ทำไม??...ไทยต้องทำ FTA : หลีกไม่ได้ หนีไม่พ้นเป็นผลประโยชน์ของชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 5, 2004 11:31 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เป็นผลประโยชน์ของชาติบทความโดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 2-3 ปีนี้ คำที่ติดปากผู้คนในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปเห็นจะไม่มีคำไหนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเท่า “เอฟทีเอ” (FTA) ซึ่งย่อมาจาก Free Trade Area หรือแปลเป็นไทยว่า “ เขตการค้าเสรี” เขตการค้าเสรี คือ การที่ประเทศตั้งแต่สองประเทศขึ้นไปตกลงที่จะยกเลิกข้อกีดขวางในการทำการค้าระหว่างกัน ซึ่ง FTA แบบดั้งเดิม จะมีเพียงการลดภาษีและมาตรการกีดกันอื่นๆ แต่ FTA ที่ทำกันในปัจจุบัน จะกว้างขวางมากกว่า โดยรวมถึงการเปิดเสรีบริการ การลงทุน และความร่วมมือด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้า FTA ดาวรุ่งพุ่งแรงตามเศรษฐกิจโลก จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ตึกเวิร์ลด์เทรดในสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงมาก อัตราการขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.4 ในปี 2544 แต่ในปี 2546 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นร้อยละ 3.2 ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้ คงจะโตขึ้นอีกร้อยละ 4.1 สำหรับในด้านปริมาณการค้าโลกก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากที่เคยขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1 ในปี 2544 ก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 3 ในปี 2546 และคาดว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7-8 ในปีนี้ ขณะเดียวกัน ทิศทางการค้าโลกก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเสรียิ่งขึ้นนับตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO ประกาศเปิดการเจรจาเปิดเสรีการค้าหลายฝ่ายรอบใหม่หรือที่เรียกว่ารอบโดฮา (เพราะประชุมกันที่กรุงโดฮา ประเทศการ์ตา) แต่การเจรจาก็ไม่ค่อยคืบหน้า และต่อมาถึงขั้นล้มเหลวในปี 2546 จึงเป็นสาเหตุให้ประเทศสมาชิกหันมาทำความตกลงเปิดเสรีกันสองประเทศหรือเป็นกลุ่มประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเกือบ 300 ความตกลง FTA ต้องทำก่อนจะโดนบังคับให้ทำ FTA คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ ในเวลาที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็ได้ให้หรือกำลังจะให้ผลประโยชน์ด้านภาษีและอื่นๆซึ่งกันและกัน ถ้าไทยนิ่งเฉยอยู่ก็ไม่มีใครมาบังคับได้ แต่ไทยก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเสียเปรียบคู่แข่งขันที่มีแต้มต่อจากการทำ FTA ครั้นจะหันไปพึ่ง WTO ก็ยังชะงักอยู่ และถึงฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็คงไม่รวดเร็วทันเหตุการณ์เท่ากับ FTA ปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก เพื่อหารายได้เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และไทยก็กำลังใช้นโยบายระบบเศรษฐกิจสองทาง (dual track policy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศควบคู่ไปกับการสร้างฐานเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง ถ้าขาดทางใดทางหนึ่ง ก็คงจะก้าวหน้าได้ยาก ดังนั้น เมื่อทิศทางของโลกเดินไปในทางที่จะเปิดเสรีเร็วขึ้นและมากขึ้น บวกกับความจำเป็นของไทยที่กล่าวแล้ว การจัดทำ FTA จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะ เมื่อไทยเป็นประเทศเล็ก ถ้าเราทำโดยมีการวางแผน การเตรียมตัวและปรับตัวย่อมต้องดีกว่าไม่ได้ตั้งตัวแล้วถูกบังคับให้ทำตามกฎเกณฑ์ที่ประเทศคู่ค้าวางไว้แน่นอน นอกจากการทำ FTA จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ทางการค้าแล้ว ยังช่วยในการหาตลาดใหม่ๆซึ่ง ถ้าไม่มี FTA ก็คงเจาะตลาดได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นด้วยระยะทางไกล ไม่คุ้นเคยหรือเหตุผลอื่น ในขณะเดียวกัน FTA ก็จะทำให้เรามีแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆที่ราคาถูกและหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง ช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นที่จะช่วงชิงโอกาสทางการค้า ผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตภายในให้เหมาะสม และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จะเท่ากับส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศ ทั้งนี้ การทำ FTA ไม่ใช่เรื่องใครได้ใครเสีย แต่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศที่เข้าร่วมเจรจา ซึ่งการเจรจาจะต้องเป็นในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ มิฉะนั้น คงไม่มีประเทศไหนยอมเจรจา เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง เนื่องจากไทยทำ FTA กับหลายประเทศ จนดูเหมือนว่าไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ถึงผลได้ ผลเสียให้รอบคอบก่อน ทว่า อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่รอใคร ประกอบกับการเจรจา FTA กับประเทศหนึ่งๆ ต้องใช้เวลาเป็นปีหรือกว่านั้น รวมทั้ง การปฏิบัติตามความตกลงจนเป็นเขตการค้าเสรีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ใช้เวลานับสิบปีจึงมีเวลามากพอในการเตรียมทางหนีทีไล่ รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้กำหนดทั้ง ยุทธศาสตร์การจัดทำ FTA กลไกการทำงาน และการติดตามผลการเจรจา เพื่อเครื่องมือสำคัญในการรองรับผลจากการเจรจา โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ด้านยุทธศาสตร์ ได้มีการวางเป้าหมายและแนวทางในการเจรจาจัดทำ FTA ในภาพกว้าง และลึกลงไปในแต่ละประเทศและแต่ละสาขาการผลิต โดยได้ตั้งคณะทำงานประสานยุทธศาสตร์และนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาดูแล ด้านกลไกการทำงาน มีการตั้งหัวหน้าคณะเจรจา FTA แต่ละประเทศ และการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบการเจรจาในแต่ละเรื่อง เช่น กระทรวงพาณิชย์รับเรื่องการเปิดตลาดสินค้า กระทรวงการคลังดูแลเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า BOI รับเรื่องการลงทุน เป็นต้น ด้านการติดตามผลการเจรจา ได้ตั้งคณะทำงานรองรับผลการเจรจา ที่จะทำหน้าที่ปรับโครงสร้าง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปิดเสรี ทั้งในด้านการตลาด การผลิตและเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบด้วย กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเตรียมการสำหรับการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ โดยจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดท่าทีในการเจรจา รวมทั้งการเปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ FTA ได้ โดยกรอกข้อมูลได้ที่ www.dtn.moc.go.th หรือ ติดต่อขอรับแบบฟอร์มที่หมายเลข 0-2507-7190, 0-2507-7191และส่งมาที่ ตู้ปณ. 101 ปณจ.นนทบุรี 1100 ก้าวต่อไป FTA + WTO เส้นทางคู่ มุ่งสู่การขยายการค้า แม้ว่าไทยจะทำ FTA กับหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้ละเลยการเจรจาการค้าหลายฝ่ายในกรอบ องค์การการค้าโลก(WTO) เพราะต่างก็มีผลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่ ประเทศสมาชิก WTO หลายๆประเทศที่ทำ FTA ก็เช่นเดียวกัน เพราะต่างก็เชื่อมั่นว่าการทำ FTA เป็นเครื่องมือส่งเสริมระบบการค้าหลายฝ่ายในการกระตุ้นการเปิดเสรีการค้า การเปิดเสรีในกรอบ FTA และ WTO จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในการทำการค้าระหว่างประเทศ เพราะทั้งสองกรอบ นอกจากจะส่งเสริมกันแล้วยังแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละกรอบด้วย เช่น ระบบใน WTO เป็นธรรมแต่ได้ผลช้า ส่วน FTA เห็นผลเร็วกว่าแต่ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองมากกว่า หรือ WTO สิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยกว่า เพราะเจรจาได้ครอบคลุมทีเดียว 148 ประเทศ แต่ไม่อาจแก้ไขปัญหาบางเรื่องที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ ในขณะที่ FTA สามารถหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาเจรจาแก้ไขได้ เป็นต้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ