนลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 8.51 ในช่วงกลางเดือนกันยายน โดยลดลงจากต้นปีรวม 448 basis points
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 Moody's ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียจาก B3 เป็น B2 และให้ outlook อยู่ที่ระดับ stable โดยให้เหตุผลว่าอินโดนีเซียมีสถานภาพการเงินด้านต่างประเทศ (external financial position) แข็งแกร่งมากขึ้น ระดับหนี้ต่างประเทศลดตลอดจนสัดส่วนหนี้ภาครัฐปรับตัวลดลงจากร้อยละ 100 ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2543 มาอยู่ที่ ร้อยละ 69 ต่อ GDP ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของประเทศต่อ external shocks ลงไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ