สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๘

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:25 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๘ สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ นาฬิกา จากนั้น นายเจือ ราชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการขอตัดงบกลางลงร้อยละ ๑๕ ด้วยเหตุผลดังนี้ ๑. การใช้งบส่วนนี้จำนวน ๑๖,๑๐๐ ล้านบาท เพื่อการจัดแสดงสินค้า ณ จังหวัดเชียงใหม่ เหตุใดตั้งงบให้ทุกปี ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้รับการจัดสรรทั้งที่มีความต้องการเงินงบประมาณเพื่อการนี้เหมือนกัน ๒. โครงการจักรยานเอื้ออาทร จำนวน ๔๐๐ กว่าล้าน ควรตั้งเป็นงบปกติจะดีกว่าการตั้งเป็นงบกลาง ๓. การจัดสร้างศูนย์ส่งเสริมและกระจายสินค้าขนาดกลางและขนาดย่อยภาคเหนือเหตุใดต้องสร้างใหม่ ขณะที่มีสถานที่เดิมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว จึงขอให้ทำการสำรวจทบทวนด้วย ต่อมา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายการเสนอตัดลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ จำนวน สองแสนกว่าล้านบาทนั้น รัฐบาลจะใช้เพื่ออะไรบ้าง และการให้พม่ากู้ EximBank จำนวนสี่พันล้านบาทนั้นใช้ หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาให้กู้ โดย นายวราเทพ รัตนากร ได้ตอบชี้แจงว่า การตั้งงบกลางนั้นถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณมาโดยตลอด เพื่อใช้เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินจำเป็นของข้าราชการและหน่วยงาน โดยไม่ได้ระบุไว้ในกระทรวงหรือทบวงใด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มักสงสัยในส่วนที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศอย่างยั่งยืนนั้น ขอให้คลายกังวลได้ เพราะยังคงใช้ระเบียบวิธีงบประมาณเหมือนเดิมจึงตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังชี้แจงเพิ่มเติมคือ ๑. การตั้งงบกลางจะสะดวกต่อการใช้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ถ้าหากการกระจายงบไปอยู่ในกระทรวง ใดกระทรวงหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จะมีความยุ่งยากไม่ทันกับเวลาและเหตุการณ์ ๒. รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ของโลก ๓. การตั้งชื่อโครงการแตกต่างกันแต่ละปีนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ทั่วไป และวัตถุประสงค์หลัก ประกอบกับภาวะความจำเป็นและฉุกเฉินของแต่ละเหตุการณ์ ๔. การใช้งบประมาณหรือวินัยตั้งการเงินการคลังนั้นรัฐบาลจะพิจารณาทั้งรายรับและรายจ่ายประกอบกันเสมอ ๕. การผูกพันงบประมาณได้จัดทำตามกฎหมายที่สภาฯ อนุญาตให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจกระทำได้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ๖. บางโครงการสมาชิกเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล เช่น การซื้อเครื่องบิน ปืน นั้น ในความเป็นจริงต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทุกโครงการอยู่แล้ว ๗. ส่วนการจัดงบลงจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นเพราะศักยภาพความพร้อมของจังหวัดนี้เอง มิใช่เพราะนายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. เชียงใหม่ ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตมีโครงการจัดสร้างศูนย์แสดงสินค้า เช่นเดียวกันแต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของพื้นที่จึงต้องยุติโครงการไป ๘. การจัดซื้อเครื่องบินพระที่นั่ง รัฐบาลถือเป็นเรื่องด่วนอยู่แล้ว ๙. ทุกโครงการของรัฐบาลหากฝ่ายค้านสงสัยสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ต่อมา นางลาวัณย์ ตันติกุลพงษ์ กรรมาธิการตอบชี้แจงเกี่ยวกับ ๑. ค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่ตั้งเพิ่มงบ ทั้งที่มีการปรับลดจำนวนข้าราชการลงนั้น เนื่องจากต้องการกำหนดมาตรการและปรับปรุงพัฒนาระบบราชการ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนสี่หมื่นสองพันห้าร้อยห้าสิบล้านบาท แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ๑. เงินปรับขึ้นเงินเดือน ๒. ค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและเป็นประสิทธิภาพการทำงานและสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ ๒. การรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง นั้นตั้งงบไว้เฉลี่ย ๓,๗๘๑ บาทต่อคนต่อปี ซึ่งในความเป็นจริงข้าราชการ ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายนี้มิได้ใช้สิทธิเบิกทั้งหมด ในขณะที่โครงการ ๓๐ บาท ตั้งงบเฉลี่ยไว้เพียง ๑,๓๐๘ บาทต่อคนต่อปี ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายการตัดงบกลางตามมาตรา ๔ ทั้งหมดนั้น เพราะ รัฐบาลไม่สามารถแจงรายละเอียดการจะใช้งบให้ทราบได้ รวมทั้งมีการเปลี่ยนเหตุผลในการขอตั้งงบกลางทุกปี ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการตั้งงบการเมือง นายวินัย เสนเนียม ถามกรรมาธิการเพิ่มเติมดังนี้ ๑. การตั้งงบกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ - ๒๕๔๗ จำนวนหนึ่งแสนกว่าล้านบาทนั้น ขณะนี้เบิกจ่ายแล้วหรือยังและเหลืออยู่เท่าไหร่ ๒. งบการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้แปดพันล้านบาทนำไปใช้อะไรบ้าง เหตุใดสถานการณ์ภาคใต้ยังรุนแรงอยู่ ๓. งบประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความยากจน นำไปแจกชาวบ้าน ๑,๐๐๐ บาทต่อคน ใช่หรือไม่ นายวราเทพ รัตนากร ตอบชี้แจง คำถามของนายวินัย เสนเนียม ในข้อ ๑-๓ นั้น ได้จัดทำ ไว้ในเอกสารแล้วขอมอบให้ไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประหยัดเวลาของสภาฯ สำหรับกรณี ๑. การจัดซื้อเครื่องบินพระที่นั่งนั้น รัฐบาลถือเป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้ว ๒. การตั้งงบกลางของรัฐบาลนั้นอยู่บนพื้นฐานการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ๓. การเดินทางเยือนจังหวัดต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรีนั้น มิใช่การตัดสินใจอนุมัติงบประมาณของนายกรัฐมนตรีคนเดียว หากแต่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีเหมือนเรื่องอื่น ๆ เช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ