การแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2004 13:56 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกิน
1. ความเป็นมา
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก ที่ดินจึงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 84 กำหนดให้รัฐจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม จัดหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม ให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตรกรรมให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศ ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของตลาด การแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุน การใช้ที่ดินที่ผิดประเภทหรือใช้อย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้ความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินอันอุดมสมบูรณ์เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อที่ดินที่เหมาะสมหมดไป จึงต้องขยายพื้นที่เข้าไปในเขตที่ดินสาธารณะ เขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ มีการหักล้างถางพงและทำลายป่าไม้ เพื่อนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้และที่ดินได้เสื่อมโทรมลงอย่างมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และปัญหาปากท้องของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกินก็นับเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรง และขยายตัวในวงกว้างกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนและจริงจัง จะนำไปสู่ความไม่มีระเบียบและไม่สงบสุขของคนในสังคม อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวคงไม่มีหน่วยงานใดสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามลำพัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกัน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งจะทำการแก้ปัญหาดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการศึกษา เรื่อง “การแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกิน” โดยจัดทำเป็นกรณีศึกษาพื้นที่ปัญหา 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดน่าน เพื่อเป็นต้นแบบในการทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหา สำหรับการนำเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีได้ถูกต้องตรงสภาพความเป็นจริง
2. การดำเนินงาน
คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
2.1 ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย
2.1.1 รายงานการวิจัย “โครงการศึกษาการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ที่ดินและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด” โดย มูลนิธิสถาบันที่ดิน (2544)
2.1.2 รายงานผลการพิจารณาศึกษา ของ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินทำกินของประชาชนที่ทางการยังไม่ออกเอกสารสิทธิให้ วุฒิสภา (2547)
2.1.3 เอกสารประกอบการฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนความเห็นกับ Dr. Hernando de Soto เรื่อง “การใช้ประโยชน์สินทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศ” โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2545
2.1.4 การศึกษาเรื่อง นโยบายที่ดิน ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2529)
2.1.5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
2.1.6 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545-2549)
2.1.7 รายงานการใช้ที่ดินของประเทศต่างๆ ของ UNDP (1996)
2.1.8 รายงาน “โครงการวิจัยรัฐกับการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกินและสหกรณ์ของเกษตรกร” โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เสนอ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(2547)
2.2 สำรวจข้อเท็จจริงพื้นที่ปัญหา 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดกาญจนบุรี (กันยายน 2545) จังหวัดภูเก็ต (กันยายน 2546) จังหวัดน่าน (ตุลาคม 2546) และจัดประชุมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็น สะท้อนประเด็นปัญหาร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรอิสระ ฯลฯ
2.3 ประชุมประสานความเข้าใจทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย กรณีข้อพิพาทสิทธิการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินบนต้นน้ำ : กรณีต้นน้ำน่าน ระหว่างราษฎรพื้นที่สูงตำบลป่ากลาง กับราษฎรพื้นที่ราบ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ในวันที่ 16 ตุลาคม 2546 และได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน เกี่ยวกับสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและการแบ่งปันทรัพยากรที่ดินบนต้นน้ำอย่างชัดเจน
2.4 ประชุมพิจารณาร่างข้อเสนอร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ สภาทนายความ มูลนิธิสถาบันที่ดิน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2547 ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. สภาพปัญหา
ความขัดแย้งในการจัดการกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดิน อันเกิดจากแนวทางการพัฒนา การใช้ที่ดินผิดประเภทหรือผิดวัตถุประสงค์ของคนส่วนรวม เช่น การใช้พื้นที่ป่าต้นน้ำทำเกษตรกรรม หรือทำรีสอร์ท ปัญหาสิทธิในที่ดิน เช่น กรรมสิทธิ์ของเอกชน สิทธิของชุมชน และกรรมสิทธิ์ของรัฐ คณะทำงานสิทธิมนุษยชนฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการศึกษา เรื่อง “การแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกิน” โดยจัดทำเป็นกรณีศึกษาพื้นที่ปัญหา 3 จังหวัด พบปัญหา ดังนี้
3.1 จังหวัดกาญจนบุรี
สถิติกรมป่าไม้ พ.ศ. 2543 ระบุว่า จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ล้านไร่โดยเป็นพื้นที่ป่าไม้ 6.5 ล้านไร่ พื้นที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน พ.ศ. 2481 จำนวน 3.5 ล้านไร่ สภาพที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะเป็นที่ดินหวงห้ามของรัฐถึง 10 ล้านไร่ หรือร้อยละ 82.8 ของพื้นที่จังหวัด ขณะที่ที่ดินที่สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้รวม 2,096,968.75 ล้านไร่ หรือร้อยละ 17.22 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด การประกาศพื้นที่เขตหวงห้ามจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวข้องกับที่ดินอย่างน้อย 2 ประการ คือ
3.1.1 ปัญหาที่ดินหวงห้ามของรัฐทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ซึ่งอยู่มาก่อนจำนวนนับพันครอบครัว
3.1.2 ราษฎรเข้ามาบุกรุกจับจองที่ดินทำกินในเขตหวงห้าม เนื่องมาจากขาดที่ดินทำกินประกอบกับทางราชการประกาศพื้นที่หวงห้ามไว้จำนวนมาก ขาดการดูแล ไม่มีการใช้ประโยชน์และไม่มีป้ายแสดงแนวเขตให้ชัดเจน
ปัญหาดังกล่าว ชาวกาญจนบุรีได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับที่ดินหวงห้ามของทหารตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2481 ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวกาญจนบุรีเกือบทุกอำเภอ ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อยจนทุกวันนี้
3.2 จังหวัดภูเก็ต
คณะทำงานสิทธิมนุษยชนฯ ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินในจังหวัดภูเก็ต พบประเด็นปัญหา ดังนี้
3.2.1 ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์หาดบางเทาบริเวณแปลงทะเลพัง โดยการเข้าไปบุกรุกสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ร้านค้า รุกล้ำที่สาธารณะ จากผู้ประกอบการ และราษฎรทั่วไป
3.2.2 ปัญหาการบุกรุกหาดในยาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขปัญหาของคณะทำงานจัดระเบียบพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ รวมถึงการบุกรุกหาดยามู มีผู้บุกรุก ประมาณ 41 ราย ส่วนใหญ่ไม่ยอมเคลื่อนย้ายไปยังที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ ขณะนี้กำลังตรวจสอบรายชื่อผู้บุกรุกทั้งหมด
3.2.3 ปัญหาหาดแสนสุข พนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับบริษัทเอกชนบางราย โดยประชาชนเรียกร้องว่าออกโฉนดทับที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน และคณะกรรมการได้ตรวจสอบและเสนอให้จังหวัดภูเก็ต พิจารณาเพิกถอนการออกใบโฉนด นอกจากนี้ ผู้บุกรุกครอบครองที่ดินจำนวนมากพักอาศัยกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ขาดพื้นที่ให้การนันทนาการและใช้ประโยชน์ส่วนรวมอื่นๆ อีกทั้งอาจเกิดปัญหาสังคมต่างๆ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ว่าที่ดินดังกล่าวได้กลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จนทำให้ประชาชนเรียกร้องให้ที่ดินบริเวณดังกล่าว กลับมาเป็นสมบัติของสาธารณชน หรือจัดให้ประชาชนในพื้นที่เช่าที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยหรือดำเนินการอื่นได้
ตามรายงานของสำนักงานจังหวัดภูเก็ตและสื่อมวลชน การบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ในจังหวัดภูเก็ตในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ปรากฏปัญหามากมาย ได้แก่ การบุกรุกทางริมหาด การปล่อยน้ำเสีย-น้ำเน่า ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะริมหาด การปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อันทำให้สัตว์น้ำเสียหาย การยึดทางสาธารณะ ยึดเส้นทางรอบเกาะจังหวัด การยึดมุมเมือง แหล่งน้ำสาธารณะ การยึดสวนเฉลิมพระเกียรติ ยึดที่ดินศาลหลักเมืองกลาง ผู้มีอิทธิพลและนายทุนถือครองที่ดิน ทำให้การใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าและส่งผลกระทบต่อชุมชน ที่ดินจังหวัดมีราคาสูง และมักถูกบุกรุกจากนายทุนและนายทุนต่างชาติ การออกเอกสารสิทธิ์กระทำโดยมิชอบ
3.3 จังหวัดน่าน
จังหวัดน่าน มีสภาพปัญหาการใช้ที่ดินคล้ายคลึงกับ จังหวัดกาญจนบุรี ในประเด็นที่ราษฎรเข้ามาบุกรุกจับจองที่ดินในเขตสงวนหวงห้าม เนื่องมาจากขาดที่ดินทำกิน ประกอบกับทางราชการประกาศพื้นที่หวงห้ามไว้จำนวนมาก และไม่มีป้ายแสดงแนวเขตให้ชัดเจน จากการศึกษาสภาพในพื้นที่ คณะทำงานฯ ได้พบว่า
3.3.1 ในอดีตลำน้ำเปือและลำน้ำกอน เป็นต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านเขตพื้นที่อำเภอเชียงกลางหลายตำบลและราษฎรพื้นที่นี้ได้อาศัยทำการเกษตร อุปโภคและบริโภค พื้นที่ดังกล่าว นอกจากจะเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผาดั้งเดิม และด้วยเหตุผลทางการเมืองการปกครอง ภาครัฐได้เคยจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวเขาตามนโยบายโครงการพัฒนาชาติไทยของกองทัพภาคที่ 3 ในปัจจุบันราษฎรในพื้นที่ได้มีการขยายพื้นที่ในป่าต้นน้ำ เพื่อการประกอบอาชีพและทำการเกษตรเชิงพาณิชย์
3.3.2 ในปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง และในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2525-2540 ทางราชการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้มีโครงการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกฝิ่น การทำไร่เลื่อนลอย เช่น ข้าวโพด ข้าวไร่ กะหล่ำ ไม้เมืองหนาว (ลิ้นจี่ ลำใยฯ ) อีกทั้งการจัดทำโครงการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ เช่น ถนน ไฟฟ้า การพัฒนาอาชีพ การจัดหาแหล่งน้ำ อันเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านจากพื้นที่อื่นๆ พากันอพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรชาวเขาที่เคยอยู่เดิม ทำให้เกิดความต้องการพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้น นับเป็นสาเหตุสำคัญในการขยายพื้นที่ทำกิน และที่ดินทำกินของชาวเขาเผ่าดั้งเดิม พื้นที่หลายส่วนได้มีการขายเปลี่ยนมือเพื่อนำมาทำเกษตรเชิงพาณิชย์
3.3.3 ราษฎรพื้นราบ ตำบลเปือ ตำบลพระธาตุ ตำบลเชียงกลาง และตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง ได้ร้องเรียนความเดือดร้อนจากสารเคมียาฆ่าแมลงที่เกิดจากการปลูกสวนลิ้นจี่ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่อยู่ในความดูแลของหน่วยจัดการต้นน้ำเปือและน้ำกอน เนื่องจากน้ำเหล่านี้แห้งขอด และปัญหามลพิษจากยาฆ่าแมลง โดยการผลักดันของชาวเขาเผ่าม้งออกจากพื้นที่ อีกทั้งนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ระดับอำเภอ และอำเภอประกาศให้เป็นผู้บุกรุกครอบครองที่ดิน พร้อมทั้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการกฎหมายโดยเด็ดขาด
3.3.4 ขณะเดียวกัน ราษฎรชาวเขาเผ่าม้ง ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว ได้มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายปองพล อดิเรกสาร) พิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือ
3.3.5 การดำเนินงานของทางราชการ
อำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจความเสียหายที่ราษฎรเข้าไปตัดต้นลิ้นจี่และเผาที่พักอาศัย
อำเภอปัวสอบสวนรายละเอียดการเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าของราษฎร ตำบลป่ากลาง การตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินแต่ละราย โดยนำไปตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การใช้พื้นที่ของราษฎรบ้านป่ากลาง หมู่ 1-3-6 ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว ปรากฏผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินว่า เกิดขึ้นก่อนวันประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ (พ.ศ.2531) 9,000 ไร่ และครอบครองที่ดินหลังวันประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ (พ.ศ.2531) จำนวน 170 ราย 178 แปลง รวม 1,656 ไร่
3.3.6 การดำเนินงานของคณะทำงานสิทธิมนุษยชนฯ สภาที่ปรึกษาฯ พบว่า ปัญหาความ
ขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากภาครัฐขาดการแก้ไขที่รวดเร็ว ระบบข้อมูลและข้อเท็จจริงขาดการรวบรวม ปรับปรุง ให้ถูกต้องอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและใช้ร่วมกัน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการประสานงานและร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหา และเมื่อดำเนินการไปแล้ว ไม่ได้แจ้งผลหรือความก้าวหน้าให้ทราบโดยทั่วกัน ใช้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันทั้งของภาครัฐและประชาชน ตลอดจนการขาดการติดตามการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ และผู้ประสานที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นไปในทางเดียวกัน
3.3.7 วันที่ 16 ตุลาคม 2546 ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิที่ดินทำกิน การตัดไม้ทำลายป่า และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างชาวบ้าน ตำบลป่ากลาง และอำเภอเชียงกลาง ฝ่ายละ 20 คน เจ้าหน้าที่ข้าราชการทุกฝ่าย และผู้แทนสภาที่ปรึกษาฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งทุกคนในที่ประชุมได้ลงนามร่วมเป็นพยานไว้เป็นหลักฐานโดยมีบันทึกข้อตกลง ดังนี้
1.ให้ราษฎรในพื้นที่ข้อพิพาทยอมรับผลการพิสูจน์สิทธิที่ทางราชการได้ดำเนินการ พิสูจน์
2.กรณีราษฎรที่ไม่สามารถพิสูจน์สิทธิได้ และไม่มีที่ดินทำกิน ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน นายอำเภอพื้นที่ อบต.พื้นที่ จัดสรรพื้นที่ป่าจำนวน 1,614 ไร่ เพื่อดำเนินการปลูกป่าสักเพียงอย่างเดียว และกันเป็นเขตป่าไม้ต้นน้ำลำธารทั้งนี้ ห้ามนำมาอ้างกรรมสิทธิ์ในภายหลัง
3.ในระหว่างดำเนินการหรือดำเนินการเสร็จแล้ว ห้ามมิให้ราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อีกต่อไปและระหว่างนี้ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม
4.ให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดดำเนินการตามข้อ 1-3 ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
5.ให้คณะทำงานสิทธิมนุษยชนฯ ประสานงานและผลักดันในระดับนโยบายกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง เพื่อให้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพ
3.3.8 วันที่ 23 ธันวาคม 2546 สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “สิทธิการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินบนต้นน้ำกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : กรณีต้นน้ำน่าน” ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกี่ยวกับสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและการแบ่งปันทรัพยากรที่ดินบนต้นน้ำอย่างชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้ ใน 8 ประการ คือ
1. การใช้ยุทธศาสตร์ “คนอยู่กับป่า”
2. การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการส่งเสริมการประกอบอาชีพในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำตลอดจนเขตพื้นที่ทำกินบนพื้นที่สูง
3. การมีสิทธิในที่ดินทำกิน
4. การไม่ออกเอกสารสิทธิในลักษณะผู้ถือครอง แต่เป็นเอกสิทธิครอบครองเพื่อทำกินเท่านั้น
5. ส่งเสริมให้ราษฎรได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ
6. การแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำในระยะสั้น ในการขุดรอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน
7. การให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการดำเนินการควบคุมดูแลการอนุรักษ์และฟื้นฟู
ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากป่า
8. กระบวนการ รูปแบบและวิธีดำเนินการต่างๆ ที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว ใช้แนวทางสันติวิธี
ไม่เลือกปฏิบัติ ละเว้นการใช้กำลังและอำนาจ สุดท้ายทุกคนต้องเคารพและอยู่ภาย ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เน้นการมีส่วนร่วม รับผิดชอบต่อสังคม ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการที่ตกลงไว้
4. ข้อเสนอแนะ
ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 กำหนดเป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการใช้ประโยชน์ โดยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ตลอดจนลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน ที่มีปัญหาต่างๆ ได้แก่ ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินขาดอินทรีย์วัตถุ ไม่น้อยกว่าจำนวน 10 ล้านไร่ ในปี 2542 หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะไปทับซ้อนที่ทำกินของเกษตรกร ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่ยากจน แผนงานดังกล่าว ยังขาดแนวทางและวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งยังมิได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้ทราบอย่างทั่วถึง
ดังนั้น รัฐควรมีนโยบายในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่และที่ทำกิน โดยกำหนดแนวทาง วิธีการรูปธรรม ที่สามารถนำไปยึดถือปฏิบัติได้ ดังนี้
4.1 รัฐควรทบทวนแผนแม่บทในทุกระดับโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับหลักการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อม
4.2 รัฐต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินภาคประชาชน
4.3 การจัดการปัญหาการถือครองที่ดินและที่ทำกินในเขตที่ดินสงวนหวงห้าม
4.3.1 กรณีที่ดินที่ราษฎรเข้าไปทำกิน ก่อนมีการประกาศเป็นเขตที่ดินสงวนหวงห้าม
ก. การมีสิทธิในที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงชีพ มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศ จึงจำเป็นที่รัฐพึงจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนที่ไร้ที่ทำกิน เนื่องจากกรณีดังกล่าวในสถานที่และจำนวนที่เหมาะสม ตามศักยภาพและสมรรถนะของที่ดินพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า
ข. ปัญหาเกี่ยวกับหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการถือครองที่ดิน อันเกิดจากการประกาศทับซ้อนที่ทำกินของราษฎร รัฐควรรีบเร่งตรวจสอบสิทธิ์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้รัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สอบสิทธิ์ โดยการนำพยานหลักฐานอื่นๆ อาทิเช่น ตอไม้ พันธุ์ไม้ มาสอบสิทธิ์ได้ ไม่ใช่จากภาพถ่ายทางอากาศเพียงอย่างเดียว
4.3.2 กรณีที่ดินที่ได้มีการประกาศเป็นเขตที่ดินสงวนหวงห้าม แต่มีการเข้าไปถือครองใช้ประโยชน์ภายหลัง
ก. ที่ดินของรัฐหรือสาธารณะ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรดูแลอย่างทั่วถึงและจริงจัง หากมีการบุกรุกควรรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื้อรังและยากในการแก้ไข
ข. รัฐต้องให้ความสำคัญ สนับสนุนงบประมาณแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการปักหลักและป้ายประกาศเขตพื้นที่สงวนหวงห้ามที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ชัดเจน
ค. การปักหลักเขตและป้ายประกาศที่ดินของรัฐ ให้ประชาชนได้รับรู้โดยทั่วกัน พร้อมทั้งใช้มาตรการการเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เพื่อมิให้มีการบุกรุกที่ดินสาธารณะ
ง. เร่งรัดเจ้าหน้าที่ให้รับผิดชอบ และดำเนินการปักหลักเขตและป้ายประกาศ
ที่ดินของรัฐอย่างเคร่งครัด
4.4 มาตรการการป้องกันการรุกล้ำเขตที่ดินสงวนหวงห้าม
4.4.1 การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกิน ภาครัฐต้องมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง พร้อมทั้งการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด ในการประกาศเขตเป็นที่ดินของรัฐควรมีการสำรวจพื้นที่ก่อน และรับฟังเสียงประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ตรวจตรา ติดตาม และป้องกัน เพื่อให้กฎระเบียบเกิดประสิทธิผลในมาตรการการป้องกันการบุกรุกที่ดิน อีกทั้งการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข เพื่อให้เกิดความร่วมมือบนหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง ตลอดจนผลประโยชน์ของสาธารณชน
กระบวนการ รูปแบบและวิธีดำเนินการต่างๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิที่ดินทำกิน การอนุรักษ์และฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาแหล่งต้นน้ำและการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ควรใช้แนวทางสันติวิธี โดยไม่เลือกปฏิบัติ ควรละเว้นการใช้กำลังและอำนาจ เน้นการมีส่วนร่วมและการรับผิดชอบต่อสังคม ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการที่ตกลงกันไว้ สุดท้ายทุกคนต้องเคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม
4.4.2 การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย เพื่อตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดินในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสิทธิการถือครองที่ดินของนายทุนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเปิดเผยเอกสารที่ดินที่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว หากไม่ถูกต้องให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์
4.4.3 รัฐควรทบทวนการจัดระเบียบและระบบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิที่อยู่และที่ดินทำกินให้สมบูรณ์และชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนเข้าไปตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในข้อมูลได้โดยสะดวก และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันมิให้การเกิดความไม่เข้าใจระหว่างกัน ส่วนแนวเขตที่ดินของรัฐ ควรมีลักษณะถาวรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโยกย้ายได้ อาทิ เช่น ตั้งเสา ทำป้าย ทำถนน กำแพง ฯลฯ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ