สศอ.ชี้ดัชนีเดือนก.ค.ทรงตัวอยู่ที่129.74 อาหารแปรรูป-น้ำมัน-เหล็กเพิ่มกำลังผลิตรับตลาดเอเซียบูม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2004 16:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

        สศอ.เปิดตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 129.74 ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. (130.51) แต่ยังคงสูงขึ้นร้อยละ 8.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ระบุอาหารแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ ปิโตรเลียม และเหล็ก ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรับตลาดส่งออก ส่วนยานยนต์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่งลดกำลังผลิต เหตุรอประกาศผลการใช้ภาษีสรรพสามิตใหม่ 
นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. ได้จัดทำดัชนีอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2547 จากผลการสำรวจทั้งสิ้น 2,000 โรงงาน ครอบคลุม 50 กลุ่ม อุตสาหกรรม 203 ผลิตภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม พบว่า ดัชนีผลผลิต(มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 129.74 จากเดือนก่อน(130.51) และปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.92 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 135.27 ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.56 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.02 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 135.26 ทรงตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 0.91 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.23
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีผลผลิตอยู่ในระดับทรงตัวเป็นผลจากผู้ผลิตมีการปรับลดการสต็อกสินค้าลงเนื่องจากยังหวั่นปัญหาเรื่องภาวะระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จาก ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 135.53 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.37 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.17 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 118.56 ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 9.79 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.89
สำหรับดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 138.52 ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.51 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.27 และอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ระดับ 61.47 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ร้อยละ 4 ที่อยู่ในระดับ 64.01 แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 โดยอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ยังมีการผลิตในอัตราที่ทรงตัวหรืออยู่ในระดับสูงอยู่ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะ การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ พบว่า ภาวะการผลิตและจำหน่ายมีทิศทางเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน เนื่องจาก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของ ปลาแช่แข็ง และปลาหมึกแช่แข็ง กลุ่มผู้ผลิตแสดงความเห็นว่า ในช่วงปลายปีนี้จะมียอดการสั่งซื้อเข้ามามาก โดยมีตลาดเอเชียเป็นตลาดส่งออกหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น
ส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจาก ปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มสูงขึ้นกว่า 265 ล้านลิตร เพื่อรอการจำหน่ายรองรับแนวโน้มการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของภาวะการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป พบว่า มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ น้ำมันเตา 3 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 73 ล้านลิตร แนฟทา เพิ่มขึ้น 51 ล้านลิตร น้ำมันเครื่องบินส่งออกเพิ่มขึ้น 43.3 ล้านลิตร และน้ำมันเตา 5 เพิ่มขึ้น 41.6 ล้านลิตร เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และจากคุณภาพน้ำมัน ดิบที่ทำให้การกลั่นได้ปริมาณน้ำมันเตาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องหาตลาดต่างประเทศมารองรับ
สำหรับ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กกล้า มีภาวะการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะ เหล็กทรงแบน เหล็กทรงยาว จำพวก เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด พบว่า ภาวะตลาดมีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการขยายตัวในอัตราที่สูง และคาดว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก (เศษเหล็ก บิลเล็ต และสแลป)จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้นจะส่งผลกระทบทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน ที่ผู้บริโภคอาจชะลอคำสั่งซื้อลง
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมบางรายการที่การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์และเครื่องอุปกรณ์เกี่ยวกับถ่ายภาพ เนื่องจาก มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มมากขึ้น การผลิตปูนซีเมนต์ ที่มีภาวการณ์ผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับสินค้าคงคลัง และสำรองไว้เพื่อให้เพียงพอกับการจำหน่ายในช่วงไตรมาส 3 ที่ผู้ผลิตคาดว่า จะสามารถทำยอดจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมผลผลิตลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ พบว่า ภาวการณ์การผลิตและจำหน่ายลดลง เป็นผลจากการรอนโยบายการปรับลดภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลที่ได้ประกาศในวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรอผลก่อนตัดสินใจเพื่อวางแผนผลิต และในส่วนการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่ม ในเดือนกรกฎาคม มีระดับการผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยรวมลดลงจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ในสินค้าน้ำโซดา เนื่องจากใกล้เข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการบริโภคเครื่องดื่มจำพวก แอลกฮฮล์ต่ำกว่าช่วงอื่น ด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ยอดสั่งซื้อลดลง เนื่องจาก อยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล
นางชุตาภรณ์กล่าวเสริมว่า สศอ.ยังได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มดัชนีอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมปี 2547 โดยคาดกาณ์ว่า จะมีทิศทางทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากภาวการณ์ผลิตในกลุ่มวัสดุก่อสร้างชะลอตัว เนื่องจาก ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมหลัก เช่น เหล็ก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น พลาสติก รวมถึง ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ