กรมการประกันภัยทำการปรับปรุงเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย พร้อมทั้งจัดทำรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและคุ้มครองผู้เอาประกันภัยมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 17, 2006 11:45 —คปภ.

          นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากการเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติหรือสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ใน 6 จังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียและเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเสียหายบางส่วนได้มีการทำประกันภัยไว้และได้รับการชดใช้ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในบางรายได้เกิดข้อโต้แย้งบางประการระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัยในเรื่องของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากข้อความในเอกสารแนบท้ายบางแบบคลุมเครือยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย กรมการประกันภัย จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยและกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ขึ้น เพื่อทำการปรับปรุงและเพิ่มเติมเอกสารแนบท้ายดังกล่าว ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันยิ่งขึ้น คณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยผู้แทนจากกรมการประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมนายหน้าประกันภัย ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฯได้ดำเนินการปรับปรุงเอกสารแนบท้ายเสร็จสิ้นแล้ว และอธิบดีกรมการประกันภัยในฐานะนายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบเอกสารแนบท้ายที่ได้ปรับปรุงและกำหนดขึ้นใหม่แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2549 เป็นต้นไป สาระสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงและเพิ่มเติมเอกสารแนบท้ายต่างๆ มีดังนี้ 
1. ปรับปรุงเอกสารแนบท้ายเดิม จำนวน 13 แบบ ให้มีข้อความชัดเจนยิ่งขึ้น คือเอกสารแนบท้ายคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยจากควันที่เกิดขึ้นจาก เครื่องทำความร้อนและชุดเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหาร ภัย เนื่องจากน้ำ ภัยอากาศยาน ภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดหรือคลื่นใต้น้ำหรือสึนามิ ภัยจากการระเบิด การเฉี่ยวหรือการชนของยวดยานพาหนะ ภัยจากลูกเห็บ การลุกไหม้การระอุหรือการระเบิดเนื่องจากการระอุตามธรรมชาติ การระอุหรือการระเบิดเนื่องจากการระอุตามธรรมชาติ ภัยต่อเครื่องไฟฟ้าสำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และภัยต่อเครื่องไฟฟ้าสำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
2. การรวมเอกสารแนบท้ายเดิม 2 แบบ คือเอกสารแนบท้ายคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายจากการจลาจลและนัดหยุดงานกับเอกสารแนบท้ายคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหาย จากการกระทำอย่างป่าเถื่อนหรือการกระทำอันมีเจตนาร้าย เข้าด้วยกัน เป็น เอกสารแนบท้ายคุ้มครอง การนัดหยุดงาน การจลาจลหรือการกระทำอันมีเจตนาร้าย (ยกเว้นการกระทำเพื่อผลทางการเมือง) เพื่อความสะดวก ป้องกันปัญหาการตีความและข้อโต้แย้ง พร้อมทั้งกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้ต่ำลงกว่าการแยกซื้อแต่ละภัยถึง 55%
3. การจัดทำเอกสารแนบท้ายขึ้นใหม่ 2 แบบ เพื่อคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติที่มีโอกาส เกิดในคราวเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดภัยแล้วไม่ได้รับความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัย คือ
3.1 เอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครองรวมกลุ่มภัยธรรมชาติสำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย (คุ้มครองภัยลมพายุ ภัยจากลูกเห็บ ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม และ ภัยเนื่องจากน้ำ)
3.2 เอกสารแนบท้ายเอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครองรวมกลุ่มภัยธรรมชาติสำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย (คุ้มครองภัยลมพายุ ภัยจากลูกเห็บ ภัยแผ่นดินไหว และภัยน้ำท่วม)
การกำหนดเอกสารแนบท้ายรูปแบบใหม่ดังกล่าวนั้น เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีเหตุการณ์ ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมพายุ และภัยเนื่องจากน้ำ เป็นต้น และแต่ละครั้งมีสาเหตุจากภัยหลายอย่างในคราวเดียวกันดังเช่น เหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมาโดยผู้เอาประกันภัยบางรายซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมเฉพาะภัยน้ำท่วมไม่ได้ซื้อภัยแผ่นดินไหว จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น เพื่อให้การประกันภัยเข้ามารองรับความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอกสารแนบท้ายดังกล่าวที่กำหนดขึ้นใหม่นี้จะให้ความคุ้มครองครอบคลุมกว้างขึ้นในแบบเดียวโดยที่ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัยต่ำกว่าการแยกซื้อภัยเพิ่มแต่ละภัย ถึง 35%
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวต่อไปว่าการปรับปรุงเอกสารแนบท้ายฯดังกล่าวและการกำหนดเอกสารแนบท้ายใหม่เฉพาะภัยธรรมชาติขึ้นใช้นั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เอาประกันภัย เนื่องจาก จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นและอัตราเบี้ยประกันภัยลดลง ข้อความในเอกสารแนบท้ายมีความชัดเจน และเหมาะสมเป็นธรรมยิ่งขึ้นช่วยลดปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย อีกทั้ง การเพิ่มรูปแบบเอกสารแนบท้ายเกี่ยวกับภัยธรรมชาตินั้นสามารถเข้ามารองรับสภาพความเสี่ยงภัยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และผู้เอาประกันภัยมีทางเลือกในการทำประกันภัยเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้สำรวจความเสี่ยงภัยของตนและจัดซื้อประกันภัยให้ครอบคลุมเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการทำประกันภัยอย่างสูงสุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อทางโทรศัพท์ หมายเลข 0-2547-4550 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ