สาร ส.ส. ฉบับที่ ๘๗ วันที่ ๖-๑๒ กันยายน ๒๕๔๗ (ต่อ)

ข่าวการเมือง Wednesday September 15, 2004 12:26 —รัฐสภา

                ต่อมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร  พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในส่วนของงบกลาง มาตรา ๔ ที่ตั้งไว้ ๒๐๐,๑๘๙,๙๘๓,๘๐๐บาท (สองแสนหนึ่งร้อยแปดสิบเก้าล้านเก้าแสนแปดหมื่นสามพันแปดร้อยบาท) โดยขอปรับลดในวงเงินของส่วนงานต่าง ๆ  ๑๕ รายการ  เป็นเงิน  ๓๗,๔๘๙,๗๙๙,๒๖๐  บาท      (สามหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยแปดสิบเก้าล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นเก้าพันสองร้อยหกสิบบาท) ซึ่งมีบางรายการ ไม่ได้ปรับลดโดย ๑๕ รายการจะแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ หมวดที่ ๑ ได้แก่ รายการที่ ๑-๖   ซึ่งถือว่าเป็นงบประจำทุกปีรายจ่ายประจำได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงบกลางมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินไป ทุกวันนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายปรับลดจำนวนข้าราชการลง ร้อยละ ๕ ทำให้เกิดปัญหาขึ้น  โดยเฉพาะข้าราชการครู เกิดปัญหาครูไม่เพียงพอในการสอนในหลาย ๆ จังหวัด ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องจ้างครูมาสอนเพิ่ม โดยไปเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากนักเรียนมาเป็นค่าจ้างครูมาสอน อีกเรื่องคือเรื่องการเก็บภาษีโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีการเก็บภาษีแม้กระทั่งแม่ค้าขายข้าวในโรงเรียน ซึ่งต้องขายในราคาถูก แต่เมื่อมีการเก็บภาษีทำให้แม่ค้าต้องขึ้นราคาอาหารที่ขายแก่นักเรียน นอกจากนี้ยังได้อภิปรายถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่สะท้อนความเป็นจริง รายได้ที่จัดเก็บจริงอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  และยังได้อภิปรายรายการที่ ๖ เรื่อง ค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐซึ่งเป็นค่าบรรเทาความเดือดร้อน เป็นแรงจูงใจในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของข้าราชการ  วงเงินตั้งไว้ ๔๕,๒๕๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทนั้น (สี่หมื่นห้าพันสองร้อยห้าสิบห้าล้านบาท)  ด้านหนึ่งรัฐบาลมีนโยบายปรับลดข้าราชการ  อีกด้านหนึ่งก็ไปเพิ่มเงินค่าตอบแทน  และเรื่องเงินรางวัลค่าตอบแทน มีหน่วยราชการบางแห่งทำงานเพื่อให้ได้เงินรางวัล ซึ่งแท้จริงแล้ว ข้าราชการต้องทำงานด้วยหน้าที่ไม่ใช่ทำเพื่อหวังเงินรางวัลตอบแทน   ซึ่งถ้าใช้ระบบอย่างนี้ต่อไปต้องมีการตั้งงบประมาณด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป เพราะจะมีหน่วยราชการที่ต้องการเงินรางวัลตอบแทนเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังได้อภิปรายอีกว่าในมาตรา  ๔  งบกลาง รายการที่ ๑ -๖ นั้น รัฐบาลได้ตั้งไว้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่เคยแสดงรายละเอียดหรือแสดงวิธีคิดไว้ ดังนั้นจึงขอปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ลง อีกทั้งยังได้อภิปรายถึงเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นว่าในปี ๒๕๔๘ ตั้งไว้ ๑๑,๖๐๐,๐๐๘,๘๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหกร้อยล้านแปดพันแปดร้อยบาท) โดยขอให้มีการปรับลดลง ๒,๓๙๐,๐๐๑,๗๖๐ บาท (สองพันสามร้อยเก้าสิบล้านหนึ่งพันเจ็ดร้อยหกสิบบาท) ซึ่งจะเท่ากับงบในปี ๒๕๔๗ คือ  ๙,๐๐๐ กว่าล้านบาทและเงินที่ตั้งไว้เพื่อช่วยเหลืออุทกภัยในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีการคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๔๘ จะมีภัยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น  จึงอยากทราบว่าในกระทรวงต่างๆ มีการตั้งงบประมาณสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้หรือเปล่า อีกทั้งยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีการตั้งงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมแล้วทำไมยังต้องมีการเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนอีก และในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรักษาความมั่นคงของประเทศกับเงินราชการลับในการรักษาความมั่นคงของประเทศได้ขอปรับลด เพราะรัฐบาลทำงานไม่บรรลุเป้าหมาย คือเมื่อมีงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายด้านนี้แล้ว ทำไมยังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้  และได้อภิปรายถึงค่าใช้จ่าย  เพื่อ
การเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับทิศทางของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่มีสมรรถภาพสูง มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพื่อการ แข่งขันของประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทย ในการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในตลาดโลก เพื่อสร้างความ เข้มแข็งของปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาสร้างทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีของประเทศ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ จากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานั้นเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ได้มีการนำเงินจำนวน ๓๕๓.๒๐ ล้านบาท ไปจัดซื้อปืนใหญ่ขนาดเบา ซึ่งเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ไม่ได้เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะเห็นได้ว่างบประมาณที่ตั้งไว้ไม่ได้ใช้จ่ายตามเป้าหมายทีได้เขียนไว้ จึงจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณลง รวมทั้งได้อภิปรายในเรื่องของการจัดซื้อเครื่องบินบุคคลสำคัญ ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดซื้อประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาประมาณ ๒๐ ล้านบาท ต่อเดือน นั้น ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนตามยุทธศาสตร์เพื่อการเสริมสร้าง ศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ดังนั้นจึงควรปรับลดงบประมาณลง ๑๓,๔๐๐ ล้านบาท
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในมาตรา ๔ โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๕ ซึ่งให้เหตุผลว่า การจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ นั้น ไม่กระจายงบประมาณอย่างทั่วถึง โดยกระจุกอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น และได้ตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณกลางว่า ยังขาด รายละเอียดของแผนงานที่ชัดเจน ทำให้ยากแก่การตรวจสอบ ดังนั้นจึงควรมีกรอบและหลักเกณฑ์ แนวทางในการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นในด้านการกีฬาและการพัฒนาภาคใต้ โดยเน้นด้านการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น
นายชาญศักดิ์ ชวลิตนิติธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรค
ชาติไทย ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในมาตรา ๔ โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ ซึ่งเป็นการใช้จ่าย งบประมาณตามยุทธศาสตร์ เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และได้กล่าวถึงเรื่องของการศึกษาว่า
- ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษานั้นยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ควรมีการกำหนดงบประมาณทางด้านอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่องด้าน
คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตในแต่ละตำบล
- สำหรับด้านการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการจราจรของเมืองพัทยา ซึ่งทั้ง ๒ กรณีนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ในการใช้จ่ายงบประมาณตามยุทธศาสตร์ข้างต้น
นายถาวร เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงงบประมาณรายจ่ายงบกลางประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และ ๒๕๔๗ ซึ่งมีการจัดสรร งบประมาณกลางเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่นำไปใช้ไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ โดยยกตัวอย่างโครงการหลายโครงการที่มีการจัดงบประมาณให้ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในโครงการนั้น ๆ อาทิ โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น โครงการพัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก โครงการแปลงสวนยางเป็นทุน เป็นต้น
จากนั้น นายเจือ ราชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการขอตัดงบกลางลงร้อยละ ๑๕ ด้วยเหตุผลดังนี้
๑. การใช้งบส่วนนี้จำนวน ๑๖,๑๐๐ ล้านบาท เพื่อการจัดแสดงสินค้า ณ จังหวัดเชียงใหม่ เหตุใดตั้งงบให้ทุกปี ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้รับการจัดสรรทั้งที่มีความต้องการเงิน
งบประมาณเพื่อการนี้เหมือนกัน
๒. โครงการจักรยานเอื้ออาทร จำนวน ๔๐๐ กว่าล้าน ควรตั้งเป็นงบปกติจะดีกว่าการตั้งเป็นงบกลาง
๓. การจัดสร้างศูนย์ส่งเสริมและกระจายสินค้าขนาดกลางและขนาดย่อยภาคเหนือ
เหตุใดต้องสร้างใหม่ ขณะที่มีสถานที่เดิมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว จึงขอให้ทำการสำรวจทบทวนด้วย
ต่อมา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการเสนอตัดลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ จำนวน สองแสนกว่าล้านบาทนั้น
รัฐบาลจะใช้เพื่ออะไรบ้าง และการให้พม่ากู้ Exim Bank จำนวนสี่พันล้านบาทนั้นใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาให้กู้
โดย นายวราเทพ รัตนากร ได้ตอบชี้แจงว่า การตั้งงบกลางนั้นถูกกำหนดไว้ใน
พระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณมาโดยตลอด เพื่อใช้เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินจำเป็นของข้าราชการและหน่วยงาน โดยไม่ได้ระบุไว้ในกระทรวงหรือทบวงใด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มักสงสัยในส่วนที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศอย่างยั่งยืนนั้น ขอให้คลายกังวลได้ เพราะยังคงใช้ระเบียบวิธีงบประมาณเหมือนเดิมจึงตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังชี้แจงเพิ่มเติมคือ
๑. การตั้งงบกลางจะสะดวกต่อการใช้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ถ้าหากการกระจายงบไปอยู่ในกระทรวง ใดกระทรวงหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จะมีความยุ่งยากไม่ทันกับเวลาและเหตุการณ์
๒. รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ของโลก
๓. การตั้งชื่อโครงการแตกต่างกันแต่ละปีนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ทั่วไป และ
วัตถุประสงค์หลักประกอบกับภาวะความจำเป็นและฉุกเฉินของแต่ละเหตุการณ์
๔. การใช้งบประมาณหรือวินัยตั้งการเงินการคลังนั้นรัฐบาลจะพิจารณาทั้งรายรับ
และรายจ่ายประกอบกันเสมอ
๕. การผูกพันงบประมาณได้จัดทำตามกฎหมายที่สภาฯ อนุญาตให้ฝ่ายบริหารมี
อำนาจกระทำได้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน
๖. บางโครงการสมาชิกเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล เช่น การซื้อเครื่องบิน ปืน นั้น ใน
ความเป็นจริงต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทุกโครงการอยู่แล้ว
๗. ส่วนการจัดงบลงจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นเพราะศักยภาพความพร้อมของจังหวัด
นี้เอง มิใช่ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. เชียงใหม่ ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตมีโครงการจัดสร้างศูนย์แสดงสินค้า เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของพื้นที่จึงต้องยุติโครงการไป
๘. การจัดซื้อเครื่องบินพระที่นั่ง รัฐบาลถือเป็นเรื่องด่วนอยู่แล้ว
๙. ทุกโครงการของรัฐบาลหากฝ่ายค้านสงสัยสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ต่อมา นางลาวัณย์ ตันติกุลพงษ์ กรรมาธิการตอบชี้แจงเกี่ยวกับ
๑. ค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่ตั้งเพิ่มงบ ทั้งที่มีการปรับลดจำนวนข้าราชการลงนั้น เนื่องจากต้องการกำหนดมาตรการและปรับปรุงพัฒนาระบบราชการ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนสี่หมื่นสองพันห้าร้อยห้าสิบล้านบาท แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ๑. เงินปรับขึ้นเงินเดือน ๒. ค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและเป็นประสิทธิภาพการทำงานและสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ
๒. การรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง นั้นตั้งงบไว้เฉลี่ย ๓,๗๘๑ บาทต่อคน
ต่อปี ซึ่งในความเป็นจริงข้าราชการ ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายนี้มิได้ใช้สิทธิเบิกทั้งหมด ในขณะที่โครงการ ๓๐ บาท ตั้งงบเฉลี่ยไว้เพียง ๑,๓๐๘ บาทต่อคนต่อปี
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายการตัดงบกลางตามมาตรา ๔ ทั้งหมดนั้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถแจงรายละเอียดการจะใช้งบให้ทราบได้ รวมทั้งมีการเปลี่ยนเหตุผลในการขอตั้งงบกลางทุกปี ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการตั้งงบการเมือง
นายวินัย เสนเนียม ถามกรรมาธิการเพิ่มเติมดังนี้
๑. การตั้งงบกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ - ๒๕๔๗ จำนวนหนึ่งแสนกว่าล้านบาทนั้น ขณะนี้เบิกจ่ายแล้วหรือยังและเหลืออยู่เท่าไหร่
๒. งบการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้แปดพันล้านบาทนำไปใช้อะไรบ้าง เหตุใด
สถานการณ์ภาคใต้ยังรุนแรงอยู่
๓.งบประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความยากจน นำไปแจก
ชาวบ้าน ๑,๐๐๐ บาทต่อคน ใช่หรือไม่
นายวราเทพ รัตนากร ตอบชี้แจง คำถามของนายวินัย เสนเนียม ในข้อ ๑-๓ นั้น ได้จัดทำไว้ในเอกสารแล้วขอมอบให้ไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประหยัดเวลาของสภาฯ สำหรับกรณี
๑. การจัดซื้อเครื่องบินพระที่นั่งนั้น รัฐบาลถือเป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้ว
๒. การตั้งงบกลางของรัฐบาลนั้นอยู่บนพื้นฐานการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน
เป็นหลัก
๓. การเดินทางเยือนจังหวัดต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรีนั้น มิใช่การตัดสินใจอนุมัติ
งบประมาณของนายกรัฐมนตรีคนเดียว หากแต่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีเหมือนเรื่องอื่น ๆ เช่นกัน
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในเรื่องการดำเนินการชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้มาจากธนาคารออมสินเพื่อใช้ในโครงการกองทุน หมู่บ้านๆ ละ ๑ ล้านบาท รวมทั้งได้อภิปรายเรื่องงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตอบแทนบุคคลากรภาครัฐด้วย เมื่อสมาชิกได้อภิปรายในมาตรา ๔ พอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับ กรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง ๒๙๑ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณา มาตรา ๕ ซึ่งเป็นงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายใน ๒ ประเด็น คือ
๑. กรมประชาสัมพันธ์ โดยได้สอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการของ
ช่อง ๑๑ ที่ได้มีการออกอากาศกระจายคลื่นสัญญาณเป็นช่อง ๑๑/๑, ๑๑/๒ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่และตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่แน่ใจในการดำเนินการ โดย ได้ตั้งกรรมการเข้าไปตรวจสอบถึงปัญหาดังกล่าว และในกรณีของการของบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ กรรมาธิการได้มีการซักถามถึงรายละเอียดการนำงบประมาณไปใช้หรือไม่
๒. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) ได้เสนอให้ปรับลด
งบประมาณลงร้อยละ ๕ เนื่องจาก กพร. แยกมาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อมาทำหน้าที่ปฏิรูประบบราชการ โดย กพร. ควรจะเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่ปฏิรูประบบ ราชการเสร็จแล้วก็ควรยุบเลิกไป และโดยเฉพาะการดำเนินงานของ กพร. ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดความสับสนในหน่วยงานราชการ ซึ่งถ้ามีทั้ง ก.พ. และ กพร. แล้วจะทำให้ต้องใช้งบประมาณ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับนโยบายการบริหารจัดการ อีกทั้งการดำเนินมาตรการที่เป็นผลจากการ
ดำเนินงานของ กพร. ในมาตราที่ ๓ เรื่องการปรับลดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการทั่วประเทศ เกิดความแตกแยกในหน่วยงาน โดยในอดีตการลดอัตรากำลัง ภาครัฐเป็นการลดอัตรากำลังโดยธรรมชาติ และความสมัครใจ เช่น เมื่อมีการเกษียณอายุราชการ ๑๐๐ คน จะขอยุบอัตรา ๘๐ คน และจัดสรรเพื่อทดแทนเพียง ๒๐ คน ซึ่งสามารถลดได้ และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยข้าราชการจะได้รับสิ่งที่เป็นแรงจูงใจ เช่น เงินเดือน พร้อมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และการใช้มาตรการยุบอัตราลงร้อยละ ๘๐ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เป็นไปได้
ปัจจุบันการนำมาตรการที่ ๓ มาใช้ เป็นเรื่องที่ผิดไปจากแนวทางเดิม เป็นมาตรการ ที่มักง่าย รัฐบาลไม่ได้สร้างความชัดเจนให้กับผู้ที่ถูกประเมินในส่วนของร้อยละ ๕ ที่จะต้องเลือก ออกจากราชการหรือเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้ขอปรับลดงบประมาณบางหน่วยงานลงร้อยละ ๑๐ ดังนี้
๑. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เช่น กรณีการจัดคณะรัฐมนตรีสัญจรไปประชุม
ตามจังหวัดต่าง ๆ แต่ละครั้งมีการใช้งบประมาณจำนวนไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท ต่อครั้ง เงินงบประมาณ ที่ใช้ไปนี้เป็นภาษีของประชาชนที่ถูกติดตามรีดภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล และได้อภิปรายเกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นอัตราการเติบโตของ GDP ในปีนี้สูงถึงร้อยละ ๗ ที่เกิดจากการใช้จ่ายของภาคประชาชนมากกว่าผู้ประกอบการ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ ๑ ต่อปี ทำให้ประชาชนที่มีเงินออม โดยอาศัยดอกเบี้ยมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่เพียงพอ จึงต้องมีการนำเงินออมเหล่านั้นมาลงทุน และการลงทุนดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความล้มเหลวได้ในอนาคต ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับทราบและ ควรเสนอข้อมูลที่เป็นจริง
๒. สำหรับ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น ไม่เห็นด้วยกับการตั้งผู้ว่า CEO และนักการทูต CEO เพราะการบริหารประเทศไม่ใช่การบริหารแบบบริษัทไม่ทราบว่า ก.พ. ได้มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบหรือไม่ จึงขอปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐
จากนั้นได้แสดงความคิดเห็นถึงความไม่ชัดเจนของการเป็นข้าราชการ ก.ค. ใน ๓ กระทรวง คือ จากกระทรวงศึกษาธิการที่ได้โอนย้ายโรงเรียนนาฏศิลป์มาอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม และการนำกรมพลศึกษาไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย กพร. ไม่ได้สร้างความชัดเจนให้กับบทบาทของข้าราชการทั้ง ๓ กระทรวง
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่สงวนความเห็นไว้ โดยได้เสนอให้ปรับลดงบประมาณในส่วน ของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีปัญหาในการบริหารงานในการกำหนดทิศทางของข้าราชการและการขาดความรอบคอบในการจัดตั้งหน่วยงานตามดำริของนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เช่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ยังคงทำงานในรูปแบบเดิม และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารงานแต่อย่างใด มีเพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ๑ ชุด เพื่อประสานกับส่วนภูมิภาคเพียงอย่างเดียว ตลอดจนแนวคิดที่จะ ปรับลดข้าราชการออกครึ่งหนึ่งแล้วตั้งตำแหน่งข้าราชการการเมืองเข้ามาแทนที่ข้าราชการประจำ
ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาล และเป็นการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย โดยเป็นนโยบายที่สับสนและไร้ทิศทาง และกรณีการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นองค์การมหาชน โดยไม่สามารถใช้อำนาจทางกฎหมายได้ จะซ้ำซ้อนกัน หรือไม่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนและไร้ทิศทางของการจัดตั้งงบประมาณ
นายสุวรรณ กู้สุจริต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรค
ประชาธิปัตย์ ขอเสนอปรับลดงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนร้อยละ ๑๐ โดยได้อภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดังนี้
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งงบประมาณในปี ๒๕๔๘ จำนวน ๔๐๙,๒๔๑,๐๐๐ บาท (สี่ร้อยเก้าล้านสองแสนสี่หมื่นหนึ่งพันบาท) ซึ่งสูงกว่าในปี ๒๕๔๗ จำนวน ๗๖ ล้านบาท จากวิสัยทัศน์ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติจะเห็นว่ามีการปฏิบัติงานด้านการข่าวอย่างดีเยี่ยม สามารถแก้ปัญหาและแจ้งเตือนประชาชนในเหตุร้ายต่าง ๆ ได้ทันท่วงที แต่ในรอบปีที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของสำนักข่าวกรองล้มเหลว ทำให้สถานการณ์ทางภาคใต้รุนแรงขึ้น มีคนบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงอยากทราบว่า สำนักข่าวกรอง มีการส่งสัญญาณและแจ้งเตือนประชาชนได้ทันเวลาหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติงานข่าวของสำนักข่าวกรองแห่งชาติในภาคใต้ล้มเหลว จึงขอปรับลดงบประมาณในส่วนของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จำนวนร้อยละ ๑๐
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น ได้อภิปรายในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี
ดังนี้
๑. จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี
ผู้ติดตามไปเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาความปลอดภัย จึงมีการใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก เป็นการสมควรหรือไม่
๒. การเดินทางไปจับกุมและตรวจค้นบ้านที่ต้องสงสัยว่าค้ายาบ้าที่จังหวัด
พระนครศรีอยุธยาอยากทราบว่า เรื่องนี้ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ได้เอาเงินงบประมาณไปชดใช้หรือยัง และมีคนไปดูแลผู้เสียหายหรือไม่ รวมทั้งอยากให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากตู้ ปณ. นายกรัฐมนตรี ว่าถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ
๓. การจับแท็กซี่ หรือมาเฟีย ที่สถานีขนส่งหมอชิตแล้วผิดพลาด เพราะแท็กซี่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง จึงอยากทราบว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร
๔. กรมประชาสัมพันธ์ กรณีการเปิดช่องโทรทัศน์ ๑๑/๑ และ ๑๑/๒ มีความจำเป็นอย่างไรประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ และได้ค่าสัมปทานเท่าไร เพราะถ้าได้ค่าสัมปทานคุ้มค่า
งบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ก็สมควรตัดออกอีก
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ขออภิปรายในมาตรา ๕ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งงบประมาณ ไว้ ๙,๕๓๐,๔๒๔,๑๐๐ บาท (เก้าพันห้าร้อยสามสิบล้านสี่แสนสองหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยบาท) ขอแปรญัตติ
ปรับลดงบประมาณ ๒,๒๗๓,๐๑๑,๙๘๕ บาท (สองพันสองร้อยเจ็ดสิบสามล้านหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบห้าบาท) โดยจะขออภิปรายแต่ละสำนักงานดังนี้
๑. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน ๓๙๖,๖๙๕,๘๐๐ บาท (สามร้อย
เก้าสิบหกล้านหกแสนเก้าหมื่นห้าพันแปดร้อยบาท) ปรับลด ๕๙,๕๐๔,๓๗๐ บาท (ห้าสิบเก้าล้าน
ห้าแสนสี่พันสามร้อยเจ็ดสิบบาท) เนื่องจากการตั้งงบประมาณในหมวดเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวมีการตั้งงบเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำไมจึงมีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในช่วงใกล้เลือกตั้ง และในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปมีการตั้งเงินเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๗ จำนวน ๗ ล้านบาท เป็น ๘๖ ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งหมวดรายจ่ายใหม่ได้แก่ เงินอุดหนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามการปฏิบัติราชการของรองนายกรัฐมนตรี จำนวน ๗๐ ล้านบาท และเงินอุดหนุนการวิจัยการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน ๙ ล้านบาท การตั้งงบเหล่านี้เป็นการตั้งงบหาเสียงหรือไม่ และเป็นการจ่ายเงินให้กับใคร สำนักงบประมาณจะมีมาตรการติดตามการใช้จ่ายอย่างไร และเอาใบเสร็จมาจากไหน อย่างไรก็ตาม อยากให้ตัดเงินอุดหนุนทั่วไป เพราะตรวจสอบการใช้เงินยาก
๒. กรมประชาสัมพันธ์ มีงบประมาณที่ตั้งไว้ ๑,๐๒๔,๘๓๓,๑๐๐ บาท (หนึ่งพันยี่สิบสี่ล้านแปดแสนสามหมื่นสามพันหนึ่งร้อยบาท) ปรับลดลง ๒๕๖,๒๐๘, ๒๗๕ บาท (สองร้อยห้าสิบหกล้านสองแสนแปดพันสองร้อยเจ็ดสิบห้าบาท) เพราะมีจุดรั่วไหลมาก
๓. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี งบประมาณที่ตั้งไว้ ๑,๖๗๙,๔๗๘,๖๐๐ บาท (หนึ่งพันหกร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นแปดพันหกร้อยบาท) ปรับลดลง ๒๕๑,๙๒๑,๗๙๐ บาท (สองร้อยห้าสิบเอ็ดล้านเก้าแสนสองหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยเก้าสิบบาท) ค่าใช้จ่ายเฮลิคอปเตอร์ สำหรับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจำนวน ๔๐ ล้านบาทนั้นเป็นการตั้งมา เพื่อซื้อใหม่หรือไม่ อยากทราบว่า คำว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่างจากคำว่าบุคคลสำคัญอย่างไร
๔. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีการตั้งเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับการวิจัย เพื่อใช้เป็นค่าใช้สอยวัสดุและสาธารณูปโภคจำนวน ๒,๑๐๐,๔๐๐ บาท (สองล้านหนึ่งแสนสี่ร้อยบาท) ซึ่งไม่เคยมีการตั้งไว้มาก่อน และการวิจัยนี้เป็นโครงการอะไร
๕. สำนักงบประมาณ ตั้งงบประมาณค่าคุรุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์จำนวน ๕๗ ล้านบาท และคุรุภัณฑ์ ขนส่งพาหนะ ๕ ล้านบาท ๒ รายการนี้มีความจำเป็นหรือไม่
๖. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่ใช้
งบประมาณฟุ่มเฟือยที่สุด โดยมีการตั้งงบเงินเดือน ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ๑๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ส่วนค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ในปี ๒๕๔๗ ตั้งงบจำนวน ๓๒ ล้านบาท แต่ปีนี้ตั้งไว้ ๗๖ ล้าน การตั้งงบใช้ในการปรับปรุงห้องประชุม ๒ ห้อง จำนวน ๑๒ ล้านบาท จำเป็นหรือไม่
๗. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ทำไมมีงบประมาณ
เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๗ ถึงร้อยละ ๑๐๐ และได้มีการประเมินผลการดำเนินงานของปี ๒๕๔๗ หรือไม่
๘. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ ตั้งงบประมาณปีก่อน ๑๙๒
ล้านบาท ในปีนี้ ๒๔๕ ล้านบาท งบรายจ่ายเงินเดือนค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง ๒๑.๖ ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
๙. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- เงินงบประมาณปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ผลการวิจัยมีอะไรบ้าง
กรรมาธิการได้เคยขอดูผลงานวิจัยบ้างหรือไม่ และงานวิจัยสนับสนุน
ใครบ้าง
- งบการวิจัยปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ได้ผลงานวิจัยปีละกี่เรื่อง อยู่ที่ไหน
และผลงานวิจัยนี้มีประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไรบ้าง
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเกี่ยวกับหน่วยงานที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ๑๘ หน่วยงาน และขอเสนอปรับลดลงร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ทั้งหมด คือ ๙,๕๓๐,๔๐๐,๐๐๐ บาท (เก้าพันห้าร้อยสามสิบล้านสี่แสนบาท) ส่วนสำคัญที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี คือ
๑. กรมประชาสัมพันธ์ ในอดีตกรมประชาสัมพันธ์ได้มีการนำเสนอข่าวสารที่เชื่อถือได้ ถูกต้องตรงไปตรงมาสามารถอ้างอิงได้และเป็นมาตรฐานสากล แต่ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์กลับมีการโฆษณาสิ่งอบายมุขเพื่อมอมเมาประชาชน โดยได้นำนโยบายหวยบนดินมามอมเมาประชาชนเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด สร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นกับชุมชนโดยให้หวังว่าถ้าซื้อหวยแล้วถูกรางวัล แจ็คพอตจะได้เป็นเศรษฐีและเงินจากการซื้อหวยจะนำไปเป็นทุนการศึกษาช่วยเหลือผู้พิการ นักกีฬาพิการ ผู้ที่ได้รับเงินทุนการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะดีใจ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้นกับสังคม สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ร่วมมือกันสนองนโยบายรัฐบาลในการชี้ให้สังคมเห็นว่าการเล่นหวยการเล่นอบายมุขไม่ผิด แต่เป็นการทำบุญกุศลให้กับผู้ด้อยโอกาส จากการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวนี้พบว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องการจัดงบประมาณฯ เป็นการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลและคนไทยทั่วประเทศ ในการกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และอนาคตของประเทศ เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศที่เต็มไปด้วยอบายมุขต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นจึงขอปรับลดงบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ