รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน ก.ค.49

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 2, 2006 16:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน กรกฎาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2549 เท่ากับ 115.3 สำหรับเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 115.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.2
2.2 เดือนกรกฎาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 4.4
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (มิถุนายน 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง) นับเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.3 จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผักสด และผลไม้ร้อยละ 1.1 เป็นสำคัญ และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.3 เช่นกัน สาเหตุหลักยังคงเป็นดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ถึงแม้จะมีอัตราการเร่งน้อยกว่าเดือนที่แล้วค่อนข้างมาก (มิถุนายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.4)
3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผักสดร้อยละ 1.3 และผลไม้ร้อยละ 1.0 เนื่องจากฝนตกชุกทำให้ผักใบส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย ส่วนผลไม้เป็นช่วงปลายฤดูกาล นอกจากนี้ราคาข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวสูงขึ้นร้อยละ 5.6 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลประกอบกับความต้องการส่งออกมากขึ้น ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และไข่มีราคาลดลง
3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.3 ปัจจัยหลักเป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 1.4 เป็นสำคัญ นอกจากนี้สินค้าอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ สบู่ถูตัว แชมพู และครีมนวดผม เป็นต้น
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2548 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมัน และค่าโดยสารสาธารณะที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก รวมทั้ง ราคาผักสดและผลไม้ที่ขึ้นลงตามฤดูกาล มีความผันผวนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีราคาในช่วงที่เหลือของปี 2549 น่าจะมีแนวโน้มต่ำลง เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 นั้น ดัชนีราคามีค่าสูง จากผลของการเปรียบเทียบราคาน้ำมันที่ลอยตัวแล้วกับราคาน้ำมันที่ถูกควบคุมในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ดังจะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งยังเป็นราคาควบคุม เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 33.5 แต่ ราคาน้ำมันเดือนกรกฎาคม 2549 เทียบกับเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 18.3 เท่านั้น และคาดว่าในช่วง 5 เดือนหลังของปี 2549 นี้ แรงกดดันของราคาน้ำมันต่อดัชนีราคาน่าจะลดลงอีก
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 เท่ากับ 104.8 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนมิถุนายน 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
5.2 เดือนกรกฎาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.0
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ