ยุทธศาสตร์เชิงลึกการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค 2547 — 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 16, 2004 14:05 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับยุทธศาสตร์เชิงลึกการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค 2547 — 2551
1. ความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบันในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น ได้มีการเร่งรัดพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของตนเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ จนสามารถลดค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ลง (Logistics) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่าง เช่น ในปี
พ.ศ.2532 สหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์คิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ญี่ปุนก็เช่นเดียวกัน
ได้เริ่มโปรแกรมพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เมื่อปี 2540 ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์คิดเป็นร้อยละประมาณ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม นั่นหมายถึงค่าใช้โลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าทั้ง 2 ประเทศ ดังกล่าว โดยเปรียบเทียบหากไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ให้เท่ากับอเมริกาหรือญี่ปุ่นได้ คือลดลงไปได้ ร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม จะทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ประมาณ 300,000 ล้านบาท (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยในปี 2546 ประมาณ 6 ล้านบาท) ซึ่งสามารถนำค่าใช้ จ่ายที่ประหยัดได้นี้ไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้อีกมาก
เมื่อพิจารณาในระดับธุรกิจโดยเปรียบเทียบต้นทุนโลจิสติกส์กับรายได้จากการขาย พบว่าสหรัฐอเมริกา มีต้นทุนเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ถึง 8 และญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 5.87 ของยอดขาย ตามลำดับในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาและยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ได้มีการประมาณการว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ถึง 25 ของยอดขาย เนื่องจากประเทศไทยใช้การขนส่งทางรถบรรทุกเป็นสัดส่วนสูงมากถึงร้อยละ 88 ของการขนส่งทุกหมวด และระบบโลจิสติกส์ของไทยยังไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ต่างจากประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางระบบราง และการขนส่งทางน้ำมาก ซึ่งสามารถขนได้ครั้งละเป็นปริมาณมาก และมีการเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดีกับทางรถและทางอากาศจากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องโลจิสติกส์เป็นเรื่องใหญ่ และมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้เห็นสำคัญของเรื่องนี้ เร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและการบริการ รวมทั้งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคเป็นประตูเข้าสู่จีนตอนใต้ รวมทั้งมีผลพลอยได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
2. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ
คณะทำงานการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม สภาที่ปรึกษาฯ โดยได้ตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นเพื่อศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย เพื่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ภูมิภาค คณะทำงานฯ เริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 ได้มีการเริ่มกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีการตื่นตัวในเรื่องโลจิสติกส์ของประเทศไทย กล่าวคือ (1) ยกร่างแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยนำเสนอในการประชุมโต๊ะกลมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการโลจิสติกส์ของไทย เพื่อรวบรวมความเห็น ปัญญาและอุปสรรคในเบื้องต้น (2) มีการศึกษาสภาพจริงเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย กับประเทศไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสยามซีพอร์ท ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ ท่าเรือสงขลา และท่าเรือที่จังหวัดสตูล (3) มีการสัมมนาปฎิบัติการเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ของประเทศไทย ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 (4) มีการสัมมนาเพื่อเสนอร่างยุทธศาสตร์และระดมความคิด แนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยที่ห้องประชุมสภาที่ปรึกษาฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2547 รวมทั้ง (5) มีการวินิจฉัยและรวบรวมข้อมูลโลจิสติกส์ของไทยเบื้องต้น เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์เชิงลึก การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชิงลึกของประเทศไทย ที่จะนำเสนอในรายงานฉบับนี้
3. แนวคิดในการดำเนินงาน
แนวคิดและเป้าประสงค์การพัฒนายุทธศาสตร์ระบบโลจิสติกส์ของคณะทำงานฯ ได้มองประเทศไทย เสมือนหนึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีสินค้าและบริการหลายกลุ่มโดยแยกเป็นกลุ่มตามกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (29 กลุ่ม) กลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มสินค้าบริการ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีต้นทุนที่ต่ำให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ รวมทั้งมีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและทันสมัยมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดี
ถ้ามีองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องโลจิสติกส์ของประเทศ องค์กรนั้นควรจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการพัฒนาให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยศึกษาถึงมาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่มาพิจารณาด้วยและแนะนำยุทธศาสตร์เชิงลึกในมุมมองใหม่ๆ ให้แก่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้ต่อไป
4. ความหมายของโลจิสติกส์
คำว่า”โลจิสติกส์” (Logistic) เป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ในทางทหารได้ใช้กันมานานแล้วโดยใช้คำว่าการส่งกำลังบำรุงหรือพลาธิการที่เรารู้จักกันดีแต่สำหรับในทางธุรกิจส่วนใหญ่รู้จักกันในเรื่องของการกระจายสินค้าและการขนส่ง ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายกิจกรรมของโลจิสติกส์เท่านั้น โลจิสติกส์ทางธุรกิจอาจถูกเรียกได้หลายความหมายแต่โดยภาพรวมแล้วเป็นการบริหารกระบวนการไหล (Flow) ของสินค้าหรือวัตถุดิบ รวมทั้งข้อมูลและการเงิน จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่มีการใช้สินค้าหรือวัตถุดิบนั้น หรือจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคและ สภาการบริหารด้านโลจิสติกส์ (The council of Logistic Management) ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความของการจัดการด้านโลจิสติกส์เอาไว้ว่า“เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประกอบไปด้วย การวางแผน การดำเนินงาน และการควบคุมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการไหลของสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดเก็บสินค้าและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่มีการใช้งาน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการของลูกค้า”กิจกรรมหลักของโลจิสติกส์ประกอบไปด้วย
1)การจัดการคำสั่งซื้อ และการบริการลูกค้า
2)การจัดการสินค้าคงคลัง และการประมาณการ
3)การบริหารการจัดหาวัตถุดิบ
4)การขนส่ง
5)การจัดการคลังสินค้า
หัวใจของโลจิสติกส์อยู่ที่การจัดการองค์รวม และผลลัพธ์สุดท้ายของกิจกรรมทั้งหมด บางครั้งกิจกรรมหนึ่งอาจต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่จะลดค่าใช้จ่ายลงในอีกกิจกรรมหนึ่งในอีกกิจกรรม ผลรวมสุดท้ายคือต้นทุนรวม โดยลดลงหรือต้นทุนต่อหน่วยลดลง
5. สรุปปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทย
ผลจากการประชุมโต๊ะกลมและการสัมมนากับภาครัฐและเอกชนของสภาที่ปรึกษาฯ หลายครั้งสามารถสรุปรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ในช่วงก่อนเดือน ธันวาคม 2546 ได้ดังนี้คือ
- โลจิสติกส์เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ข้าราชการ นักการเมือง และประชาชนทั่วไป ยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่มากนักและมีความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้
- ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรที่มองภาพรวมด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย
- ไม่มีแผนแม่บท(Master Plan) ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
- ไม่มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและการเชื่อมโยงเครือข่ายของระบบข้อมูลโลจิสติกส์และระบบข้อมูลการขนส่งของประเทศ
- ไม่มีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งอย่างเป็นระบบและใช้การขนส่งทาง รถบรรทุกเป็นสัดส่วน
ที่มากกว่าการขนส่งทางอื่นๆ
- ไม่มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทย โดยเฉพาะรายเล็กให้สู้กับบริษัทต่างประเทศ
- ไม่มีการบูรณาการกฎหมายสำหรับโลจิสติกส์โดยเฉพาะและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
มีหลายฉบับ และยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน
- ไม่มีการพัฒนาและสร้างมาตรฐานด้านโลจิสติกส์และการขนส่งอย่างเป็นระบบ
- ไม่มีการใช้ประโยชน์ของจุดขนถ่ายสินค้าชานเมืองและพัฒนาประสิทธิภาพ การใช้งานของ รถบรรทุก
- ค่าใช้จ่ายรวมด้านโลจิสติกส์โดยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศอื่น
- ค่าระวางเรือระหว่างประเทศถูกกำหนดโดยสายการเดินเรือต่างชาติ
6. การดำเนินงานของหน่วยราชการและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์
นับตั้งแต่คณะทำงานการเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม สภาที่ปรึกษาฯ ได้เริ่มกิจกรรมเรื่อง
การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 มีการเชิญภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมเสวนาโต๊ะกลม เพื่อหาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้น ภาครัฐยังไม่มีแผน นโยบาย และเจ้าภาพในเรื่องโลจิสติกส์ กระทรวงคมนาคมดูแลเฉพาะในด้านการขนส่งซึ่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์เท่านั้น คณะทำงานฯ พยายามรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์โดยตรงนั้น พบว่ายังไม่มีและข้อมูลที่มีก็กระจัดกระจายโดยเฉพาะข้อมูล ที่เกี่ยวกับต้นทุนในแต่ละกิจกรรมของโลจิสติกส์ในระดับประเทศ
แต่อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับภาพรวมของโลจิสติกส์ของประเทศไทยว่าจำเป็นต้องมีการพัฒนา เพื่อให้ไม่เสียเปรียบในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ องค์กรตัวแทนภาคเอกชนที่มีกิจกรรมและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากคือ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ
สำหรับในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการ ของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบและการ พัฒนาการของโลจิสติกส์ในต่างประเทศและประเด็นปัญหาการจัดการโลจิสติกส์ของไทย นำเสนอที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 ซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง โลจิสติกส์ของภูมิภาค และมอบหมายให้ สศช. เป็นแกนกลางในการจัดตั้งTask Force เพื่อผลักดันประเด็นสำคัญ 4 คณะด้วยกัน แต่ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบเรื่องโลจิสติกส์โดยตรง เหมือนอย่างประเทศฮ่องกง แต่ให้คณะทำงาน (Task Force) รายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่มีการประชุม ทุกสามเดือน
6.1 คณะทำงานดังกล่าว 4 คณะประกอบไปด้วย
1. คณะทำงานการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ มอบหมายให้ สศช.เป็นเจ้าภาพหลัก
2. คณะทำงานด้านการเชื่อมต่อข้อมูลอิเลคทรอนิค ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ(EDI) มอบหมายให้กระ ทรวง การคลัง โดยกรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพหลัก
3. คณะทำงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักนโยบายและแผน การขนส่งเป็นเจ้าภาพหลัก
4. คณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือเป็นเจ้าภาพหลัก
6.2 ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานทั้ง 4 คณะ
ผลจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อวันที่
18 ธันวาคม 2546 ที่มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปดำเนินการตามกรอบของ แต่ละคณะทำงานได้มีการ
รวบรวมปัญหา และนำเสนอแผนการดำเนินงานพอสรุปได้ดังนี้
6.2.1 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ ข้อมูลโลจิสติกส์ของไทยมีน้อย และขาดความ สมบูรณ์ ข้อมูลมหภาคส่วนใหญ่ที่สมบูรณ์เป็นข้อมูลเฉพาะด้านการขนส่งเท่านั้น การจัดเก็บข้อมูลไม่สามารถ วิเคราะห์ดัชนีที่สำคัญได้ ด้านข้อมูล ของโครง สร้างพื้นฐาน ข้อมูลบางข้อมูลไม่ทันสมัยและไม่เป็นมาตรฐาน
ขาดการเก็บข้อมูลที่สำคัญ ด้านข้อมูลบุคลากรพบว่าไม่มีการเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ และสำหรับกิจกรรม ภาคธุรกิจ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ในแต่ละกลุ่มสินค้าแล้วแต่การสำรวจ ยังไม่ เสร็จสิ้นแผนการดำเนินการใน 1 ปี คณะทำงานตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในกลุ่มข้อมูลมหภาคจะต้องมีต้นทุนโลจิสติกส์ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กลุ่มข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า (Commodity Flow) กลุ่มข้อมูลด้านบุคลากร จะต้องมีข้อมูลอุปสงค์ อุปทานของบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และกลุ่มกิจกรรมภาค ธุรกิจจะต้องมีต้นทุนโลจิสติกส์ในแต่ละอุตสาหกรรม
6.2.2 การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันผู้นำเข้าและส่งออกต้องติดต่อกับ หลายหน่วยงาน เพื่อกรอกเอกสารจำนวนมากและมีการซ้ำซ้อนกันใช้เวลาในการดำเนินการนานคณะทำงานฯ จะดำเนินการติดตั้งระบบเครือข่ายข้อมูล Single Window Entry ที่ศูนย์บริการกลางเพื่อการนำเข้าและส่งออกซึ่งจะเชื่อมโยง เครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเตอร์เนต ระหว่าง กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านระบบ Etracking และ Elicensing ผู้นำเข้าและส่งออกไม่จำเป็นต้องติดต่อหลายกระทรวง ทำให้ลดระยะเวลาของผู้ประกอบการลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของระบบปัจจุบัน
สำหรับระยะต่อไป จะมีการขยายระบบในวงกว้างนอกเหนือจากพิธีการศุลกากรแล้ว ยังมีการขยายไปสู่ เครือข่ายการขนส่ง สายการบิน บริษัทเดินเรือ การท่าเรือ และไปสู่เครือข่ายธุระกรรมการเงิน ได้แก่ ธนาคาร และบริษัทประกันภัย โดยผู้ประกอบการ สามารถใช้บริการผ่านอินเตอร์เนตแบบ Web-base Application Form โดยจะเลือกกลุ่มสินค้านำร่องที่สามารถเห็นผลชัดเจนเพื่อเป็นแม่แบบในการขยายผลต่อไปได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร (ไก่ กุ้ง) และสิ่งทอ ใช้งบประมาณในระยะแรกนี้ 300 ล้านบาท ในเวลา 1 ปี จากงบประมาณทั้งหมด 1,250 ล้านบาทระยะเวลาทั้งโครงการรวม 3 ปี มอบให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการ
6.2.3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ใช้บริการด้านการขนส่งได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วนที่ต้องรับดำเนินการมีอยู่ 5 เรื่อง คือ การขาดความ เชื่อมโยงของเครือข่าย (Missing Link) การใช้ประโยชนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ (Under Utitization) เกิดความแออัดในเส้นทางขนส่ง (Boltleneck) การขาดความชัดเจนด้านกฎระเบียบ เช่น เรื่องพิกัดน้ำหนักรถบรรทุก และมีความซับซ้อนในการจัดเก็บ ภาระการใช้ท่าเรือ
ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงได้จัดทำโครงการระยะเร่งด่วน ที่จุด Gateway ซึ่งจะให้ผลเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดในเส้นทางขนส่งทำการตัดเส้นทางลัดและเชื่อมเครือข่าย ได้แก่ โครงการปรับปรุงสภาพโครงข่ายถนนบริเวณทางเข้าออกศูนย์บรรจุและแยกสินค้ากล่อง ICD (Inland Container Deport) ลาดกระบังโครงการก่อสร้าง ICD แห่งที่ 2 โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องทางจราจรจากแยก อ. แม่จัน - อ.เชียงแสน
6.2.4 การพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ การพัฒนาโลจิสติกส์ของไทย มีปัญหาการขาดแคลน บุคลากรในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน บุคลากร ขาดความรู้เรื่องโลจิสติกส์ ขาดข้อมูลในการวางแผนพัฒนาบุคลากร และผู้ฝึกอบรม ด้านโลจิสติกส์มีไม่เพียงพอ สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปนั้น สิ่งที่ผู้บริหารยังไม่เข้าใจ คือ มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการบริหารโลจิสติกส์ที่ดี พนักงานระดับปฏิบัติการไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้านโลจิสติกส์ และขาดผู้ชำนาญการด้านการออกแบบระบบโลจิสติกส์ ส่วนผู้ให้บริการโลจิสติกส์นั้นยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ ในการให้บริการที่ซับซ้อนที่มีตัวแปรมีขั้นตอนมากเหมือนการบริการในต่างประเทศ
ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ได้มอบหมายให้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสถาบันการศึกษาดำเนินการจัดทำแผนการสร้างบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และสามารถสรุปแผนงานโดยสังเขปดังต่อไปนี้
- แผนงานการสร้างความตื่นตัวและการรู้จักโลจิสติกส์ ในกลุ่มประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา โดยการจัดโครงการประกวดคำแปลและความหมาย ของโลจิสติกส์เป็นภาษาไทย โครงการจัดสัมมนาและนิทรรศการเผยแพร่ ความสำคัญของโลจิสติกส์ในการประกอบธุรกิจและการจัดทำนิตยสารรายเดือนด้านโลจิสติกส์
- แผนงานให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการภาคเอกชน บุคลากร ภาครัฐและเอกชน ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่ง ได้แก่ โครงการ Training for the trainers โครงการฝึกอบรมพื้นฐาน และเชิงลึกการพัฒนาหลักสูตรการเรียนระดับมัธยมศึกษา วิชาชีพและระดับมหาวิทยาลัย
- แผนงานจัดทำข้อมูลสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการ พัฒนาระบบฐานข้อมูลโลจิสติกส์ (Data Warehouse) การศึกษาอุปสงค์อุปทานด้าน บุคลากรโลจิสติกส์ การจัดทำ Benchmarking และ Best Practice การจัดทำฐานข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ของประเทศ
- แผนงานให้คำปรึกษาและแนะนำด้านโลจิสติกส์ (Logistic Clinic) เพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับโลจิสติกส์ จากผู้เชี่ยวชาญที่รัฐช่วยจัดหาให้
- แผนงานสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านโลจิสติกส์ในเชิงลึก โดยการ
ให้ทุนการวิจัยแก่สถาบันการศึกษา และโครงการจัดทำรางวัลด้านการบริหารงานโลจิสติกส์ดีเด่น ระดับชาติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
7. ข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์เชิงลึกของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
ของประเทศไทยเพื่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค 2547-2551
7.1 การดำเนินงานของรัฐบาลที่เหมาะสมแล้วและควรดำเนินการต่อไป
ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ มกราคม - มีนาคม 2547 ได้มีความเคลื่อนไหวและดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับโลจิสติกส์ของประเทศ อย่างมากเป็นประวัติการ เป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและได้รับเป็นเจ้าภาพในเรื่องโลจิสติกส์เอง และเริ่มผลักดันให้เกิดการดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่ครั้งประชุมเมื่อเดือน ธันวาคม 2546
คณะทำงานทางเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม สภาที่ปรึกษาฯ ในฐานะที่เริ่มต้นและเห็น ภาพรวมการพัฒนาเรื่องนี้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เห็นว่ามาตรการทั้งหลายที่คณะทำงาน (Taskforce) ต่างๆ 4 คณะ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ดำเนินการอยู่นั้น เป็นสิ่งที่สมควรทำเป็น อย่างยิ่งและควรเร่งดำเนินการ ตามที่ได้มีการนำเสนอไว้ในที่ประชุม เนื่องจากมาตรการต่างๆ นั้น เป็นมาตรการพื้นฐานแรกเริ่มของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่จำเป็นต้องมี และสอดคล้องกับบางส่วนของยุทธศาสตร์ที่คณะทำงานการเศรษฐกิจฯ ได้เคยนำเสนอไว้ในที่ประชุมและงานสัมมนาต่างๆ ที่ผ่านมาในปี 2546
7.2 ยุทธศาสตร์เชิงลึกการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและโครงการที่ควรมีเพิ่มเติม
จากความคิดเห็นที่รวบรวมได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนา และการประชุมโต๊ะกลมและข้อมูลการดำเนินงาน การพัฒนาโลจิสติกส์ของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงค์โปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น คณะทำงานฯ เห็นว่าการที่ไทยจะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เป็นศูนย์กลางทางภูมิภาคและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้นั้น เพื่อให้ทันกับการพัฒนาของประเทศอื่นที่ทำล่วงหน้าไปแล้วหลายปี จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เชิงลึกที่ได้จากความคิดเห็น ของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการโลจิสติกส์ และการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว จากประเทศต่างๆ
(Best Practice) โดยที่จำเป็นต้องมีหน่วยงานองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง เฝ้าติดตามการพัฒนาดำเนินการ
ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและเป็นองค์รวม รัฐบาลต้องหา Chief Logistic Officer(CLO) ของประเทศไทย มาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ให้สัมฤทธิ์ผล ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก หาก ประเทศไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ0.5 ของ GDP ต่อปี ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินได้ปีละ ประมาณ 30,000 ล้านบาท สามารถนำเงินที่ประหยัดนี้ไปลงทุนในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการและ ยุทธศาสตร์เชิงลึก ที่กำลังเสนอแนะต่อไปนี้ได้อย่างพอเพียงและคุ้มค่าต่อการลงทุน
ดังนั้น เพื่อเป็นการเติมและเสริมมาตรการที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วสภาที่ปรึกษาฯ ขอเสนอยุทธศาสตร์
เพื่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยในเชิงลึก โดยที่รัฐบาลสามารถเลือก ยุทธศาสตร์ และโครงการ ที่เห็นว่า เหมาะสมบางส่วนหรือทั้งหมดนำไปใช้ปฏิบัติต่อไป
วิสัยทัศน์ 2551
ประเทศไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย สะดวก ปลอดภัยและมีต้นทุนที่ต่ำ สามารถแข่งขันได้ในระดับ นานาชาติ และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
เป้าประสงค์
1. เพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยของประเทศลดลง เหลือไม่เกินเฉลี่ยร้อยละ 9 ของยอดขายในปี 2551
2. เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและสะดวก ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
โลจิสติกส์ของภูมิภาค
3. เพื่อแก้ปัญหาพลังงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยด้านการจราจร
4. เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
เป้าประสงค์ที่ 1 เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยด้านโลจิสติกส์ของประเทศลดลงเหลือเฉลี่ย ไม่เกินร้อยละ 9 ของยอดขายในปี 2551 การที่จะบรรลุกับเป้าประสงค์นี้จะต้องดำเนินยุทธศาสตร์และโครงการ ดังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1.1 การปรับปรุงประสิทธิภาพภายในธุรกิจของผู้ประกอบการ
การดำเนินธุรกิจโดยปกติผู้ประกอบการอาจไม่ได้ตระหนักถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ภายในบริษัท หรือต้องการปรับปรุงแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร รัฐบาลควรทำโครงการต่างๆ ต่อไปนี้
- โครงการสำรวจสถานะปัจจุบันของโลจิสติกส์
- โครงการจัดทำคู่มือการคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์และการบริหารงานเพื่อเป็นมาตรฐานการบริหารงานและการคิดต้นทุนแบบเดียวกันทั้งระบบ
- โครงการพัฒนาซอฟแวร์มาตรฐานสำหรับระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจในกลุ่ม ต่างๆ ในราคาถูก
ตัวชี้วัด
- สถานะปัจจุบันของการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์รายอุตสาหกรรม
- จำนวนผู้ใช้มาตรฐานต้นทุนโลจิสติกส์และการบริหาร
- ต้นทุนของโลจิสติกส์รายอุตสาหกรรม
- จำนวนผู้ใช้ซอฟแวร์มาตรฐานสำหรับระบบโลจิสติกส์
ผลลัพธ์
การลดค่าใช้จ่ายโลจิสติกส์ในส่วนที่ควบคุมได้ภายในบริษัทของผู้ประกอบการ
ยุทธศาสตร์ที่ 1.2 การส่งเสริมการร่วมมือด้านการปฏิบัติการระหว่างผู้ผลิต-ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และลูกค้าเพื่อหาทางลดต้นทุนระหว่างบริษัท
การร่วมมือกัน 2 ฝ่าย หรือ 3 ฝ่าย ในสายของห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์เป็นไปได้อย่างจำกัดเฉพาะ
บางกลุ่มบริษัทเท่านั้นรัฐบาลจึงควรยื่นมือเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางและส่งเสริมให้มีการร่วมมือระหว่างกัน เพื่อการ
ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดปริมาณสินค้าคงคลังโดยจัดทำโครงการต่างๆ ต่อไปนี้
- โครงการให้ทุนสนับสนุนการร่วมมือกันด้านการปฎิบัติการโลจิสติกส์ ตามความสำเร็จของการลดต้นทุนระหว่างบริษัท
- โครงการ Pallet Pool เพื่อใช้ Pallet ร่วมกัน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน
- โครงการจัดทำกฎระเบียบและคู่มือเกี่ยวกับการขนถ่ายที่มีประสิทธิภาพ
- โครงการจัดทำมาตรฐานการออกแบบพาเล็ตและมาตรฐานเครื่องมือยกขน ต่างๆ
- โครงการความรวมมือระหว่างผู้ขนส่งด้วยกันการแบ่งน้ำหนักบรรทุก การทำTruckPool ร่วมกัน
ตัวชี้วัด
- จำนวนโครงการความร่วมมือด้านการปฎิบัติการโลจิสติกส์
- ปริมาณ Pallet ในระบบ Pallet Pool
- จำนวนผู้ประกอบการที่ใช้มาตราฐานการออกแบบ pallet
- จำนวนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมและปฎิบัติตามกฎระเบียบ การขนถ่ายที่มี ประสิทธิภาพ
ผลลัพธ์
- การลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างบริษัท
ยุทธศาสตร์ที่ 1.3 การส่งเสริมการขนส่งทางน้ำภายในประเทศและชายฝั่ง
ปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งสินค้าภายในประเทศทางแม่น้ำและชายฝั่งทะเล มีสัดส่วน เพียงร้อยละ 9 ของการขนส่งทุกชนิดซึ่งน้อยมากเมื่อเมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุก ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88 ของการขนส่งทั้งหมด ในการขนส่งแม่น้ำและชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่ร้อยละ 97 เป็นการขนส่งเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมเหลว
สินค้าอื่นๆ ที่สำคัญใช้ระบบนี้กันน้อยมากทั้งๆ ที่ขนได้ครั้งละปริมาณมากๆ และต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางบก ปัญหาอยู่ที่การติดขัดด้านโครงสร้างพื้นฐานบางประการ และไม่ได้มีการผลักดันจากภาครัฐ อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่กระทรวงคมนาคมมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ไว้แล้ว
รัฐบาลจึงควรมีการทบทวนแผนการพัฒนาระบบการขนส่งชายฝั่งของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม พานิชยนาวีที่ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำเมื่อปี 2545 และควรมีมาตรการเร่งด่วนจัดทำโครงการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การขนส่งน้ำและชายฝั่งดังนี้คือ
- โครงการยกปรับระดับความสูงของสะพานในแม่น้ำสายสำคัญให้เรือคอนเทนเนอร์ผ่านได้
ในฤดูน้ำหลาก
- โครงการส่งเสริมการใช้เรือบรรทุกรถยนต์ RoRo ในการขนส่งชายฝั่ง
- โครงการส่งเสริมให้มีเรือสินค้าประจำทางตามเส้นทางที่มีสินค้ามากทั้งชายฝั่งทะเลและแม่น้ำ
- โครงการขุดลอกล่องน้ำที่ตื้นเขินและเชื่อมแม่น้ำบางสาย
- โครงการปรับปรุงท่าเรือให้เป็นจุดกระจายสินค้าและเชื่อมต่อการคมนาคมทางบก และทางอากาศ
- โครงการส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำ
ตัวชี้วัด
- ระยะทางที่เรือคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กสามารถวิ่งในแม่น้ำ
- ปริมาณสินค้าที่ขนโดยใช้เรือบรรทุกรถยนต์ (RoRo) ชายฝั่ง
- ปริมาณสินค้าที่ใช้เรือบรรทุกสินค้าประจำทาง
- จำนวนจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำ
- อัตราการใช้ท่าเรือในแม่น้ำ
- อัตราการเพิ่มของเรือขนส่งชายฝั่ง
ผลลัพธ์
- สัดส่วนการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการขนส่งทางอื่นๆ
ยุทธศาสตร์ที่ 1. 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรถบรรทุกเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ