ลักษณะตลาดจีน:
จีนเป็นประเทศใหญ่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล พื้นที่แต่ละเขตในจีนจึงมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านพื้นฐานโครงสร้างการผลิต ทรัพยากร อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ของจีนจึงมีความแตกต่างกันมาก และเป็นที่มาถึงรายได้ของจีนในแต่ละภาคแตกต่างไปด้วย ปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมาจึงเป็นตัวกำหนดขนาดตลาดศักยภาพตลาด และความต้องการสินค้าของคนจีนที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของจีน
การเจาะตลาดจีนเป็นรายภูมิภาค:
หากแยกตลาดจีนตามภูมิภาคให้ชัดเจน อาจต้องอาศัยระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดจากการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจเปิดของจีน ตั้งแต่อดีตผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง ในช่วง 1978-1998 ในแต่ละภาคที่มีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแยกเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ ตามลำดับ การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจเปิด 2 ระยะ คือระยะที่ 1 และ 2 ภาคตะวันออก และระยะที่ 3 ภาคตะวันตก
สำหรับในภาคตะวันออก ซึ่งจีนใช้มาตรการเศรษฐกิจเปิดในรูปเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง และเมืองพัฒนาเปิดตามชายฝั่งทะเล 14 เมือง สามารถแยกได้ตามพื้นที่ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจได้เจริญรวดเร็วมาก รวม 6 แห่ง เรียงลำดับตามขนาดเศรษฐกิจ ดังนี้
1. บริเวณปากแม่น้ำฉางเจียง ประกอบด้วย มหานครซ่างไห่ มณฑลเจียงชู และมณฑลเจ๋อเจียง
2. บริเวณ 3 มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย มณฑลเหลียวหนิง มณฑลจี๋หลิน และ มณฑลเฮยหลงเจียง
3. บริเวณปากแม่น้ำจูเจียง ประกอบด้วยบริเวณรอบนครกวางโจว เมืองหลวงของมณฑลกวางตง ได้แก่บริเวณ เจิ้งโจว กวางโจว ตงก่วน เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้งและจูไห่
4. บริเวณมหานคร 2 แห่ง คือ เป่ยจิงและเทียนจิง
5. บริเวณมณฑลซานตง ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวนมากที่สำคัญ คือโรงงานผลิตล้อรถยนต์ มีการผลิตในมณฑลประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณล้อรถยนต์ในจีนทั้งหมด
6. บริเวณมณฑลฝูเจี้ยน
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คนจีนในทั้ง 6 บริเวณนี้มีฐานะความเป็นอยู่ดี อำนาจซื้อสูง สินค้าที่มีศักยภาพในตลาดบริเวณ 6 แห่งนี้ จะเป็นสินค้าระดับกลางถึงระดับบน สำหรับคนจีนที่มีระดับการครองชีพสูง
ส่วนในภาคตะวันตก ซึ่งเพิ่งเริ่มพัฒนาตามแผนพัฒนาที่ 3 ของอดีตผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 1998 หรือหลังเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในแผนพัฒนาที่ 1 ประมาณ 20 ปี ปรากฎว่าเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมากจีนจึงได้กำหนดเมืองศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจเปิดในบริเวณนี้รวม ได้แก่ มหานครฉงชิ่ง นครเฉิงตู (เมืองหลวงมณฑลซื่อชวน )และนครคุนหมิง (เมืองหลวงมณฑลหยุนนาน) ซึ่งจะถูกจัดเป็นเมืองสำคัญลำดับแรก ในการบุกเบิกเจาะสินค้าไทย เพื่อผ่านเข้าสู่ภาคตะวันตกของจีนต่อไป
นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งกำหนดบริเวณศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจเปิดภาคตะวันตกของจีนกับบางบริเวณตะวันตกในมณฑลเหอหนานและหูหนาน ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของจีนที่มีรอยต่อกับภาคตะวันตก รวมเข้าด้วยกันเป็นบริเวณ “ซีซันเจี่ยว” หรือเรียกว่า“เขตเศรษฐกิจเมืองตะวันตกเฉียงใต้ของจีน” อันเป็นบริเวณที่มีศักยภาพพัฒนา ยกระดับรายได้คนจีนบริเวณนี้สูงขึ้นจากการเป็นศูนย์กลางเขื่อนพลังไฟฟ้า และทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย มหานครฉงชิ่ง นครเฉิงตู ( เมืองหลวงของมณฑลซื่อชวน ) เมืองอวี๋ซาง (ที่ตั้งเขื่อนยักษ์สามโตรก) เมืองเยี่ยหยาง (ทางตะวันตกเฉียงเหนือมณฑลหูหนาน) เมืองตอนเหนือมณฑล กุ้ยโจว เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู และมณฑลส่านซี และสามารถกำหนดสินค้าที่เจาะในบริเวณนี้
แผนกลยุทธ์ขยายความสัมพันธ์การค้า การลงทุนไทย-จีน
ข้อได้เปรียบของไทย:
คือ ความสัมพันธ์ไทย - จีน ทั้งด้านวัฒนธรรม สังคม เชื้อชาติ การครองชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ และทัศนคติ นับว่ามีความใกล้เคียงกันมากเป็นเหตุให้การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนไทย-จีน มีโอกาสกระชับแนบแน่นได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องฉกฉวยการใช้ความได้เปรียบจากความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้เกิดผลประโยชน์ต่อการขยายการค้าการลงทุน ไทย-จีน ให้ได้กว้างขวางมากที่สุดโดยเร็วด้วยการเร่งกำหนดยุทธศาสตร์การขยายความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ดังนี้
1. การสร้างความสัมพันธ์โดยตรงหรือที่เรียกว่า Connections กับหน่วยงานทางการในจีน โดยเฉพาะในกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือว่ายังมีบทบาทสำคัญที่สุดในด้าน Connections อยู่ในขณะนี้ จึงนับเป็นความจำเป็นสูงสุดในการเจาะตลาดจีนอย่างได้ผลรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานจีนในกรุงปักกิ่งจะเป็นตัวสื่อสำคัญยิ่งในการบันดาลให้นักธุรกิจไทยสามารถเข้าสู่ตลาดในแต่ละมณฑลโดยง่าย ขณะที่หน่วยงานและธุรกิจในทุกมณฑลยังมีความผูกพันในความสัมพันธ์อดีตอยู่ จึงยังคงเชื่อฟังหน่วยงานหลักของตนต่อไป
2. การวางแผนสร้างกลยุทธ์เจาะตลาดจีนเป็นรายมณฑล
จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่และแต่ละมณฑลของจีนที่มีความหลากหลายแตกต่างกันดังกล่าว ทำให้ลู่ทางการทำธุรกิจค้าขายหรือร่วมทุนกับจีนจึงแตกต่างไปตามแต่ละมณฑล ดังนั้นหากนักธุรกิจที่ต้องการประสบผลสำเร็จในการเจาะตลาดจีนได้มากตั้งแต่แรกแล้วจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลโอกาสและศักยภาพตลาดจีนเป็นรายมณฑล และต้องจัดลำดับความสำคัญของแต่ละมณฑลในการในการเจาะตลาดจีนด้วย เช่น กรณีตัวอย่างข้อมูลแต่ละมณฑล ดังนี้
2.1 การเจาะสินค้าอาหารในตลาดจน หากมีข้อมูลรสนิยมอาหารของคนจีนในแต่ละภาคก็จะช่วยให้เจาะตลาดได้ตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในมณฑลทางเหนือนิยมอาหารรสเค็ม มณฑลทางใต้นิยมอาหารรสหวาน มณฑลทางตะวันตกนิยมอาหารรสเผ็ด มณฑลทางใต้ของลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) นิยมอาหารรสเผ็ดจัด เป็นต้น
2.2 ในกรณีเจาะสินค้าเข้าภูมิภาคที่มีระดับการพัฒนาเจริญก้าวหน้ากว่า เช่น บริเวณตะวันออก ต้องเน้นสินค้าคุณภาพสูง เนื่องจากเป็นตลาดคนมีรายได้สูง หากจะเจาะตลาดทางภาคตะวันตกในขณะนี้ก็ยังสามารถเน้นสินค้าคุณภาพปานกลางสำหรับตลาดคนมีรายได้ปานกลางได้แต่ทั้งนี้ จะต้องรีบดำเนินการทันที หาก รออีก 5-6 ปี ที่ระดับการพัฒนาในภาคตะวันตกสูงขึ้นอีกระดับหนึ่งจนใกล้เคียงกับทางตะวันออก ขณะนี้แล้วก็จะต้องประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เพราะในช่วงจากนี้ถึง 6 ปี ข้างหน้า จะมีการร่วมทุนพัฒนาการผลิตสินค้าในจีนตะวันตกเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันเข้าตลาดจีนตะวันตกใน ขณะนั้นจะต้องปรับเป็นสินค้าระดับบนซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวสินค้าระดับบนจะมีมากขึ้นในภาคตะวันตกของจีนอย่างแน่นอน
3. การรีบฉกฉวยโอกาสกระชับความสัมพันธ์ไทย — จีน ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ
3.1 เมื่อจีนเป็นสมาชิก WTO ตลาดจีนจะเปิดกว้างขึ้นสำหรับสินค้าไทย เนื่องจากตามข้อผูกพัน WTO จีนต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการลง และต้องเปิดขยายโควต้าภาษีในอัตราลดหย่อนต่ำกว่าอัตราปกติ สำหรับสินค้าจำนวนหนึ่งในจำนวนนี้มีรายการสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อไทยโดยตรง คือ ข้าว (ในปี 2546 เปิดโควต้าภาษี 4.655 ล้านตัน อัตราภาษีร้อยละ 1 อัตราภาษีปกติร้อยละ 71) ยางพารา (ปี 2545 เปิดโควตาภาษี 429,000 ตัน เพิ่มปีละ 15% อัตราภาษีในโควต้าร้อยละ 20 จากอัตราภาษีปกติร้อยละ 25) น้ำตาล และรถยนต์ เป็นต้น และต้องลดข้อกีดกันการค้ามิใช่ภาษีให้เป็นไปตามกติกา WTO ขณะเดียวกันจีนจะต้องเปิดเสรีมากขึ้นโดยลำดับ สำหรับกิจการร่วมทุนจากต่างประเทศที่เข้าผลิตสินค้าและบริการในจีน ซึ่งการดำเนินการภายใต้ข้อผูกพัน WTO เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกนี้จะเพิ่มโอกาสให้ความสัมพันธ์การค้า การลงทุนไทย-จีน มีมากขึ้นอย่างแน่นอน
3.2 ความสัมพันธ์ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีจีน—อาเซียน จะช่วยขยายความสัมพันธ์การค้า การลงทุนไทย — จีน ได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะการลดหย่อนภาษีนำเข้าระหว่างกันย่อยช่วยขยายโอกาสการค้าไทย-จีนเพิ่มอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสินค้าเกษตรพิกัดศุลกากร 01-08 มีการลดหย่อนภาษีโดยเร็ว ( Early Harvest ) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 แล้วก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้การค้าผักผลไม้ของทั้งสองฝ่ายมีโอกาสขยายตัวได้โดยเร็วมากกว่าปัจจุบันได้
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้ FTA จีน- อาเซียน ซึ่งจะเริ่มลดภาษีระหว่างอาเซียนกับจีน ตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2547 นั้น ฝ่ายไทยต้องเตรียมความพร้อมในการกำหนดรายการสินค้าที่มีศักยภาพส่งเข้าจีนได้มาก ทั้งนี้ นอกจากจะต้องใช้มาตรการในการส่งเสริมขยายสินค้าคุณภาพไทยเข้าจีนแล้วจะต้องเน้นมาตรการร่วมมือกับจีน โดยฝ่ายจีนจะเน้นการผลิตสินค้าคุณภาพทั้งในไทยและจีน โดยฝ่ายไทยใช้ความได้เปรียบด้านการจัดการตลาดในการเจาะและขยายตลาด ทั้งในประเทศจีนและตลาดนอกประเทศจีน
3.3 การพัฒนาเศรษฐกิจเปิดของจีนในภาคตะวันตก จะช่วยให้รายได้ของคนจีนในบริเวณดังกล่าวสูงขึ้น มีแนวโน้มจะใกล้เคียงกับรายได้คนจีนทางตะวันออกขณะนี้ในโอกาสต่อไป จะทำให้อำนาจซื้อสินค้าในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้น สินค้าไทยก็จะมีลู่ทางในตลาดจีนกว้างขวางมากขึ้น
3.4 การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางภาคตะวันตกของจีน ที่เข้าสู่มาตรฐานสากลและการตัดทางผ่านลาว เชื่อมระหว่างมณฑลยุนหนานกับ จังหวัดเชียงราย และน่านของไทย จะช่วยย่นระยะการคมนาคมขนส่งสินค้าไทย-จีน ลดต้นทุนการขนส่งลงได้อีกมาก และจะกลายเป็นเส้นทางเอื้อให้การค้าขายและการร่วมทุนไทย-จีนขยายเครือข่ายซึ่งกันและกันได้อีกมาก
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-