การเลือกวิธีและรูปแบบธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2004 15:27 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

                                การเลือกวิธีและรูปแบบธุรกิจ 
1. การตัดสินใจเลือกวิธีการเริ่มต้นธุรกิจ
การตัดสินใจเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกระทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่ปัจจัยแวดล้อมความพร้อม ทั้งความรู้ ความสามารถ เงินทุน และโอกาสในขณะนั้น ซึ่งอาจมีธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้ว และประสงค์จะเข้าไปรับช่วงต่อ หรือทำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกัน โดยการตัดสินใจเริ่มต้นประกอบธุรกิจ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 วิธีคือ
1. ธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่
2. ธุรกิจที่ซื้อต่อจากผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนรายอื่น
3. ธุรกิจเดิมของครอบครัว
4. การขอรับสิทธิทางการค้า จากเจ้าของสิทธิทางการค้า
1. ธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่
การเริ่มก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่ เป็นวิธีการที่แสดงถึงธรรมชาติของความเป็นผู้ประกอบการได้ดีที่สุด เพราะผู้ประกอบการจะต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความกล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และความมานะพยายามเป็นอย่างสูง ธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่เป็นวิธีที่ผู้ประกอบการนิยมดำเนินงานมากที่สุด เพราะสามารถมีอิสระในการเลือกองค์ประกอบของธุรกิจให้เป็นไปตามแนวคิดของตนเองได้
การก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่ อาจทำโดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และวางขายในตลาดอื่นอยู่เข้ามาสู่ตลาดใหม่ (New Market) ลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ (New Technology) ไม่เคยมีวางจำหน่ายที่ไหนมาก่อนเข้าสู่ตลาด หรืออาจนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุง ให้มีคุณภาพดีกว่าเดิม เข้ามาขายในตลาดเดิม
ข้อดีของการก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่
1. การก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ หรือวิธีการดำเนินงานใหม่ ซึ่งจะสามารถกระทำได้ง่ายกว่าการซื้อธุรกิจต่อมาจากผู้อื่นแล้วพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่โดยกระทันหันเพราะอาจจะไม่เหมาะสมกับระบบเดิมที่มีอยู่
2. ผู้ประกอบการสามารถเลือกองค์ประกอบในการทำธุรกิจ เช่น ทำเลที่ตั้ง หรือเครื่องจักรต่าง ๆ ทุกอย่างตามที่ตนเองพอใจ
3. ผู้ประกอบการสามารถเลือกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ ข้อจำกัดทางกฎหมาย ที่เหมาะสมกับตน เช่น รูปแบบของธุรกิจ เป็นต้น
4. สามารถสร้างภาพพจน์ที่ดีจากธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ และสร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้ก่อตั้งด้วย
ข้อเสียของการก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่
1. การก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด และอาจใหม่เกินไปจนขาดประสบการณ์และความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง
2. ธุรกิจสร้างใหม่นี้จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะมีลูกค้าประจำในระดับหนึ่งที่พอจะมีกำไร ในขณะที่เริ่มก่อตั้งใหม่กิจการจะขาดทุน ผู้ประกอบการต้องใช้เงินออมส่วนตัวใช้จ่ายพยุงธุรกิจให้รอดพ้นระยะเริ่มต้นนี้ไป ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินทั้งแก่ผู้ประกอบการเองและธุรกิจที่ตั้งขึ้น
3. การเริ่มต้นอาจต้องใช้วิธีการลองผิดลองถูก สำหรับผู้ประกอบการที่ขาดประสบการณ์
4. การหาเงินทุนจากการกู้ยืมค่อนข้างยาก เพราะธุรกิจมีความเสี่ยงสูง
2. ธุรกิจที่ซื้อต่อจากผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนรายอื่น
การประกอบการธุรกิจประเภทนี้ได้รับการวิจารณ์ว่า ทำให้สูญเสียความเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริงไปส่วนหนึ่ง เพราะซื้อกิจการต่อจากผู้อื่นโดยไม่ได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดีธุรกิจนี้ลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจที่ซื้อต่อมาจากผู้อื่นมักจะมีต้นทุนในการเริ่มต้นต่ำกว่าธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวจากศูนย์ดังเช่นธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่
ข้อดีของการซื้อธุรกิจต่อมาจากผู้อื่น
1. ช่วยลดความเสี่ยงจากการก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่เอง สามารถลดปัญหาของการดำเนินงานโดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ธุรกิจเคยทำก่อน
2. อาจได้ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจนั้น การซื้อกิจการเดิมที่มีทำเลที่ดี มีลูกค้าผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก และเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วจะช่วยให้ธุรกิจไปได้ด้วยดี
3. สามารถรับช่วงทำธุรกิจต่อจากรายเดิม ในการติดต่อกับคู่ค้าสำคัญ ๆ ซึ่งถ้าเจ้าของรายเดิมมีสัมพันธ์ภาพที่ดีจะช่วยให้การสานต่อทำได้ง่ายขึ้น
4. ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้น เพราะมีเครื่องมืออุปกรณ์ ตลอดจนคนงานลูกจ้างพร้อมที่จะทำงานต่อไปได้ทันที
5. ต้นทุนของการซื้อต่อมาจากผู้อื่นมักจะต่ำกว่าต้นทุนการก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาใหม่
6. มีลูกค้าประจำโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก
ข้อเสียของการซื้อธุรกิจต่อจากผู้อื่น
1. การแก้ไขภาพพจน์ของธุรกิจเดิมได้ยาก โดยเฉพาะภาพพจน์ที่ไม่ดี
2. ธุรกิจที่ขายต่ออาจมีปัญหาแอบแฝงอยู่ เช่น กำลังถูกฟ้องร้อง หรือเวนคืนที่ดิน ความนิยมของลูกค้าเริ่มเสื่อมถอย อิ่มตัว เป็นต้น
3. พนักงานลูกจ้างเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานอาจก่อปัญหา หรือเข้ากับเจ้าของรายใหม่ไม่ได้เพราะเจ้าของรายใหม่ไม่ได้คัดเลือกพนักงานเอง ถ้าปลดคนงานเก่าบางคนออกก็มีผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานที่เหลือ ซึ่งอาจถึงขั้นไม่พอใจและทำงานให้เจ้าของรายใหม่เกิดความเสียหายได้
4. ทำเลที่ตั้งเดิมไม่สามารถขยายออกไปได้หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดผลไม่ดีต่อกิจการ เช่น ห้ามจอดรถริมถนนบริเวณหน้าร้าน
5. คู่ค้ารายสำคัญ แตกต่างไปจากเดิม เช่น เครดิตเทอมจากเจ้าหนี้การค้า เป็นต้น
6. เครื่องมือและอุปกรณ์เก่าแก่ ชำรุด ล้าสมัย ไม่เหมาะสมที่จะใช้ดำเนินการต่อไป
3. ธุรกิจเดิมของครอบครัว
ธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการและพนักงานมาจากครอบครัวเดียวกันการดำเนินธุรกิจครอบครัวมักจะมีการตกทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในการดำเนินธุรกิจความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการหรือผู้บริหารกับพนักงานลูกจ้าง ของครอบครัวจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งและไม่เข้าใจกัน เพราะธุรกิจต้องยึดผลประโยชน์และความอยู่รอดเป็นหลัก
ข้อดีของธุรกิจครอบครัว
1. ชื่อเสียงของธุรกิจที่สร้างมาจากบรรพบุรุษจะตกทอดแก่ลูกหลาน
2. บุคคลในครอบครัวจะทุ่มเทแรงกายแรงใจช่วยพยุงและพัฒนาธุรกิจมากกว่าลูกจ้างธรรมดา และยินดีจะทำงานหนักโดยได้รับผลตอบแทนเล็กน้อย เพื่อให้กำไรได้ถูกใช้ไปในการดำเนินงานและลงทุนเพิ่มเติมจนธุรกิจมั่นคงเติบโตขึ้น
3. ธุรกิจครอบครัวหวังการสืบทอดไปรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงพยายามดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตเสนอสินค้าและบริการที่มีมาตรฐานสม่ำเสมอ เพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติภูมิของธุรกิจในระยะยาว
ข้อเสียของธุรกิจครอบครัว
1. ความสัมพันธ์ส่วนตัวมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากเกินไป
2. การบริหารงานไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้ธุรกิจพัฒนาช้า
3. ความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว
4. การขอรับสิทธิทางการค้า จากเจ้าของสิทธิทางการค้า
ธุรกิจการรับสิทธิทางการค้า เป็นธุรกิจที่ผู้ใช้สิทธิ (Franchisor) ได้มอบสิทธิทางการค้าให้แก่ผู้รับสิทธิ (Franchisee) ในการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการ โดยใช้เครื่องหมายการค้าและสัญลักษณ์ของตน โดยที่ผู้ใช้สิทธิได้รับค่าสิทธิทางการค้าตอบแทนในการช่วยเหลือผู้รับสิทธิทางการค้าในการดำเนินงานเลือกทำเลที่ตั้ง อบรมวิธีการปฏิบัติงาน สร้างระบบการเงินช่วยเหลือในการจัดตั้งธุรกิจทุกอย่าง แนะแนวนโยบายการบริหารธุรกิจ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ การร่วมงานกันของผู้ให้สิทธิและผู้รับสิทธิในธุรกิจเดียวกันจะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนเฉพาะของตน และมีโครงสร้าง ระบบ กระบวนการที่แตกต่างกันด้วย แต่ละฝ่ายจะช่วยเสริมจุดแข็งที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มี จึงก่อให้เกิดผลดีแก่ทั้งด้านผู้ให้สิทธิและผู้รับสิทธิร่วมกัน สัญญาสิทธิทางการค้าที่ทั้งผู้ให้สิทธิและผู้รับสิทธิจัดทำและตกลงกัน เป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งระดับของความผูกพันตามสัญญาโดยทั่วไปมีหลักการใหญ่คล้ายกันสำหรับธุรกิจการรับสิทธิทางการค้าทุกธุรกิจ แต่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันบ้างสำหรับธุรกิจต่างชนิดกัน ดังนั้น ก่อนตกลงใจซื้อสิทธิทางการค้ามาลงทุนทำธุรกิจ ทั้งผู้รับสิทธิและผู้ให้สิทธิควรศึกษาข้อมูลตามสัญญาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญาตกลงกัน
ประเภทของธุรกิจการรับสิทธิทางการค้า
1. รับสิทธิทางการค้าโดยใช้สินค้าและชื่อทางการค้า ผู้รับสิทธิจะมีฐานะคล้ายตัวแทนจำหน่ายของผู้ให้สิทธิ
2. รับสิทธิทางการค้าโดยใช้รูปแบบทางธุรกิจ ผู้รับสิทธิจะได้รับสิทธิในการขายสินค้าและบริการภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ให้สิทธิ
ข้อดีสำหรับผู้รับสิทธิ
1. ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เพราะสินค้าและบริการเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว
2. ได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำในการดำเนินการแบบมาตรฐาน
3. ได้รับการอบรมฝึกฝนที่ทันสมัยและต่อเนื่องอยู่เสมอ
4. ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น หาแหล่งเงินกู้ให้ เลื่อนกำหนดผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมแก่ผู้ให้สิทธิ
5. สามารถใช้กลยุทธ์ทางการค้าได้เต็มที่ เช่น ช่วยทำโฆษณาให้
6. ได้รับวัตถุดิบในราคาถูกกว่า เพราะผู้ให้สิทธิจัดซื้อโดยรวม ทำให้มีอำนาจต่อรองดีกว่า
7. สามารถตั้งธุรกิจได้ง่ายกว่า
ข้อเสียสำหรับผู้รับสิทธิ
1. ต้องเสียค่าธรรมเนียม Royalty Fee และส่วนแบ่งรายได้ค่อนข้างสูง
2. ถูกบังคับให้ดำเนินการตามนโยบายของผู้ให้สิทธิ ทำให้ผู้รับสิทธิที่ชอบความเป็นอิสระอาจไม่พอใจที่ไม่สามารถบริหารตามที่ตนเห็นสมควรได้
3. มีข้อจำกัดด้านเขตพื้นที่ที่จะขาย/ให้บริการและสายผลิตภัณฑ์ ผู้รับสิทธิไม่สามารถนำสินค้าอื่นมาขายได้ในร้านของตนเอง
4. เงื่อนไขของสัญญาสิทธิทางการค้าส่วนใหญ่ไม่ยุติธรรม มีผลให้ผู้รับสิทธิเสียเปรียบ
5. ผู้รับสิทธิที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาอาจถูกเพิกถอนสิทธิทางการค้าได้
6. ผู้รับสิทธิรายอื่นก่อปัญหาหรือความเสียหาย เช่น จำหน่ายสินค้าโดยหลอกหลวงผู้บริโภค จะทำให้เสียภาพพจน์ของธุรกิจการรับสิทธิทางการค้านั้นทั้งหมดเสียหายและส่งผลกระทบถึงเราได้
7. ผู้รับสิทธิต้องพึ่งพาอาศัยผู้ให้สิทธิมากเกินไป
ข้อดีสำหรับผู้ให้สิทธิ
1. สามารถขยายกิจการได้รวดเร็ว ด้วยเงินทุนของผู้รับสิทธิ
2. สามารถควบคุมกิจการได้ด้วยนโยบายหลักของธุรกิจ
3. สามารถจูงใจบุคลากรได้ดีกว่า เพราะผู้รับสิทธิจะกระตือรือร้นมากกว่าลูกจ้าง
4. มีปัญหาด้านคนน้อยลง เพราะธุรกิจแต่ละแห่งผู้รับสิทธิต้องรับผิดชอบพนักงานเอง
ข้อเสียสำหรับผู้ให้สิทธิ
1. การควบคุมในระยะยาวอาจมีปัญหา เมื่อผู้รับสิทธิอยากทำตามวิธีการของตนเองบ้าง
2. ต้องแบ่งปันผลกำไรกับผู้รับสิทธิ
3. การให้ความช่วยเหลือในการดำเนินงานแก่ผู้รับสิทธิแต่ละรายทำได้ยาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในบางเรื่อง เช่น ให้บริการด้านกฎหมาย และบัญชีซึ่งวิธีการรวมกันทำหน้าที่ส่วนกลางแม้จะประหยัดกว่าแต่ก็ทำไม่ได้
2.2 การพิจารณาเลือกรูปแบบของธุรกิจ
การประกอบธุรกิจการค้าอาจดำเนินการได้หลายรูปแบบ ทั้งโดยบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการโดยลำพัง หรืออาจดำเนินการโดยร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นเป็นกลุ่มคณะก็ได้ การที่จะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจการค้าในรูปแบบใดนั้น ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการด้วยกัน เช่น ลักษณะของกิจการค้า เงินทุน ความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น เพื่อให้การประกอบธุรกิจนั้นประสบผลสำเร็จ นำมาซึ่งผลประโยชน์และกำไรสูงสุด
(ยังมีต่อ).../รูปแบบองค์กร..

แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ