รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคกรุงเทพฯ ประจำเดือน มิ.ย.48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2005 11:57 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงเทพฯเดือนมิถุนายน 2548 และระยะ 6 เดือนของปี 2548
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เดือนมิถุนายน 2548 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการของเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจำนวน 320 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เดือนมิถุนายน
2548
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเท่ากับ 100 และมิถุนายน 2548 เท่ากับ 108.1 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2548 เท่ากับ 107.9
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
เดือนมิถุนายน 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.2
2.2 เดือนมิถุนายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 3.7
2.3 เดือนมกราคม - เดือนมิถุนายน 2548 เทียบกับช่วงเดือนกันของปี 2547
สูงขึ้นร้อยละ 3.1
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เดือนมิถุนายน 2548
เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.4 สำหรับสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1 ดังนี้
สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่
- เนื้อสุกร ผู้บริโภคหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นทดแทน เนื่องจากมีราคาสูงประกอบ
กับทางราชการได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาสุกรราคาสูงขึ้นโดยกำหนดให้สุกรเป็นสินค้าควบคุม
- ไก่สด ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาจะละเม็ดดำ ปลาทู กุ้งขาว
กุ้งกุลาดำ หอยแครง หอยลาย หอยแมลงภู่ และกบ
- ผักสด ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว บวบ มะนาว ขึ้นฉ่าย ขิง ดอกกุ้ยฉ่าย กระเทียม และพริกแห้ง ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ไข่ไก่ ไข่เป็ด ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยขณะที่ความต้องการมีต่อเนื่อง
- นมและผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมสด นมเปรี้ยว ครีมเทียม และนมถั่วเหลือง
- ผลไม้สด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก สับปะรด มะม่วง ทุเรียน ฝรั่ง และชมพู่ เป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้บางชนิด
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4
สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ค่ากระแสไฟฟ้า จากการที่คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ได้มีมติเห็นชอบให้เรียกเก็บค่าเอฟทีสำหรับช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2548 เพิ่มขึ้นอีก 3.55 สตางค์ต่อหน่วย
- สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาล้างจาน
และสารกำจัดแมลง
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ปรับราคาสูงขึ้นตาม
ภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
- ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพู แป้งทาผิว กระดาษชำระ
ครีมนวดผม และผ้าอนามัย
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะ 6 เดือนแรก
ของปี 2548
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศระยะ 6 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ106.7 เทียบกับดัชนีราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 3.1
4.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากการสูงขึ้น
ของราคาเนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป
4.2 สินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.7
จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าเช่าบ้าน
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0- 2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ