ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ที่มีผลใช้บังคับมา 1 ปี การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 50

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2005 14:11 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          ไทยและออสเตรเลียเห็นว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้มา 1 ปี ช่วยให้การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50  มีการสนับสนุนความร่วมมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ  โดยเฉพาะด้านการเกษตร  รวมทั้งส่งเสริมให้มีการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน 
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA Joint Commission)ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และนาย Paul Grigson, First Assistant Secretary กระทรวงต่างประเทศและการค้า เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการทำความตกลงการค้าเสรีของทั้งสองประเทศ ทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2548 การค้ารวมมีมูลค่า 5,457 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าเกือบร้อยละ 50 โดยสินค้าที่ไทย ส่งออกและใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลงฯ เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน (+70%) ทูน่ากระป๋อง (+13.61%) เป็นต้น
นางอภิรดี เปิดเผยว่า ออสเตรเลียให้ความสนใจในการเร่งแก้ไขปัญหาด้านสุขอนามัยซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออกผัก ผลไม้ ของไทยไปยังออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนี้ไทยสามารถส่งออกลำไย ลิ้นจี่ และมังคุดไปออสเตรเลียได้แล้ว และกำลังดำเนินการในสินค้าอื่น ๆ เช่น ทุเรียน และมะม่วง ในอนาคต คาดว่าไทยจะมีโอกาสส่งออกผลไม้ไทยไปออสเตรเลียได้หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังยินดีที่จะให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรแก่ไทยอีกด้วย และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการปศุสัตว์ของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝ่ายไทย ได้เชิญชวนออสเตรเลียเข้ามาร่วมลงทุนด้านปศุสัตว์และการผลิตภัณฑ์นมเพื่อขยายตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งนอกจากประโยชน์ทางการค้าร่วมกันแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีการผลิตของไทยในสาขานี้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
ทั้งนี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีและนำนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายมาพบปะกันในปี 2549 เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ