สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๔

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:20 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๔
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ นาฬิกา
นายวินัย เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายมาตรา ๔ ส่วนของงบกลาง จำนวน ๒๐๐,๑๘๙,๙๘๓,๘๐๐ บาท (สองแสนหนึ่งร้อยแปดสิบเก้าล้านเก้าแสนแปดหมื่นสามพันแปดร้อยบาท) โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และขอถามผ่านไปยังรัฐบาลว่า
๑. ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจร้อยละ ๗ ที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ในระดับเดิมหรือไม่
๒. รัฐบาลเคยสำรวจดัชนีภาระหนี้สินภาคครัวเรือนหรือไม่ ในขณะนี้รายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ ๕.๒ เท่านั้น
๓.งบส่วนกลาง ๕,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับใช้กับเหตุฉุกเฉิน ได้จัดทำแผนงานการใช้งบไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร
๔. การตั้งงบโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น ๑,๐๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๗ นำไปใช้อะไรบ้าง
ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
๕. การแปลงสวนยางเป็นทุน ๔๕ ล้านบาท ดำเนินการไปมากน้อยเพียงใด ประชาชนได้รับ
ประโยชน์จำนวนกี่ราย
๖. การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาการตัดถนนสู่ภาคใต้ ๔๕ ล้านบาท ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด
๗. โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียน จำนวน ๑,๗๖๕ ล้านบาท ไม่มีแผนงานโครงการรองรับ
ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมในต่างประเทศได้ จนทำให้ต้องเสียทรัพยากรบุคคลไป
๘. โครงการไทยแลนด์ พริวิลเลจ การ์ด และโครงการส่งเสริมศักยภาพแรงงานไทยไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังมีการเรียกเก็บค่าหัวคิวอยู่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นโครงการที่ไม่มีแบบแผนและนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งการจัดงบประมาณนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร
สำหรับค่าใช้จ่ายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี ๒๕๔๗ งบกลางตั้งไว้ ๘,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและในปี ๒๕๔๘ รัฐบาลยังตั้งเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นการคิดแก้ไขปัญหาแบบนายทุน และนักธุรกิจ โดยการตั้งงบประมาณดังกล่าวเป็นการสร้างภาระผูกพันให้กับประชาชนในอนาคตทำลายระเบียบการเงินการงบประมาณ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา ๔ งบกลาง โดยได้แสดงความเห็นถึงการจัดตั้งงบกลางในรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ไม่เคยตั้งงบกลางไว้จำนวนมากมายอย่างนี้ และการนำไปใช้จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วนและจำเป็น โดยการใช้งบจะอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยการรับทราบของคณะรัฐมนตรี แต่ในปัจจุบันการตั้งงบกลางเปลี่ยนแปลงไปมากใน ๔ ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี และปี ๒๕๔๘ กว่าร้อยละ ๘๐ ของงบกลาง เป็นงบลงทุนที่ไม่มีเอกสารรายละเอียดโครงการและแผนงานประกอบที่ชัดเจน โดยกรรมาธิการก็ได้แต่เป็นห่วงเรื่องวินัย การเงิน การงบประมาณที่อาจจะเสียไป
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในมาตรา ๔ งบกลาง คือ การไม่รักษาวินัยการเงิน การคลัง การงบประมาณของรัฐบาล มีการโยกงบประมาณจากหมวดหนึ่งไปยังอีกหมวดหนึ่ง โดยไม่มีรายละเอียดประกอบเขียนไว้แต่เพียงว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งไม่สามารถจะพิจารณาอะไรได้เป็นการซุกเงินงบประมาณไปใช้อย่างไม่โปร่งใส เช่น กรณีจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๔๗ ถึง ๗๙๘ ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างถนนในหมู่บ้านเพียงครั้งเดียว โดยอยากชี้ให้เห็นว่าวิธีการอย่างนี้ใช้ไม่ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ