เด็กเร่ร่อนที่ไร้สัญชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 30, 2004 14:01 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนที่ไร้สัญชาติ
1. ความเป็นมา
คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการศึกษาเรื่องการดำเนินการให้สถานะบุคคลบนพื้นที่สูง และได้พบว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ไม่มีสัญชาติ กลุ่มหนึ่ง ได้แก่เด็กและเยาวชนที่มีบิดามารดาเป็นผู้อพยพเข้าเมือง และอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่ถูกทอดทิ้งหรือเร่ร่อน
สภาพที่เด็กเร่ร่อนไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารใดๆ เป็นเด็กไร้สัญชาติ นำไปสู่การไร้สิทธิพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ สิทธิในการศึกษา การหางานทำ การได้รับบริการสาธารณสุข การก่อตั้งครอบครัวที่ถูกกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง การเอารัดเอาเปรียบ และอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องสิทธิของเด็กกลุ่มดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษา โดยจำกัดขอบเขตเฉพาะเด็กเร่ร่อนที่ไร้สัญชาติ ซึ่งไม่ปรากฏบิดา มารดา โดยมิได้รวมถึงเด็กที่มีบิดา มารดา ซึ่งเป็นผู้อพยพหลบหนีเข้าเมือง เนื่องจากเด็กและเยาวชนในกลุ่มที่มีบิดามารดาเป็นบุคคลอพยพเข้าเมือง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบและลงรายการสถานะบุคคลให้ตามกฎหมาย
การศึกษาปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ไร้สัญชาตินี้ คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการโดยจัดการประชุมสัมมนา เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และศึกษาดูงานในสถานสงเคราะห์ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อทราบข้อเท็จจริง สภาพปัญหา และอุปสรรคจากการปฏิบัติงาน เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐบาล
2. วิธีการศึกษา
2.1 ศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์บุคคล
2.2 จากการสัมมนา
2.2.1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 จัดสัมมนาร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ผู้แทนกรมการปกครองและสภาทนายความ
2.2.2 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 จัดสัมมนาร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน
2.3 การศึกษาดูงาน
2.3.1 เมื่อวันที่ 3 - 4 กันยายน 2547 ดูงานสถานสงเคราะห์เด็กที่ถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อนทั้งของภาครัฐและเอกชนที่จังหวัดเชียงใหม่
3. ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหา
3.1 คำนิยาม
“เด็กเร่ร่อน” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หมายถึง “เด็กที่ไม่มีบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ไม่เลี้ยงดูหรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จนเป็นเหตุให้เด็กต้องเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่ร่อนจนน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของตน”
“เด็กไร้สัญชาติ” หรือเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย จากเอกสารเผยแพร่ของสภาทนายความ หมายถึง “เด็กที่ไม่มีสูติบัตรและทะเบียนบ้านของบุคคลที่มีสัญชาติไทย (ท.ร.14) หรือมีทะเบียนประวัติของชนกลุ่มน้อย หรือทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย หรือหนังสือรับรองการเกิดที่ทางราชการออกให้และเอกสารอื่นๆ ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย”
3.2 สภาพสังคมปัจจุบัน พบว่า มีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีหลักฐานเอกสารใดๆ เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่เด็กมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตลอดเวลา และจากการที่ไม่มีศูนย์กลางที่ดำเนินการเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อน ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเหล่านี้จึงกระจัดกระจาย
ในปี พ.ศ.2542 กรมประชาสงเคราะห์ได้ทำการสำรวจขอทานในเขตเทศบาลและสุขาภิบาลทั่วประเทศ พบคนเร่ร่อน 4,948 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเร่ร่อน 813 คน ปรากฏรายละเอียดตามภาคต่างๆ ดังนี้ *
เขต จำนวนเด็กเร่ร่อน (คน)
กรุงเทพมหานคร 162
ภาคกลาง (ยกเว้นกรุงเทพ ฯ ) 158
ภาคเหนือ 288
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 152
ภาคใต้ 53
รวม 813
* รายงานการสำรวจและศึกษาสภาวะเด็กเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร โดย กองสังคมสงเคราะห์ สำนักสวัสดิการสังคม
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หน้า 5
ตัวเลขของเด็กเร่ร่อนที่ได้จากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่
3.2.1 ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคม ฯ 20,000 คน ( ข้อมูลปี 2544 )*
3.2.2 ข้อมูลของสำนักสวัสดิการสังคม กทม. 400 คน (ข้อมูลปี 2546 )**
(เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร)
จำนวนเด็กเร่ร่อนพบมากในกรุงเทพฯ บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง สนามหลวง สะพานพุทธ สวนลุมพินี พัฒน์พงษ์ ทางด่วนยมราช ชุมชนคลองเตย ชุมชนหลังโรงเรียนศึกษานารี สะพานพระปิ่นเกล้า และสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ในต่างจังหวัดจะพบมากในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ อุดรธานี นครราชสีมา และภูเก็ต
3.3 สาเหตุที่ทำให้เด็กเร่ร่อน ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจ อันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศที่ทำให้เกิดช่องว่างของรายได้ ทำให้ครอบครัวผู้ด้อยโอกาสประสบปัญหาเศรษฐกิจและกลายเป็นแรงบีบคั้นให้เด็กต้องออกเร่ร่อน เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง สาเหตุจากการขาดความอบอุ่นในครอบครัว การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาจากการไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโรงเรียน หรือสาเหตุจากตัวของเด็กเองที่ชอบความอิสระ
3.4 สำหรับกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่ไร้สัญชาติ แบ่งออกเป็น
3.4.1 เด็กที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองขาดความเอาใจใส่ในเรื่องการแจ้งการเกิดตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร์ พ.ศ.2534
3.4.2 เด็กเร่ร่อนที่ติดตามหาพ่อแม่ไม่ได้ เนื่องจากพลัดพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่เล็กและจำความไม่ได้ หรือเด็กออกจากบ้านมานาน เร่ร่อนไปไกล หรือพ่อแม่อพยพเคลื่อนย้ายตลอดเวลา หรือถูกจำคุก จึงไม่สามารถติดตามสืบหาพ่อแม่เด็กได้
3.4.3 เด็กที่ถูกขอมาเลี้ยงหรือถูกลักพาตัว เพื่อบังคับให้ค้าขายหรือขอทาน แล้วถูกทอดทิ้งหรือถูกจับกุม และไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้
3.5 ปัญหาสิทธิที่เด็กเร่ร่อนที่ไร้สัญชาติต้องประสบ ได้แก่
3.5.1 ในด้านการศึกษา
โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องการรับเด็กที่มีหลักฐานเท่านั้น เนื่องจากงบประมาณที่รัฐจัดให้เพื่อการศึกษา คิดคำนวณจากเด็กที่มีเลขประจำตัวประชาชน ทำให้เด็กที่ไม่มีเลขทะเบียนราษฎร์ ไม่ได้รับการรับรองจากสถานศึกษา แม้ว่าจะมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานวัน เดือน ปีเกิดในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2535 และแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษา
** หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 11 กรกฎาคม 2546 หน้า 5
**หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 9 มกราคม 2546 หน้า 6
สำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์และเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่กำหนดให้โรงเรียนจะต้องรับเข้าศึกษาเมื่อเด็กอายุครบเกณฑ์ โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ซักถามประวัติเด็กแล้วบันทึกใน “บันทึกแจ้งทะเบียนประวัติเด็ก” โดยเด็กสามารถศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาโดยไม่มีการจำกัดสิทธิใดๆ
3.5.2 ปัญหาการสาธารณสุข
กรมประชาสงเคราะห์ได้ดูแลสร้างสวัสดิการเด็ก ในเรื่องปัจจัย 4 แต่หากเด็กไม่มีสัญชาติไทย ก็จะประสบปัญหาในการรักษาพยาบาล เมื่อไม่มีบัตรประชาชน ก็ใช้บัตร 30 บาท เพื่อรักษาโรคไม่ได้ แม้แต่เด็กที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านรวมของสถานสงเคราะห์ เมื่อมีครอบครัวช่วยอุปการะ แต่เมื่อต้องรักษาการเจ็บป่วยในท้องถิ่นอื่นๆ ที่เด็กไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เด็กก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้
3.5.3 ปัญหาการประกอบอาชีพ
เมื่อไม่มีหลักฐานบัตรประชาชน ไม่ได้รับการศึกษา ทำให้โอกาสในการหางานทำน้อยลง และอาจจะต้องไปประกอบอาชีพที่รายได้น้อย หรือประกอบอาชญากรรม เช่น ปล้น ชิงทรัพย์ ค้ายาเสพติด ค้าประเวณี และก่อปัญหาสังคม เช่น เสพยาเสพติด ก่อการทะเลาะวิวาท ฯลฯ
3.5.4 ปัญหาอื่นๆ
การหาครอบครัวบุญธรรมจากต่างประเทศ เด็กที่ไม่มีหลักฐานการเกิดหรือเลขประจำตัวประชาชน ประเทศที่จะรับไปเป็นบุตรบุญธรรมมักจะไม่ออกวีซ่าให้
นอกจากนี้เด็กไร้สัญชาติยังมีปัญหาทางจิตใจ เช่น รู้สึกแปลกแยก ขาดความภาคภูมิใจและท้อแท้ ไม่มีความหวังในอนาคต
3.6 ข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือและดำเนินการให้สัญชาติ
3.6.1 ในเรื่องการให้สัญชาติแก่เด็กนั้น โดยหลักแล้วเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยภายใน 15 วัน หากไม่ปรากฏผู้เป็นบิดา-มารดา ดูลักษณะแล้วเหมือนคนไทย (เอเชีย) เจ้าหน้าที่จะลงสัญชาติไทยให้ก่อน แต่ถ้าเกินกว่า 15 วัน จะต้องมีการตรวจสอบประวัติ ซึ่งหากสอบประวัติแล้วไม่พบหลักฐานใดๆ ให้ใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 มาตรา 7 ทวิ กล่าวคือ เด็กที่เกิดในประเทศไทย หากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ให้ขอมติคณะรัฐมนตรีให้สัญชาติไทยได้ โดยสถานสงเคราะห์ต่างๆ สามารถดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอสัญชาติไทยให้เด็กได้
ในกรณีของเด็กเร่ร่อนในที่สาธารณะ มักจะไม่พบหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับตัวเด็ก หากเด็กไม่โตมากนัก กรมการปกครองก็อนุญาตให้เพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านได้ แต่ไม่ได้เป็นทะเบียนบ้านสำหรับคนไทย ถ้าไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเด็กคนนี้น่าเชื่อถือว่าเป็นคนไทย เพราะไม่มีประวัติความเป็นมา ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่กล้ารับรองว่าเด็กเป็นคนไทย
3.6.2 จำนวนเด็กเร่ร่อนมีเท่าไรนั้น เป็นตัวเลขที่ยืนยันได้ยาก เนื่องจากเด็กมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตลอดเวลา และเด็กมีการเจริญเติบโต เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเด็กเร่ร่อนทั้งประเทศโดยเฉพาะ เป็นการยากที่จะทราบจำนวนเด็กเร่ร่อน จึงยากที่จะดำเนินการให้สัญชาติแก่เด็กเหล่านี้ได้
3.6.3 เด็กไร้สัญชาติไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เพราะหน่วยงานเกรงว่าจะมีความผิดในการช่วยเหลือคนต่างด้าว
3.6.4 การขอสัญชาติให้เด็กยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
4. ข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4.1 รัฐควรกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กเร่ร่อนที่ไร้หลักฐานแสดงตนว่าเป็น “ คนไทย ” โดยถือเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นรูปแบบเดียวกัน
4.2 รัฐควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และองค์กรภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายในการแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กเร่ร่อน โดยมีบทบาทและหน้าที่ ดังนี้
4.2.1 สำรวจตัวเลขเด็กเร่ร่อนที่แท้จริงทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลและขึ้นทะเบียนบุคคลนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นวาระแห่งชาติ ในการให้สัญชาติหรือจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน แสดงสถานะแยกประเภทบุคคลเป็นการเฉพาะ
4.2.2 ปรับปรุงระเบียบและมาตรการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด และการคุ้มครองเด็กที่ถูกทอดทิ้งและการอุปการะเป็นผู้ปกครองหรือบิดามารดาบุญธรรม เพื่อให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ และสถานีตำรวจตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและมีระเบียบแบบแผนเดียวกัน
4.2.3 พิจารณาหาแนวทางในการสนับสนุนให้เด็กเร่ร่อน ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อลดปัญหาทางสังคมและสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ
4.3 จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อน เพื่อประโยชน์ในการประสานความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4.4 รัฐควรจัดทำโครงการเพื่อการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการให้สัญชาติ
4.5 รัฐควรเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำหลักฐานการเกิด การลงทะเบียนเด็กในทะเบียนบ้าน รณรงค์สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูเด็กเป็นการป้องกันปัญหาสังคมและประเทศชาติในอนาคต
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ