จีนขยับหยวนเศรษฐกิจไทยได้หรือเสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2005 15:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์:
การค้าระหว่างไทยและจีนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2543-2548) แม้ว่าสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้ารวมมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายใหญ่ของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา โดยที่ผ่านมาไทยขาดดุลกับจีนมาตลอด แม้แต่หลังจากที่จีนได้มีการปรับค่าเงินของจีนให้ใกล้เคียงกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในการส่งออกมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากความได้เปรียบของค่าเงินหยวนได้ลดลงจะเป็นผลดีของการแข่งขันด้านการส่งออกของทุกประเทศ ไม่ใช่แต่เฉพาะไทยเท่านั้น และได้คาดการณ์ว่าจีนจะปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าขึ้นอีกภายใน 3 ปี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ได้ประเมินว่าในปี 2548 นี้ค่าเงินหยวนจะแข็งขึ้นประมาณ 6.15% โดยจะอยู่ที่ระดับ 7.64 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อไทยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ความสามารถและประสิทธิภาพของไทยในการเจาะตลาดจีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ทำกับจีนและการดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนจากจีน ซึ่งได้สอดคล้องกับความเห็นของ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นที่ตามมาหลังจากที่จีนได้ปรับค่าเงินหยวน คือ ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งเงินดอลลาร์ยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ว่าการแข็งค่าของเงินบาทในอัตราที่น้อยกว่าการปรับค่าเงินหยวนของจีน น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่จีนได้นำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาก็คือ ความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวของจีนนั้นขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนหรือปัจจัยด้านราคา ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าวก็คงจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดการณ์กันว่าในปี 2548 เศรษฐกิจของจีนจะยังคงขยายตัวได้ประมาณ 8-9%
ในรายงานของเศรษฐกิจอาเซียนล่าสุดของเมอร์ริลลินซ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศในเอเชียของการเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบตะกร้าเงินของจีนที่ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ค่าเงินสกุลต่างๆ แข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของรายได้ ถ้าหากมีการแข็งค่ามากกว่า 2% แต่ถ้าแข็งค่าขึ้น 2% ผลกระทบจะเกิดน้อยมากหรือแทบจะไม่มี
นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธุ์ รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ) ธนชาติ) ได้ให้ความเห็นว่า การที่เงินหยวนปรับค่าแข็งขึ้นจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยอ้อม เพราะทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยและทำให้การนำเข้าถูกลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ รวมถึงจะส่งผลให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้น ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังขาดดุล และยังทำให้เงินทุนเริ่มไหลเข้ามาเก็งกำไรในเอเซีย เพราะมองว่าในระยะยาวค่าเงินหยวนจะปรับขึ้นมากกว่านี้
ประเด็นวิเคราะห์:
จากการที่ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวได้ประมาณ 8-9% ซึ่งมาจากการปรับค่าเงินหยวนลอยตัว และเป็นที่จับตามองของนักวิเคราะห์ทั้งหลายว่าจีนจะนำเศรษฐกิจโลกไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ปัจจุบันไปสู่สถานการณ์ใหม่ทั้งด้านนโยบายค่าเงินของประเทศเอเชียตะวันออกและการแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี การปรับค่าขึ้นของเงินหยวนในครั้งนี้เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยในอนาคตถ้าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 10% จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเติบโตลดลง 0.9% ส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง 0.7% และทำให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 40 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ