การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2004 13:31 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ
1. แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศเป็นแรงงานของภาคเกษตร มีรายได้ไม่เพียงพอจากการประกอบอาชีพ ไม่มีแหล่งข้อมูลด้านการหางานทำ เงินทุน เทคโนโลยี จึงขาดโอกาสในการหาช่องทางประกอบอาชีพที่เหมาะสมให้กับตนเองในประเทศ ดังนั้น ภาครัฐควรจัดระบบข้อมูล สารสนเทศที่ชัดเจน ทันสมัย ง่ายต่อความเข้าใจ รวมทั้ง จัดระบบการให้คำปรึกษาและแนะนำแก่แรงงานไทยที่ต้องการทำงานหรือประกอบอาชีพ รัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างงานในท้องถิ่นและจัดหางานให้แรงงานไทย โดยเฉพาะเกษตรกรได้มีงานทำ มีรายได้เพียงพอ แน่นอนและต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้คนไทยทำงานในประเทศ
2. ควรมีการปรับแก้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2530 ให้ครอบคลุมถึงคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้ได้รับสิทธิการคุ้มครองและประโยชน์ ทั้งก่อนและหลังจากไปทำงาน ต่างประเทศ
3. ภาครัฐควรวางระบบและหลักเกณฑ์ให้คนงานไทยที่กลับจากทำงานต่างประเทศ มีใบผ่านงาน เพื่อนำมาใช้ปรับคุณวุฒิด้านวิชาชีพ ประสบการณ์ เพื่อเทียบค่าจ้างที่เหมาะสมกับการทำงานในประเทศ
4. ในกรณีที่แรงงานไทยประสบปัญหาด้านภาษา การเจรจาต่อรอง การดำเนินคดีในกรณีเกิดความขัดแย้งกับนายจ้าง หน่วยงานภาครัฐควรเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
5. การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ควรดำเนินนโยบายในลักษณะรัฐต่อรัฐ และควรหาช่องทางเปิดตลาดแรงงานไทยในประเทศใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
6. รัฐควรมีมาตรการจูงใจให้แรงงานทำงานในประเทศมากขึ้น และมีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดในการลงโทษบริษัทจัดหางานที่หลอกลวงแรงงานไทย เช่น ในกรณีที่ไม่มีงานให้แรงงานไทยทำในต่างประเทศ บริษัทจะต้องชดใช้คืนเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด และต้องรับโทษทางอาญาในฐานะหลอกลวง ในทางกลับกัน รัฐควรมีมาตรการจูงใจ ส่งเสริม สนับสนุนบริษัทจัดหางานที่มีคุณภาพ ดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติควบคู่ไปด้วย
7. รัฐควรมีมาตรการจัดระบบการสื่อสารติดต่อระหว่างครอบครัวกับคนงานไทยในต่างประเทศ เพื่อสานสัมพันธ์คนในครอบครัวให้อบอุ่น เช่น บริการโทรศัพท์ในราคาถูก ตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ จัดหาสถานที่เป็นศูนย์รวมการติดต่อข้อมูล ข่าวสารระหว่างคนไทยในประเทศนั้นๆ ให้สามารถติดต่อกันได้สะดวก รวดเร็ว
8. ถอดบทเรียนการดำเนินชีวิตในต่างประเทศของแรงงานไทย ทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่แรงงานไทยได้รับนำมาจัดทำเป็นหลักสูตรและฝึกอบรม โดยให้กลุ่มบุคคลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วเป็นผู้สอนหรือให้คำแนะนำแก่แรงงานไทยรุ่นต่อไป ทั้งนี้ ปัจจัยส่วนบุคคลของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศแล้วประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ลักษณะสำคัญๆ เช่น การใฝ่รู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คิดอย่างมีเหตุผล มีความเชื่อมั่น มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย ควบคุมตนเองได้ มีวินัยด้านการจัดระบบให้กับตนเอง และบริหารเวลาการวางแผนชีวิต ตลอดจนปัจจัยสนับสนุนของครอบครัว เช่น การบริหารจัดการเงิน การใช้เงินอย่างรู้คุณค่า เน้นการสร้างทุนและเพิ่มรายได้ในอนาคต รู้จักประหยัดและวางแผนการออม ช่วยหารายได้เสริม ความคิดหรือค่านิยมเหล่านี้ ควรนำมาหาวิธีปลูกฝังเป็นทัศนคติหรือค่านิยมในการดำรงชีวิตของแรงงานไทยโดยการประชาสัมพันธ์สร้างบทเรียน ให้เกิดความตระหนักในบุคคลกลุ่มที่เป็นแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้เห็นรูปธรรม
9. กระทรวงสาธารณสุขควรจัดให้มีโครงการแนะนำหรือให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพการปฏิบัติตนระหว่างทำงานในต่างประเทศ และหลังกลับประเทศไทย มีโครงการตรวจเช็คสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อลดปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพทั้งของแรงงานและครอบครัว
10. ชุมชนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไทย เช่น ช่วยกันสอดส่องดูแลปัญหาการหลอกลวงคนงานในระดับหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนควรให้คำแนะนำแก่สมาชิกในชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพให้แก่แรงงาน จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ จัดตั้งเครือข่ายแรงงาน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนเข้มแข็ง และภาครัฐควรให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแรงงานของชุมชน
11. มีการส่งเสริมสนับสนุนให้แรงงานคืนถิ่นเข้ามามีบทบาทหรือส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย เช่น เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการ คณะทำงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน ส่วนในระดับชาติ องค์กรด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรให้ความสำคัญกับแรงงานคืนถิ่น เช่น ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพต่อไป
12. เนื่องจากกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ มีความกระจุกตัวในสังคมชนบท กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ชนบท ควรได้รับการส่งเสริม ปลูกฝังจิตสำนึกในบทบาทของเยาวชนที่มีต่อครอบครัว เพื่อช่วยให้เยาวชนดังกล่าว มีส่วนร่วมและเห็นคุณค่าของตนเอง ในการทำประโยชน์ต่อครอบครัวและชุมชน เนื่องจากผู้ปกครองหรือหัวหน้าครอบครัวต้องทนลำบากกับการที่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ เยาวชนจึงควรทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยของครอบครัวในเวลานั้นไปด้วย
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ