นักธุรกิจไทยต้องทำใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2005 17:29 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ธปท.ส่งสัญญาณส่งออกวูบ ณ วันนี้คนไทยคงต้องติดตามตัวเลขการส่งออกสินค้าของประเทศเป็นหลักเพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอันใกล้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากปัจจุบันไทยยังคงพึ่งการส่งออกสินค้าเพื่อนำเงินเข้าประเทศเป็นสำคัญ และท่ามกลางภาวะปัจจัยลบที่ซ้ำเติมอย่างไม่หยุดยั้งก็ทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลให้เกิดการขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ต้นปีและยังเป็นผลให้ไทยต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ โดยผลสุดท้ายก็ส่งกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง ซึ่งเห็นได้จากการปรับลดเป้าหมายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)มาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ประกาศภาวะเศรษฐกิจของประเทศในเดือนพฤษภาคม 2548 ซึ่งยังคงเป็นไปในทิศทางลบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนโดยหอการค้าไทยก็คาดการณ์ว่าปีนี้ไทยจะต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เช่นกัน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ไม่ค่อยสดใสนักและยังคงต้องติดตามสถานการอย่างใกล้ชิดเพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ สำหรับในส่วนของธปท.โดยนางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคม 2548 ว่า ไทยยังคงขาดดุลการค้าอยู่ 1,621 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ของปีนี้ โดยรวมเป็นยอดขาดดุลการค้าทั้งสิ้นถึง 6,609 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเกิดจากการผลของการนำเข้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 10,610 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 33.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา ขณะที่การนำเข้าสินค้าอี่นๆ เช่น เหล็ก เครื่องจักรกลและชิ้นส่วน เครื่องจักรไฟฟ้าและชิ้นส่วน ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยโดยมีมูลค่า 8,989 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 13.1% โดยสินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์พลาสติก ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนเกินดุลไม่มากนักเพียง 57 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของภาคเอกชนเป็นมูลค่า 698 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพียง 6.4% ทั้งหมดนี้เป็นผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลอยู่ 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รวม 5 เดือนของปีนี้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4,778 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนดุลการชำระเงินเกินดุลที่ 283 ล้านเหรียญ หสรัฐ ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 48.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจำนวน 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2548 หรือภาวะเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 3.6% เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสินค้าผักและผลไม้รวมทั้งเนื้อสัตว์มีน้อยลง ส่วนราคาหมวดสินค้าที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มก็เพิ่มขึ้น 3.6% เนื่องจากการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสาธารณะตามราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น1.2% ทำให้ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 3.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจอยู่ที่ 46.6% ต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 เนื่องจากกังวลปัญหาราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคประชาชนขยายตัวเพียง 0.3% เป็นเพราะประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายเนื่องจากกังวลต่อราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของค่าเงินบาทก็ยังคงอ่อนตัวลงต่อเนื่องโดยในช่วงวันที่1-24 มิถุนายน 2548 ค่าเงินบาท อยู่ที่ 40.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงปลายเดือนค่าเงินบาทก็ปรับตัวอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนตามค่าเงินในภูมิภาค ประกอบกับรัฐวิสาหกิจและกองทุนต่างประเทศมีความต้องการซื้อดอลล่าร์ค่อนข้างมากด้วย เมื่อมาดูการคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจทั้งปีของสภาหอการค้าไทย โดยนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ชี้ให้เห็นว่าปีนี้การส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวได้เพียง 13.3% ไม่ใช่ 20% ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยจะส่งออกได้เป็นมูลค่า110,740 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบคือ ทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในปี 2548 จากที่คาดกันว่าจะเติบโต 4.7% ก็เหลือเพียง3.4% โดยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป ก็มีแนวโน้มไม่ดีนักทำให้การส่งออกของไทยต้องชะลอตัวลง ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวในระดับสูง เพราะความไม่สงบในอิรัก และอัฟกานิสถานรวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันของโลกก็มีเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่แนวโน้มการนำเข้าของปีนี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระดับ 23.3% หรือคิดเป็นมูลค่า117,062 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นคือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเมกะโปรเจกต์ที่มีวงเงินลงทุนรวม 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งภายในปีนี้มีการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยจะทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเฉลี่ย 70% เพื่อมารองรับโครงการการขยายการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท นอกจากนี้เป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการเปิดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับ 4 ประเทศคือ จีน อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สำหรับดุลการค้าของไทยทั้งปีจะขาดดุลการค้า 6,322 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 40-41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ น้ำมันอยู่ในระดับ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลครั้งแรกในรอบ 8 ปี เป็นมูลค่าถึง 1,464 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดดุลการค้า ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ลดลง จากการที่นักท่องเที่ยวมีไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวถึง 13.3 ล้านคน หรือมีรายได้เข้าประเทศ450,000 ล้านบาท แต่จะมีนักท่องเที่ยวจริงเพียง 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็นรายได้ 390,797 ล้านบาท ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของโลกและของไทยยังอยู่ในภาวะผันผวน และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียวเพราะอย่างน้อยก็ยังมีโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐที่จะเข้ามาช่วยพยุงให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นในอนาคต ซึ่งในยามภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เราคนไทยคงต้องอดทนต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และให้ความร่วมมือกันประหยัดทั้งพลังงานเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อรอความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในไม่ช้า ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ