ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท “บ. น้ำตาลขอนแก่น” ที่ระดับ “A-/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday November 23, 2012 16:32 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหู้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล และผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของโรงงานผลิตน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยเอาไว้ได้ ส่วนผลการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชานั้นคาดว่าจะสามารถมีผลกำไรได้ในปีการผลิต 2556 และ 2557 ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการลงทุนในช่วงปีการผลิต 2555-2558 ก็ตาม แต่ก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งไว้ได้ในระยะปานกลาง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 68.62% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 4 แห่งในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และชลบุรี โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 80,000 ตันอ้อยต่อวัน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 7.3 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2554/2555 และผลิตน้ำตาลได้ 753,393 ตัน ซึ่งจัดอยู่ในลำดับ 4 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.3% ในปีการผลิต 2554/2555 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีสัดส่วน 19.14% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 18.3% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 11.2% โรงงานของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 92.24 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยเมื่อวัดจากอ้อยในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับปีการผลิต 2554/2555 ซึ่งดีกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยที่ 90.8 กก. ต่อตันอ้อย

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 10% ของรายได้รวม ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำน่ายรวมในช่วงเดียวกัน

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยแล้ว กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นยังดำเนินธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาด้วย โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการผลิต 2553 และมีอ้อยป้อนโรงงานทั้ง 2 แห่งจำนวน 300,299 ตันอ้อยในปีการผลิต 2554 อย่างไรก็ตาม ปริมาณอ้อยที่หีบในปีการผลิต 2555 ลดลงเป็น 245,042 ตันเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและการขาดแคลนแรงงานฝีมือในการปลูกและเก็บเกี่ยว บริษัทส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตจากโรงงานในประเทศลาวและกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศยุโรป ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้จะดีขึ้นในปีถัดไป โดยโรงงานในประเทศลาวจะมีผลกำไรในปีการผลิต 2556 และโรงงานในประเทศกัมพูชาจะมีผลกำไรในปีการผลิต 2557

เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านการจัดหาอ้อย บริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้ย้ายและขยายกำลังการผลิตไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,250 ล้านบาท ศูนย์การผลิตดังกล่าวประกอบด้วยโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้า โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และโรงผลิตก๊าซชีวภาพ โดยโครงการระยะแรกเริ่มดำเนินการผลิตในปีการผลิต 2554 และระยะที่ 2 เริ่มในปีการผลิต 2555 สำหรับการก่อสร้างศูนย์การผลิตที่อำเภอบ่อพลอยระยะที่ 3 รวมทั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จังหวัดเลยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปีการผลิต 2556

ผลการดำเนินงานของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นในช่วงปีการผลิต 2554 จนถึง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2555 ดีขึ้นโดยรายได้เพิ่มขึ้น 36% เป็น 16,460 ล้านบาทในปีการผลิต 2554 จาก 12,071 ล้านบาทในปีการผลิต 2553 รายได้ของบริษัทสูงขึ้นเป็น 18,325 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2555 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอยแล้วเสร็จและทำให้กำลังการหีบอ้อยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ตันอ้อยต่อวัน รวมทั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เพิ่มขึ้นเป็น 30 เมกะวัตต์ในปีการผลิต 2554 และ 40 เมกะวัตต์ในปีการผลิต 2555 จาก 20 เมกะวัตต์ในปีการผลิต 2553 นอกจากนี้ กำลังการผลิตเอทานอลรวมก็เพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ลิตรต่อวันในปีการผลิต 2555 จาก 150,000 ลิตรต่อวันในปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทสูงขึ้นเป็น 21.8% ในปีการผลิต 2554 และ 18.32% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2555 จาก 13%-15% ในช่วงปีการผลิต 2550-2552 กระแสเงินสดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 23.41% ในปีการผลิต 2554 จาก 5.01% ในปีการผลิต 2553 และ 18.5% ในปีการผลิต 2552 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงสูงเนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในหลายโครงการซึ่งรวมถึงโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ตลอดจนศูนย์การผลิตที่อำเภอบ่อพลอย และโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จังหวัดเลย อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อโครงการลงทุนต่างๆ ของบริษัทเริ่มดำเนินการผลิตเต็มกำลัง

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2554/2555 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยมีมากถึง 98 ล้านตันอ้อย ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกอ้อย รวมทั้งจากการมีพื้นที่เพาะปลูกและชาวไร่อ้อยที่เพิ่มมากขึ้น ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในเดือนมกราคม 2554 อยู่ในระดับสูงที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงในประเทศบราซิลและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ระดับราคาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 28.87 เซนต์/ปอนด์ในเดือนตุลาคม 2554 จากผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของไทย ราคาน้ำตาลในปี 2555 ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 22.98 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2555 จาก 24.05 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2555 อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปี 2555 จากปริมาณอ้อยที่ลดลงเนื่องจากผลผลิตที่ต่ำลงในประเทศบราซิลและอินเดีย ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)
อันดับเครดิตองค์กร:	                                     คงเดิมที่ A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KSL14DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557	        คงเดิมที่ A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2558 	    A-
แนวโน้มอันดับเครดิต:	                                    Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2555  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ