การลงทุนในสปป.ลาว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 13, 2004 16:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. ภาวะการลงทุนของต่างชาติในสปป.ลาว ตั้งแต่ปี 1988-2002 มีโครงการลงทุนจากต่างชาติแล้วทั้งสิ้น 958 โครงการ เป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,299.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่มีการลงทุนสูง 3 อันดับแรกได้แก่ ไทย มีโครงการลงทุนจำนวน 279 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,674.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 50 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1,500.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลีใต้ จำนวน 59 โครงการ มูลค่าการลงทุน 486.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
การลงทุนของต่างประเทศในสปป.ลาว
หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ
ประเทศ จำนวนโครงการ มูลค่าการลงทุน สัดส่วนมูลค่าการลงทุน (%)
ไทย 277 2,674.40 36.64
สหรัฐอเมริกา 50 1,500.60 20.56
เกาหลีใต้ 59 486.1 6.66
ฝรั่งเศส 103 431.1 5.91
มาเลเซีย 24 287.5 3.94
อื่นๆ 424 1,919.90 26.3
รวม 937 7,299.60 100
ที่มา : คณะกรรมการคุ้มครองการลงทุนร่วมมือกับต่างประเทศและลงทุนภายในประเทศของสปป.ลาว
2. ประเภทกิจการที่ต่างประเทศให้ความสนในลงทุนในสปป.ลาวในปี 1988-2002 ได้แก่
อุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนจากไทย รองลงมาได้แก่ กิจการภาคบริการ และการค้า ซึ่งโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด คือ โครงการผลิตกระแสไฟฟ้า รองลงมา ได้แก่ กิจการโทรคมนาคมและการขนส่ง โรงแรมและการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการผลิต ตามลำดับ
ประเภทธุรกิจที่ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสปป.ลาว
หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ
ประเภท จำนวนโครงการ มูลค่าการลงทุน สัดส่วนมูลค่าการลงทุน (%)
การผลิตกระแสไฟฟ้า 7 4,892.00 67.01
โทรคมนาคมและการขนส่ง 17 638.4 8.75
โรงแรมและการท่องเที่ยว 52 630.3 8.63
อุตสาหกรรมและหัตถกรรม 191 589.4 8.07
อื่นๆ 670 549.5 7.53
รวม 937 7,299.60 100
ที่มา : คณะกรรมการคุ้มครองการลงทุนร่วมมือกับต่างประเทศและลงทุนภายในประเทศของสปป.ลาว
3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยในลาว
รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมระหว่างไทยและลาว อย่างยั่งยืน จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยขอความร่วมมือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย สนับสนุนให้สมาชิกที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไปยังลาว พิจารณาเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าสำเร็จรูปในลาว หรือจัดตั้งโรงงานแปรรูปวัตถุดิบเพื่อส่งกลับมายังไทย เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของลาว ทั้งนี้ ทางภาคราชการได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล กฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้แก่ภาคเอกชน เพื่อผู้ประกอบการจะได้นำไปใช้ประกอบการ ตัดสินใจลงทุน และกระทรวงการคลังยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ได้เท่ากับภาษีเงินได้ที่เสียไปในต่างประเทศ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศลาว โดยผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ โดยโครงการดังกล่าวต้อง มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย เช่น โครงการที่ใช้เครื่องจักรจากประเทศไทย โครงการที่ว่าจ้างผู้รับเหมา ก่อสร้างไทย โครงการที่ใช้วัสดุก่อสร้างจากประเทศไทย ตลอดจนโครงการที่ผลิตวัตถุดิบ หรือพลังงานขายให้แก่ประเทศไทย เป็นต้น
4. นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของสปป.ลาว
4.1 สปป.ลาวมีนโยบายให้การส่งเสริมด้านการลงทุนโดยเฉพาะโครงการที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่ลาวผลิตได้ภายในประเทศ ได้แก่ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป บ่อแร่ และการบริการ ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้ตั้งเป้าหมายว่า การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในลาว ในปี 2544-2548 จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.5-2.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
4.2 ลาวได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศฉบับแรกเมื่อปี 2521 หลังจากนั้นสภาแห่งชาติของลาวได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และประกาศใช้ในชื่อ “กฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของต่างประเทศ (Law on the Promotion and Management of Foreign Investment in the Lao People’s Democratic Republic)” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 โดยปรับปรุงกฎหมายการลงทุนแห่งชาติ เช่น กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ กฎหมายภาษีอากร กฎหมายที่ดิน เป็นต้น เพื่อให้เป็นสากลและเอื้ออำนวยให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแก่นักลงทุนต่างชาติดังนี้
4.2.1 การให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนและทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติ จะไม่ถูกยึด ริบ หรือ โอนไปเป็นของรัฐ เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งนักลงทุนจะได้รับค่าทดแทนคืนโดยเร็วอย่างสมเหตุสมผลและเป็นจริง นอกจากนั้น รัฐบาลยังรับประกันจะไม่เข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจ
4.2.2 นักลงทุนต่างชาติไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน แต่สามารถเช่าที่ดิน (ระยะเวลาเช่าได้ถึง 20 ปี และ 30 ปี จากรัฐ) และสามารถโอนสิทธิและผลประโยชน์จากการเช่าที่ดินได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2542 ลาวได้ออกกฎหมายว่าด้วยการวางผังเมือง (The Town Planning Law) โดยกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เขตที่อยู่อาศัย เขตสำนักงาน เขตการค้า เขตอุตสาหกรรม เขตสวนสาธารณะ เป็นต้น ทำให้นักลุงทุนต่างชาติ ต้องคำนึงถึงแหล่งที่ตั้งโครงการลงทุนให้ถูกต้องตามเขตที่กำหนด
4.2.3 นักลงทุนต่างชาติต้องให้สิทธิแรงงานลาวก่อนแรงงานชาติอื่นในการคัดเลือกเข้าทำงานและสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้กรณีที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือและความชำนาญเฉพาะ และสามารถโอนรายได้ของตนกลับประเทศได้ ภายหลังการชำระภาษีรายได้ในอัตรา 10 %
4.2.4 นักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจได้ในทุกสาขาการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นบางสาขาดังนี้
- สาขาที่ถูกควบคุมและติดตามอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลลาว ได้แก่ สาขาการพลังงาน เหมืองแร่ การนำเข้า-ส่งออก การค้า การโทรคมนาคม และด้านสุขภาพ
- สาขาที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมากเป็นพิเศษ ได้แก่ โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การเกษตร ป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า เหมืองแร่ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อุตสาหกรรมเบา และการบริการ
- สาขาที่รัฐบาลลาวห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุน โดยสงวนไว้สำหรับนักลงทุนลาว ได้แก่ การบริการด้านการทำบัญชี การบริการการท่องเที่ยว ขายปลีก และทำป่าไม้
4.3 รูปแบบของการลงทุน นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในประเทศลาวได้ 2 รูปแบบ คือ
- การร่วมลงทุนระหว่างนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนลาว (Joint Venture) โดยนักลงทุนต่างชาติต้องมีสัดส่วนการลงทุนอย่างน้อยที่สุด 30 % ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
- การลงทุนของต่างประเทศ 100 % (Wholly Foreign-Owned Enterprise)
4.4 รัฐบาลลาว ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและร่วมมือด้านการลงทุน (Committee for Investment Management and Cooperation : CIC) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานเอกเทศ แห่งเดียวที่ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและร่วมมือด้านการลงทุน (CIC) ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ(Foreign Investment Management Cabinet : FIMC) ขึ้น มีหน้าที่พิจารณาขั้นตอนการขออนุญาตของนักลงทุนให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้บริการแบบครบวงจรเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) กล่าวคือ โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลการพิจารณาภายใน 3 สัปดาห์ มูลค่า 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลการพิจารณาภายใน 4 สัปดาห์ และมูลค่า 5-50 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทราบผลการพิจารณาภายใน 12 สัปดาห์
4.5 การลงทุนจากต่างประเทศในลาว จะถูกต้องตามกฎหมาย และจะเริ่มดำเนินกิจการได้ ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะรัฐมนตรีคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ (FIMC) และทำการจดทะเบียนบริษัทกับกระทรวงการค้า (Ministry of Commerce) และได้รับใบจดทะเบียนบริษัท (Enterprise Registration Certificate) ตามข้อกำหนดในกฎหมายธุรกิจ (The Business Law) แล้ว
5. ลู่ทางการลงทุนของไทยในสปป.ลาวที่น่าสนใจได้แก่ การลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเบา เช่น
อุตสาหกรรมแปรรูป สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ควรเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และขนาดกลาง เนื่องจากตลาดลาวเป็นตลาดขนาดเล็กที่ยังไม่อิ่มตัวซึ่งยังมีโอกาสขยายตลาดอีกมาก ดังนั้นนักธุรกิจไทย ควรเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาตลาดสินค้าไทยแล้ว ยังสามารถใช้ลาวเป็นประตูในการ ส่งออกสินค้าไปยังตลาดในจีนตอนใต้ และเวียดนาม
6. จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคในการลงทุนในสปป.ลาว พอจะสรุปได้ดังนี้
- จุดแข็ง (Strength)
สปป.ลาว อยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศอาเซียน และมีพรมแดนติดต่อกับเวียดนามและจีนตอนใต้ ทำให้ไทยสามารถใช้พื้นที่ลาวเป็นทางผ่านในการส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ อีกทั้งลาวเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมในอนาคต
นอกจากนี้ สำหรับไทยในด้านยุทธศาสตร์มีมุมมองว่า สปป.ลาวจะเป็นประเทศกันชนให้กับไทยกับเวียดนาม ซึ่งต่างก็แข่งขันกันในภูมิภาคเอเชีย ดังนี้ สปป.ลาวจึงเป็นเสมือนด่านป้องกันรอบนอกของไทยในการเผชิญหน้ากับเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบบคอมมิวนิสต์
- จุดอ่อน (Weakness)
สภาพที่ตั้งไม่มีทางออกทางทะเล (Landlocked Country)
แรงงานของสปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้ สปป.ลาวยังขาดผู้ประกอบการที่มีความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ ปัญหาด้านภาษีนำเข้า (ประชาชาติธุรกิจ, 2546) การผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศเพียงพอ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และข้าราชการส่วนใหญ่มีการคอร์รัปชั่นสูง (เชาว์ โรจนแสงและคณะ, 2546) ประกอบกับระบบสาธารณูปโภค พื้นฐานของสปป.ลาวยังไม่มีการพัฒนา โดยมีอัตราการกระจายของโทรศัพท์ขั้นพื้นฐานประมาณ 1.52 เครื่องต่อประชากร 100 คน และอัตราการเจริญเติบโตของระบบโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้มีบริษัท LTC เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเชนนิงตันอินเวสเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SATTEL กับรัฐบาล สปป.ลาว ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน (ชินคอร์ป, 2546) ซึ่งทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาลงทุนในลาวได้
ด้านการออม เนื่องจากสปป.ลาวมีการออมในระดับต่ำ คือ ร้อยละ 10 ของ GDP ซึ่งจะเห็นว่า GDP ของลาวร้อยละ 80 นำไปบริโภค ดังนั้นปัญหาในการลงทุนของลาวจึงต้องเอาใจใส่เพื่อให้การออมเพิ่มขึ้น (สุพรรณ แก้วมีไข. 2542)
- โอกาส (Opportunity)
โอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจของสปป.ลาว คือ สปป.ลาวได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (MFN) จากสหรัฐอเมริกา และได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐอเมริกา และยุโรป ในขณะเดียวกัน ลาวมีพรมแดนติดต่อกับไทย จีน เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งเป็นสะพานเชื่อมโยง (Land bridge) ในการติดต่อด้านการค้า (Land Link)
การส่งสินค้าผ่านสปป.ลาวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
- อุปสรรค (Threats)
อุปสรรคของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของสปป.ลาว คือ ตลาดของสปป.ลาว มีขนาดเล็ก ประชากรโดยส่วนใหญ่มีอำนาจในการซื้อต่ำ นอกจากนี้ สปป.ลาวยังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนา รวมทั้งกฎ ระเบียบด้านต่าง ๆ ยังล้าสมัยไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้นักธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุน หรือติดต่อกับลาวมีปัญหาและไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในประเทศลาวจำเป็นที่จะต้องทราบถึงข้อมูลหรือรายละเอียดต่าง ๆ ในการลงทุนที่เกิดขึ้นจากข้อมูลของผู้ประกอบการเดิมที่ได้เผชิญกับสภาพปัญหาซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการลงทุน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในด้านการจัดเก็บอัตราภาษีของสปป.ลาว ในแต่ละแขวงจะมีการจัดเก็บไม่เหมือนกัน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ ทำให้ประเทศคู่ค้าต้องประสบปัญหายุ่งยาก
2. การดำเนินงาน เช่น ปัญหาการสูญเสียตลาดสินค้าบางประเภทให้กับประเทศอื่น ๆ และสปป.ลาวเป็นตลาดขนาดเล็กมีประชากรน้อย ประมาณ 5.5 ล้านคน ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน มีรายได้น้อย มีกำลังซื้อต่ำ สินค้าที่มีลู่ทางการตลาดดีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าราคาถูก
3. ค่าใช้จ่ายนอกระบบ ซึ่งเป็นการค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีทางศุลกากร โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่จะนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาต ต้องอาศัยการนำเข้า-ส่งออกผ่านบริษัทที่มีใบอนุญาตและเสียค่านายหน้าเฉลี่ย 2-3% ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น
4. การค้านอกระบบ ส่งผลกระทบต่อผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของไทย เนื่องจากสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องในระบบไม่สามารถแข่งขันได้ในด้านราคา
5. ความไม่พร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน เพื่อที่จะได้มีข้อมูลในการเข้าไปลงทุนและเตรียมพร้อมกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จ ดังนั้น ปัญหาระบบสาธารูปโภคขั้นพื้นฐานของสปป.ลาวยังไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ เช่น (1) การสื่อสารโทรคมนาคมด้านต่าง ๆ ไม่ทั่วถึง ตลอดจนน้ำประปาที่มีราคาสูง และทำให้เป็นอุปสรรคด้านต้นทุนการดำเนินงาน (2) สภาพเส้นทางการคมนาคมยังมีปัญหา ทำให้การขนส่งสินค้าต้องใช้เวลานาน สินค้าได้รับความเสียหายและแตกหักง่าย (3) ระบบขนส่งสินค้ายังไม่ดีพอ ขาดแคลนรถขนส่งที่มีมาตรฐาน ทำให้การขนส่งสินค้าไม่ทั่วถึง
6. นโยบายของรัฐบาลกับนโยบายของแต่ละแขวง อาจจะไม่สอดคล้องกันได้ในทางปฏิบัติทำให้บางครั้งไม่สามารถขออนุมัติโครงการในการดำเนินงานได้ ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมจากรรัฐบาลกลาง
7. คุณภาพแรงงานต่ำ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ทำให้การดำเนินงานล่าช้า และสามารถทำการผลิตสินค้าได้น้อยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับแรงงานมักจะมีการลดหยุ่นพร้อมกันในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ทำให้การดำเนินการแปรรูปของผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงและสินค้าขาดตลาด
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ