ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ธนบรรณ” ที่ “BBB/Stable”

ข่าวทั่วไป Thursday April 4, 2013 17:01 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ธนบรรณ จำกัด ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประวัติผลประกอบการทางการเงินที่ดี ความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และฐานทุนที่เพียงพอ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการพัฒนาและการปรับปรุงระบบปฏิบัติงานและการจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยขั้นตอนกระบวนการและระบบต่างๆ อยู่ในระหว่างการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารเช่นเดียวกับบริษัทแม่ คือ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์และการมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับสูงถือเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทธนบรรณจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดและปรับเพิ่มผลประกอบการในปี 2556 นี้ได้ ในขณะเดียวกันก็คาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ พร้อมทั้งยังคงนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เข้มงวดและได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่อย่างต่อเนื่อง

บริษัทธนบรรณก่อตั้งในปี 2521 โดยความร่วมมือของกลุ่มผู้ประกอบการจาก 3 ตระกูล เมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อคงค้าง บริษัทมียอดคงค้างมากเป็นอันดับ 7 ในจำนวนผู้ประกอบการ 11 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง บริษัทเน้นการดำเนินธุรกิจในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายพื้นที่การดำเนินธุรกิจออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ก่อนที่บริษัทจะอยู่ภายใต้เครือข่ายของธนาคารไทยเครดิตในปี 2552 สินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ 500-700 ล้านบาทโดยขึ้นอยู่กับภาวะการแข่งขันในแต่ละปี ในปี 2555 สินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 39.2% สู่ระดับ 1,370 ล้านบาท แม้ว่าขนาดของสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สถานะทางการตลาดของบริษัทยังถือว่าด้อยกว่าคู่แข่งรายใหญ่ในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ผลงานความสำเร็จที่ผ่านมาช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับสินเชื่อและสร้างผลประกอบการด้านการเงินที่ดีได้อย่างน่าพอใจ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าโครงสร้างธุรกิจของบริษัทเป็นที่ยอมรับแม้ว่าธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์จะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงก็ตาม

โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจช่วยให้บริษัทสามารถดำรงอยู่ได้แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงปี 2548-2549 ด้วยการมีนโยบายทางธุรกิจที่เข้มงวดและระมัดระวัง (Conservative) ซึ่งได้รับการวางรากฐานจากผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทจึงประสบความสำเร็จในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงดังกล่าว หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญในปลายปี 2552 บริษัทก็ได้ทำการปรับปรุงระบบปฏิบัติงานพร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อและระบบการจัดเก็บหนี้ รวมถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบและนโยบายการจัดการความเสี่ยงมาโดยตลอด

สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 592 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 666 ล้านบาทในปี 2553 และเป็น 984 ล้านบาทในปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 1,370 ล้านบาทในปี 2555 ตามลักษณะของธุรกิจสินเชื่อยานยนต์นั้น สินเชื่อใหม่ส่วนใหญ่มักมาจากการส่งผ่านโดยตัวแทนจำหน่าย แม้ว่าบริษัทจะมีตัวแทนจำหน่ายเกือบ 100 รายในเครือข่ายทางการตลาด แต่กว่า 70% ของสินเชื่อใหม่ยังคงมาจากตัวแทนจำหน่าย 10 รายใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจในแง่ของตัวแทนจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและมีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีกับตัวแทนจำหน่ายช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการที่ดีและรวดเร็วแก่ตัวแทนจำหน่ายในขณะที่ยังคงดำรงนโยบายเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด ณ ปัจจุบัน บริษัทพยายามกระจายฐานตัวแทนจำหน่ายโดยการขยายพื้นที่ทางการตลาดและเพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายให้กว้างขวางและมากขึ้นด้วย

คุณภาพสินเชื่อของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 10.5% ในปี 2551 เป็น 1.6% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมากเป็น 3.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นเป็น 2.7% ณ สิ้นปี 2555 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้นพร้อมทั้งเร่งกระบวนการจัดเก็บและเร่งรัดหนี้ให้เร็วขึ้น

ผลประกอบการของบริษัทในปี 2553 และ 2554 มีภาระจากการมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากสัญญาการให้คำปรึกษา โดยสัญญาดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายธุรกิจจากผู้ถือหุ้นเก่ามาเป็นธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยเป็นไปด้วยความราบรื่น บริษัทมีกำไรสุทธิในปี 2553 อยู่ที่ 40 ล้านบาท และปรับเพิ่มเป็น 53 ล้านบาทในปี 2554 ซึ่งคาดว่าผลประกอบการในปี 2555 จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษดังเช่นปี 2553 และ 2554 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในปี 2555 ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นผลทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นและบริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้นจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืน กำไรสุทธิของบริษัทลดลงมากในปี 2555 โดยลดลงมาอยู่ที่ 22 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.8% ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการอื่นในอุตสาหกรรม ความพยายามในการพัฒนาคุณภาพสินเชื่อของบริษัทคาดว่าจะสามารถช่วยลดจำนวนการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนลงได้ โดยผลขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนคาดว่าจะลดลงจากที่มีผลขาดทุนค่อนข้างมากในปี 2555 ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถปรับปรุงผลประกอบการในปี 2556 ให้ดีขึ้น คุณภาพเครดิตโดยรวมของบริษัทจะถดถอยลงซึ่งจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทในที่สุด

บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินเพิ่มขึ้นมากหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ปัจจุบัน บริษัทจัดอยู่ในกลุ่ม Solo Consolidation ตามเกณฑ์การกำกับดูแลแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้บริษัทมากขึ้นจากการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารแม่ อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทปรับลดลงจากระดับ 56.7% ณ สิ้นปี 2554 เป็น 39.9% ณ สิ้นปี 2555 อันเป็นผลจากการที่บริษัทขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยการใช้เงินกู้ยืมประกอบกับการมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูง แม้ว่าระดับฐานทุนในปัจจุบันของบริษัทจะเพียงพอต่อการขยายฐานสินเชื่อตามแผน แต่ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่าบริษัทจะดำรงฐานทุนเอาไว้ให้มากกว่าผู้ประกอบการสินเชื่อพาหนะทั่ว ๆ ไป โดยฐานทุนที่มีมากกว่าปกติจะใช้รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับที่สูงกว่าเนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

บริษัท ธนบรรณ จำกัด (TNB)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ