ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 13, 2004 13:46 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ
1. ความเป็นมา
การดำเนินการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และแผนพัฒนาการศึกษาในระดับต่างๆ พบว่า ถึงแม้จะได้มีความพยายามของรัฐในการปฏิรูปการศึกษามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาให้เป็น เครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมระหว่างคนในชาติค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากนโยบาย การพัฒนาประเทศในแนวทางทุนนิยมเสรีมีลักษณะล้าหลัง ปัญหานี้เกิดจากทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การเปิดเสรีให้ต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีทางการเงินและการเปิดเสรีในภาคบริการอื่น ซึ่งจะรวมทั้ง การศึกษาด้วย
ปัจจัยภายในเป็นปัจจัยอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นผลจากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ระบบอุปถัมภ์ที่เคยมีอยู่เดิมในสังคมไทยที่อยู่บนพื้นฐานความเมตตากรุณาของผู้มีบุญบารมีต่อผู้น้อยได้ถูกทำให้เปลี่ยนไปเป็นการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า ประกอบกับการที่เคยเป็นสังคมที่มีการสั่งการจากบนลงล่างอันเกิดจากอำนาจนิยมในอดีต ทำให้ผู้บริหารประเทศที่ไม่สามารถจำแนกได้ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ ส่วนรวมและส่วนตัวตัดสินใจโดยไม่รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายอย่างเพียงพอ
แม้ว่าเศรษฐกิจการเมืองไทยจะพัฒนาเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงสร้างความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษาระหว่างประชาชนกลุ่มที่มีฐานะและสภาพแวดล้อมต่างกันอย่างมาก การจัดการศึกษาทั้งเป็นปัญหาในตัวเอง และทั้งไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้อย่างดีเพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหายุทธศาสตร์การจัดการศึกษาใหม่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาไปสู่แนวทางที่พึงปรารถนาในอนาคต
2. การดำเนินงาน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้ศึกษาในประเด็นดังกล่าวข้างต้น โดยใช้วิธีการศึกษาที่หลากหลายเพื่อให้ได้ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วน จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน นักการเมือง นักการศึกษา นักเรียน นักศึกษา นำมาประมวลจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ
2.1 การศึกษาจากเอกสารที่มีผู้ศึกษาไว้แล้ว ได้แก่ หนังสือ งานวิจัย บทความวิชาการ บทสัมภาษณ์ และข้อเสนอและความเห็นจากการสัมมนาที่จัดทำโดยคณะทำงานการศึกษาฯ
2.2 การศึกษาข้อเท็จจริงและระดมความคิดเห็นจากภาคีต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั้ง 4 ภาค เกี่ยวกับปัญหาของชุมชนที่เกิดจากการศึกษา ปัญหาของการจัดการศึกษา สาเหตุของปัญหา ความต้องการของประชาชน และข้อเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษา รวมทั้งนำข้อมูลต่างๆ มาประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดทำเป็นรายงานผลการวิจัยเรื่อง ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ
2.3 การจัดประชุมสัมมนา เพื่อรับฟังความเห็นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งใน เขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ในผลงานการวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. เป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ
ยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่จะให้ได้ผล คือ การเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจสภาพสาเหตุและทางออกของปัญหาการจัดการศึกษา และเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา จนถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการด้วย ตนเอง หรือให้สนับสนุนอย่างแข็งขันที่จะให้มีรัฐมนตรีและผู้บริหารการศึกษาที่เข้าใจปัญหาและสามารถปฏิรูปการศึกษาได้จริงและได้ผล การกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา เพื่อการพัฒนาประเทศควรเป็นไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่สามประการ คือ
3.1 เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองและสังคมอย่างมีคุณภาพในโลกที่ เปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
3.2 เพื่อให้การศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการในการยกฐานะและพัฒนาตนเองของประชาชนได้อย่างทั่วถึง
3.3 เพื่อให้การศึกษาผลิตคนที่มีปัญญา ประกอบด้วยจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม สามารถนำความรู้และจิตสำนึกที่เป็นประโยชน์ ไปใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เพิ่มความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคตได้
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
การปฏิรูปการศึกษาเพื่อผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว จึงต้องสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงการปรับรื้อระบบโครงสร้างของการได้มาและการพัฒนาผู้บริหารและครูที่มีกรอบคิดแบบใหม่ และการเรียนการสอนแบบใหม่เพื่อให้นักเรียนใฝ่รู้ สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี
การปฏิรูป“การศึกษา”หมายถึง การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของคนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงการ ส่งเสริมพัฒนาทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม เพื่อทำให้คนมีปัญญาที่ประกอบกับมีจิตสำนึกสาธารณะมากขึ้น นั่นก็ คือ มุ่งสร้างคนทั้งเก่ง คนดีที่มีการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย ปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม ตลอดจนจิตสำนึกมากพอที่จะไปแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านต่าง ๆ และพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแยบยลและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล การจัดการศึกษาที่ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพและมีจิตสำนึกควบคู่กันไปด้วย จะช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความเป็นจริง สามารถร่วมมือกันในการรักษากฎหมายและช่วยกันดำเนินการเข้าใจปัญหาของตนและของกลุ่มที่ตนสังกัด รวมทั้งผลักดัน ตรวจสอบให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเสมอภาค การจัดการศึกษาให้สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ ๆ ที่ได้ตั้งไว้ทั้งสามประการจะได้รับผลสำเร็จจากการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงนั้น สามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาโดยสรุปมี 7 ประการดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง คือ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันดับแรก โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ครูที่มีความรู้ความสามารถในทางวิชาการที่ลึกซึ้ง มีเจตคติที่ดีต่อความเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพครู เป็นครูอาชีพที่มีจรรยาบรรณของความเป็นครูที่ดี และมีทักษะในการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพทันสมัย มีวิสัยทัศน์ในการเรียนรู้ที่กว้างไกล
ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยและการศึกษาพื้นฐานให้สามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายต่าง ๆ และมีหลักสูตรยุทธศาสตร์พื้นบ้านประยุกต์ของแต่ละท้องที่ ซึ่งช่วยให้กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของศักยภาพแต่ละคนที่มีอยู่เดิมที่มีความแตกต่างกัน
ยุทธศาสตร์ที่สาม คือ สนับสนุนและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาให้ประชาชนทั่วประเทศได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยการนำการศึกษาที่มีรูปแบบที่หลากหลายสะดวกแก่ผู้ที่ประสงค์จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องและสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณสนับสนุนการสร้างระบบเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง เสริมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ ทันสมัย
ยุทธศาสตร์ที่สี่ คือ ปฏิรูปการศึกษาด้านการมีส่วนร่วมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ประชาชน ชุมชน และเอกชนในการจัดการศึกษา ซึ่งมีความหมายทั้งหมดสามนัยยะด้วยกัน นัยยะแรกเป็นการดึงส่วนต่าง ๆ ของสังคมให้มาร่วมจัดการศึกษามากขึ้น โดยเน้นความรู้และความสามารถของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก นัยยะที่สองเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมที่สำคัญในการสร้างความหลากหลายในรูปแบบและเนื้อหาของการศึกษา ในกรณีนี้ภาคต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมอาจจะต้องสนับสนุนทรัพยากรบางส่วน และจะต้องได้รับ การสนับสนุนจากรัฐบางส่วนหรือเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนัยยะสุดท้ายเป็นการระดมทรัพยากรจากกลุ่มเหล่านี้ ในอดีตประเด็นนี้มักจะได้รับการเน้นเป็นพิเศษ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังสำคัญน้อยกว่า การมีส่วนร่วมในสองนัยยะแรก แต่ทั้งนี้เด็กจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การดูแลโรงเรียนเพื่อให้เกิดความรักในโรงเรียน และมีความสุขเมื่ออยู่ในโรงเรียน
ยุทธศาสตร์ที่ห้า คือ ปรับทิศทางของการฝึกอบรมและการจัดการทางด้านอาชีวศึกษา โดยให้เป็นการอาชีวศึกษาที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง และเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถพัฒนาทักษะที่ใช้งานได้และอย่างต่อเนื่อง โดยมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันศึกษาและสถานประกอบการ มีระบบที่จะให้การรับรองจัดอันดับทักษะของการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านสถาบันอาชีวศึกษาที่เป็นทางการ มีการเทียบความรู้และวุฒิบัตร เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้และทักษะทางด้านการประกอบอาชีพในแขนงต่าง ๆ สามารถได้รับค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่หก คือ ปฏิรูประบบอุดมศึกษาโดยเริ่มจากการปฏิรูประบบการสอบคัดเลือก เข้าสถาบันอุดมศึกษาที่จำกัดรับ ด้วยวิธีการวัดผลที่วัดความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และความพร้อมที่จะเรียนต่อ แทนการวัดการท่องจำ ถัดมาคือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นคุณภาพและการสนองความต้องการของประเทศมากกว่าการขยายการศึกษาในเชิงปริมาณที่ขาดคุณภาพเพื่อหวังผลทางการเงิน ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างกว้างขวาง
ยุทธศาสตร์ที่เจ็ด คือ ปฏิรูปการบริหารทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา โดยจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเกิดความเป็นธรรมและทั่วถึง เช่น เน้นการจัดสรรให้ทุกคนได้เรียน ชั้นปฐมวัยที่มีคุณภาพ เพื่อได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับสูงขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพส่วนการศึกษาที่สูงกว่านั้นได้แก่ อาชีวศึกษา จะต้องเน้นให้เป็นการศึกษาที่สามารถประกอบอาชีพได้จริงจะได้ลดความสูญเปล่าจากการจัดการศึกษาประเภทนี้ ซึ่งจะต้องเป็นลักษณะการฝึกปฏิบัติที่สามารถสร้าง รายได้แก่สถานศึกษาและแก่ตัวนักเรียนเอง ประกอบกับเน้นความรู้ทางทฤษฎีเสริมความรู้ภาคปฏิบัติให้ เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มีการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนระดับอุดมศึกษาควรจัดสรรงบประมาณตามนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐ และเน้นการพัฒนาท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ พร้อมกับต้องสนองความต้องของตลาดแรงงานเป็นสำคัญ
ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในด้านต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม มีข้อเสนอเป็นเจ็ดด้านมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
4.1 ยุทธศาสตร์การบริหารและการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
4.1.1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูเพื่อสอดรับกับการปฏิรูปการศึกษา
1) เร่งรัดให้สถาบันผลิตครูและหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ กำหนดรูปแบบหลักสูตร การผลิตครูแนวใหม่เพื่อที่จะเน้นการคัดเลือกและฝึกอบรมผู้จะเป็นครูอย่างเข้มข้น
2) เร่งสนับสนุนแผนการปฏิรูปสถาบันผลิตครู โดยเฉพาะในด้านการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาให้เป็นรูปธรรม สนับสนุนแผนพัฒนาคณาจารย์ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์
3) จัดตั้งหรือส่งเสริมหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้คะแนนและจัดอันดับสถาบันที่ผลิตครู โดยสถาบันที่ได้คะแนนประเมินต่ำ ต้องเร่งปรับปรุงตัวเอง ลดการรับนักศึกษา หรือแม้แต่ควรจะถูกยุบหรือเลิกผลิตครู
4) เร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาครูขาดแคลนด้วยวิธีเร่งด่วน เช่น การจัดหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรเร่งรัดเพื่ออบรมผู้ที่จบปริญญาสาขาอื่นมาศึกษาต่อยอดในวิชาชีพครู การจ้างครูที่เกษียณอายุและผู้มีประการณ์และความรู้ทันสมัยให้ปฏิบัติหน้าที่ในการให้คำแนะนำอบรมแก่ครูรุ่นใหม่เป็นรายปี
5) สนับสนุนให้คนเก่งเข้ามาเรียนครูมากขึ้น เช่น กำหนดทุน/โควตาตามจังหวัด/สาขาวิชาให้แก่ผู้ประสงค์จะเรียนครู รวมทั้งเร่งปรับค่าตอบแทน และแรงจูงใจอื่น ๆ
4.1.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพครูที่มีอยู่เดิม
เร่งสนับสนุนให้มีการพัฒนาครูประจำการด้วยระบบเครือข่าย โดยใช้เครือข่ายครูผู้นำ/องค์กร/ชมรม/สมาคมครูในเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินงานด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย อาทิ
1) สถาบันอุดมศึกษาร่วมพัฒนาครูในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายผู้บริหารและครูประจำการตามเขตพื้นที่การศึกษา และมอบให้สถาบันอุดมศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา รับผิดชอบการพัฒนาและติดตามประเมินผล รวมทั้งลดภาระหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เพื่อให้ครูได้ทำการสอนอย่าง แท้จริง
2) สนับสนุนให้มีโครงการพิเศษในการสรรหาครู ในลักษณะโครงการครูอาสาสมัครหรือโครงการขนาดเล็ก โดยมีองค์กรต่าง ๆ และภาคเอกชนเข้ามาร่วม
3) เร่งพัฒนาครูประจำการ โดยมีระบบสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ระบบการให้คูปองสำหรับครูไปเข้ารับการฝึกอบรม e-learning และการเรียนรู้ทางไกล (distance learning) รวมถึงการพัฒนาครูในสาขาที่ขาดแคลน และต้องกำหนดเกณฑ์การอบรมครูที่ชัดเจนเพื่อให้ครูทุกคนต้องได้เข้ารับการอบรม
4) กำหนดวิธีการดำเนินการที่ชัดเจนกับครูอัตรารับจ้าง จะต้องมีการประเมินครูอัตรารับจ้างว่าสมควรที่จะได้รับการพัฒนาเป็นครูปฏิรูปหรือควรจะเลิกจ้างในที่สุด
5) เร่งรัดให้มีระบบการติดตามผลการปฏิบัติงานที่เข้มข้น การเลื่อนวิทยฐานะครูให้เป็นไปตามผลการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง มีแรงจูงใจให้ครูได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากเงินเดือน เช่น วิทยฐานะ เงินค่าตอบแทนอันเนื่องจากมีชั่วโมงสอนเกินเกณฑ์ เงินค่าตอบแทนครูที่สอนในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
6) ให้มีประชาสังคมในพื้นที่มีส่วนร่วมประเมินครู เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบ การทำงานของครูในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง อันเนื่องจากผลการศึกษาของบุตรหลานของพวกเขา ประชาสังคมในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อครูเพื่อการสนับสนุนครูที่ดีและมีมาตรฐานใน การสอนสูงและสามารถชี้ข้อบกพร่องของครูได้
4.1.3 ยุทธศาสต์การกระจายครูเก่งอย่างทั่วถึง ต้องจัดให้ครูได้สอนตามวุฒิการศึกษา และครูที่สอนระดับปฐมวัยต้องมีความรู้ ความเข้าใจในจิตวิทยาเด็ก มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้บริหาร ครู ให้แต่ละ โรงเรียนมีผู้มีความรู้ความสามารถใกล้เคียงกัน โรงเรียนเล็ก ๆ ควรมีโอกาสได้ครูเก่ง ๆ ด้วย นอกจากนี้ควรมีงบประมาณเฉพาะสำหรับให้แต่ละโรงเรียนสามารถจ้างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษมาบรรยายเป็นกรณีพิเศษได้ด้วย
4.2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนและการปฏิรูปการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4.2.1 รณรงค์การปฏิรูปการจัดการศึกษาปฐมวัยในฐานะที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ ควรจัดตั้งหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยเพื่อฝึกอบรมและพัฒนาครูอนุบาล ให้การศึกษาบิดามารดาและผู้ปกครอง กำหนดมาตรฐานครูในสถานศึกษา กำหนดหลักสูตรและวิธีการให้บริการ สนับสนุนการจัดการศึกษาปฐมวัยที่บ้านและชุมชน ตรวจสอบดูแลและช่วยพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษาปฐมวัยทุกแห่งให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
4.2.2 สร้างความพร้อมและความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้แก่ครูและ ผู้บริหาร โดยการจัดตั้งคลังหลักสูตรและศูนย์กลางการปฏิรูปการเรียนรู้ที่โรงเรียน เพื่อให้ครูและผู้เรียนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สะดวก ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและสถานศึกษาจากองค์กรต่าง ๆ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย
4.2.3 ทบทวนโครงสร้าง สาระของหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ หลักสูตรแกนกลางควรมีวิชาหลักน้อยวิชา เช่น เพียงห้าวิชาแต่เรียนให้เข้าใจแบบเชื่อมโยงทั้งระบบอย่างลึกซึ้ง และมีหลักสูตรท้องถิ่นและวิชาเลือกและวิชาชีพในสายสามัญที่หลากหลาย รวมทั้งให้ความสำคัญกับสาระความรู้หลักเท่ากับ การเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ ศักยภาพในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับวัย วุฒิภาวะ ความสนใจของผู้เรียน
4.2.4 ส่งเสริมเร่งรัดพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในอำเภอรอบนอกและโรงเรียนในเมืองที่ไม่มีชื่อเสียงให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับโรงเรียนมีชื่อเสียง โดยการสนับสนุนด้านทรัพยากรเพิ่มขึ้นและการส่งศึกษานิเทศก์และครูที่มีความรู้ความสามารถสูงเข้าไปช่วย และให้แรงจูงใจแก่ครูที่เข้าไปช่วยและครูประจำการที่พยายามพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง คือ สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ควรกำหนดส่วนแบ่งส่วนหนึ่งในการรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากจน เพื่อให้นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับสูงได้มากขึ้น
4.3 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4.3.1 สร้างหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยปรับบทบาทของ การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ให้เป็นองค์กรกึ่งรัฐที่มีอิสระและความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่าหน่วยราชการปกติ โดยลดบทบาทด้านการจัดการศึกษาเอง และเพิ่มบทบาทเป็นผู้จัด และอำนวย ความสะดวก (Provider & Facilitator) ส่งเสริม ประสาน เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ
4.3.2 สนับสนุนและเร่งรัดการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ เช่น ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาองค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมจัดรายการเพื่อการเรียนรู้ของประชาชนเพิ่มขึ้น สนับสนุนและลดหย่อนภาษีเพื่อให้สื่อต่าง ๆ สร้างสรรค์รายการที่ช่วยให้ประชาชนมีความรู้ที่จำเป็น และมีประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตและความก้าวหน้าของวิชาความรู้เชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดโครงข่ายการบริการการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
4.3.3 ส่งเสริมการเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย พัฒนามาตรฐานการศึกษาและเกณฑ์การเทียบโอนความรู้ ประสบการณ์ และการเทียบระดับการศึกษาในกรณีที่ผู้ต้องการเทียบโอน และมีมาตรฐานเท่าเทียมกับการศึกษาในระบบ เพื่อให้ผู้เรียนมีศักดิ์และสิทธิ์ เท่าเทียมและเทียบกันได้
4.3.4 ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตบูรณาการเข้าเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน รัฐต้องส่งเสริมให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยมีมาตรการดังนี้
1) ส่งเสริมให้ทุกชุมชนจัดทำแผนการศึกษาของชุมชนโดยเป็นส่วนขยายจากแผนแม่บท (เพื่อการพัฒนา) ชุมชน แผนนี้จะรวบรวมความต้องการการศึกษาของสมาชิกในชุมชน ซึ่งควรจะมีการระบุว่าสมาชิกของชุมชนในแต่ละช่วงวัยต้องการหรือควรได้เรียนรู้ในเรื่องใด จะมีกระบวนการเรียนรู้อย่างไร
2) จัดให้มีการสำรวจและจัดการระบบข้อมูลแหล่งเรียนรู้ (MIS) เพื่อเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และจัดการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายต่ำ
4.3.5 การจัดสรรงบประมาณที่มุ่งกระจายการศึกษาให้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
รัฐควรกำหนดทิศทางในการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งกระจายอำนาจในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยให้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง โดยมีมาตรการสำคัญ ๆ ดังนี้
1) ผลักดันนโยบายและโครงการที่เอื้อให้เกิดโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบเกี่ยวกับงบประมาณการเงิน
2) จัดให้มีกองทุนสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน (Learning Fund) ในลักษณะเงินอุดหนุน เพื่อให้จัดกิจกรรมการรวมกลุ่มของประชาชนในชุมชนเพื่อการเรียนรู้ โดยให้มีการระดมทุนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น รายได้จากการบริจาดของประชาชน และรายได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชน/ท้องถิ่น พร้อมทั้งให้มีการแก้ไขกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวให้สอดคล้องกับกิจกรรมและกลุ่มเป้าหมายได้สะดวก
4) อุดหนุนการเสริมความรู้ให้แก่ผู้ที่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องออกจากการศึกษาขั้นพื้นฐานกลางคัน ด้วยเหตุผลของการหารายได้เลี้ยงตนเองหรือครอบครัวหรือด้วยเหตุผลอื่นใด แต่ประสงค์จะเรียนรู้ต่อไป รัฐควรให้การอุดหนุนในรูปคูปองเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มคนจนและผู้ด้อยโอกาส กลุ่มที่ต้องทำงานหรือคนที่ไม่สามารถเรียนในระบบ 12 ปีได้ ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
4.4 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาด้านการมีส่วนร่วมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ประชาชน ชุมชน องค์กรศาสนาและเอกชนในการจัดการศึกษารัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ประชาชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาเป็นสัดส่วนสูงขึ้น เพื่อจัดให้เกิดการศึกษาทางเลือกที่หลากหลาย โดยมี ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ
4.4.1 การทบทวน ปรับปรุง แก้ไข และการออกนโยบาย กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ
1) เร่งกำหนดมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา โดยเร่งทบทวนกฎระเบียบและแนวปฏิบัติต่าง ๆ พร้อมทั้งกำหนดกลไกและแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่น การอนุญาตให้ภาคเอกชนจัดตั้งสถานศึกษาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นการสนับสนุนด้านการเงินและวิชาการ เป็นต้น
2) ปรับปรุงเกณฑ์ประเมินความพร้อมจัดการศึกษา โดยเร่งแก้ไขปรับปรุงร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น หลักการและเหตุผล เกณฑ์การผ่านการประเมิน การปรับปรุงเงื่อนไขการถ่ายโอนการจัดการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นปฏิบัติได้ตามสถานการณ์ความเป็นจริงที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
4.4.2 ส่งเสริมให้องค์กรทางสังคมและประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมจัดการศึกษา
1) สนับสนุนการจัดการศึกษาแก่องค์กรทางศาสนาเป็นพิเศษ องค์กรทางศาสนาที่จัดการศึกษา แต่มีปัญหาทางด้านการเงินและวิชาการควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่
2) ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการ ควรร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิต่าง ๆ เร่งดำเนินการจัดให้มีระบบและกลไกในการให้ความรู้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรและบุคคลที่อยู่ในความดูแล เพื่อส่งเสริมความพร้อมในตัวเองพร้อมทั้งมีการเริ่มกระบวนการการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก
4.5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการอาชีวศึกษาและฝึกอบรม
4.5.1 การปรับทิศทางและแนวทางการจัดการอาชีวศึกษาแนวใหม่
1) ระบบการเรียนรู้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับการมีงานทำ โดยทำให้ระบบการเรียนมีความ ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ทุกคนประกอบอาชีพและสามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และจัดระบบ รับรองประสบการณ์การทำงานของบุคคลและระบบสะสมหน่วยการเรียน เพื่อนำไปใช้ในการกำหนด คุณวุฒิวิชาชีพได้
2) พัฒนาระบบความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดอาชีวศึกษา ตั้งแต่เริ่มต้นทั้งการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ความต้องการการพัฒนาหลักสูตร การฝึกงาน และการประเมินสมรรถนะของผู้ฝึกอบรม โดยภาครัฐควรให้แรงจูงใจด้านการลดภาษีให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน มาตรการสำคัญ คือ การส่งเสริมและพัฒนาการจัดสหกิจศึกษา เช่น ระบบทวิภาคี หรือโรงเรียนอุปถัมภ์ในสถานประกอบการ (Adopted School )ให้เพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และเร่งจัดทำหลักเกณฑ์การจัดระบบทวิภาคีที่มี คุณภาพ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเพื่อให้การจัดระบบสหกิจศึกษามีคุณภาพและมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน
4.5.2 ปรับระบบการเงินและทรัพยากร (Re-financing and Remobilizing Resources) โดยทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบการเงินเพื่อการอาชีวศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณด้านอุปทาน (Supply-side) ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้จัดการศึกษา เป็นการจัดสรรงบประมาณด้านอุปสงค์ (Demand-side) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน
4.6 ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุดมศึกษา
4.6.1 การปฏิรูปโครงสร้างและระบบบริหารจัดการอุดมศึกษา
1) พัฒนาระบบการให้คะแนนและจัดอันดับ (Rating and Ranking) สถาบันอุดมศึกษา เพื่อกระตุ้นให้อาจารย์และบุคลากรต้องปฏิรูปตนเอง และส่งเสริมการแข่งขันในเชิงคุณภาพ
2) พัฒนามาตรฐานระบบบัญชี เร่งดำเนินงานโครงการการจัดระบบบัญชีและการรายงานของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยเร็ว
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ