การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2547 ณ เกาะเซนโทซา สิงคโปร์ นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers Retreat: AEM Retreat) ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2547 ณ เกาะเซนโทซา ประเทศสิงคโปร์ โดยก่อนหน้าจะมีการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High-Level Task Force on ASEAN Economic Integration) ซึ่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายการุณ กิตติสถาพร) เป็นประธานการประชุม HLTF ในวันที่ 20 เมษายน 2547 เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ในการประชุมครั้งนี้ AEM จะพิจารณากำหนดแนวนโยบายการดำเนินการสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ดังนี้ 1. การเร่งรัดการเปิดเสรีของสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา AEM จะพิจารณากำหนดแนวนโยบายการจัดทำ roadmap สำหรับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการของอาเซียน 11 สาขา ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าประมง (พม่า) ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ (อินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ (มาเลเซีย) อิเล็กทรอนิกส์ (ฟิลิปปินส์) เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ (สิงคโปร์) การท่องเที่ยว และการบิน (ไทย) เพื่อให้สามารถสรุปผลการดำเนินงานให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2547 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเสนอผู้นำพิจารณาลงนามความตกลงการรวมกลุ่มสินค้าและบริการรายสาขา ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว 2. การปรับปรุงสถาบัน/กลไกการดำเนินงานของอาเซียน ในการปรับกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากอาเซียนได้เริ่มจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาของเอกชน (ASEAN Consultation to Solve Trade and Investment Issues: ACT) ขึ้นในแต่ประเทศสมาชิกแล้ว AEM จะพิจารณาให้การรับรองขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของสมาชิกอาเซียน (ASEAN Compliance Body: ACB) และรับทราบความคืบหน้าการยกร่างพิธีสารแก้ไขความตกลงการระงับข้อพิพาทของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอร่างพิธีสารดังกล่าวให้ AEM พิจารณาลงนามได้ในเดือนกันยายน 2547 นี้ 3. ประเด็นที่ทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนไม่สามารถคืบหน้าได้ เช่น การขยายขอบข่ายความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA) ให้คลุมสาขาบริการต่างๆ จะมีการหารือกันระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) และรัฐมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน (AIA Minister) เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางดำเนินการ สำหรับคณะกรรมการประสานงานด้านการบริการ (Coordinating Committee on Services: CCS) และด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment:CCI) ใช้เป็นหลักปฏิบัติต่อไป 4. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประชุมจะพิจารณาแนว นโยบายในการกำหนดรูปแบบการลดภาษีสำหรับการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน การผลักดันให้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น และกำหนดทิศทางความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (CER) นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะเข้าร่วมลงนามในพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (Basic Agreement on the ASEAN Industrial Cooperation Scheme: AICO) ซึ่งสมาชิกอาเซียนจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์ภายใต้ AICO เป็นร้อยละ 0 ภายในปี 2005 (ยกเว้นเวียดนาม ภายในปี 2006) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมระหว่างภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในระยะต่อไป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775-สส-