ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” พร้อมลดอันดับเครดิตองค์กร "บ. ไทยเบฟเวอเรจ" เป็น “AA-" จาก "AA" ด้วยแนวโน้ม "Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 28, 2013 17:01 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 พร้อมทั้งประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็นระดับ “AA-” จาก “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยการประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากบริษัทได้ซื้อหุ้น 28.6% ใน Fraser and Neave Limited (F&N) ซึ่งประกอบธุรกิจที่หลากหลายโดยมีฐานการดำเนินงานในประเทศสิงคโปร์ การลงทุนครั้งนี้คิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์โดยบริษัทใช้เงินทุนจากการกู้ยืม บริษัทวางแผนจะคืนเงินกู้เป็นก้อนโดยใช้เงินสดรับจากการลดทุนของ F&N ทั้งนี้ การชำระเงินคืนล่วงหน้านี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการหาเงินกู้ใหม่เพื่อนำไปใช้คืนเงินกู้เก่าที่มีอยู่ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคงภาระหนี้ให้อยู่ในระดับปานกลางเนื่องจากบริษัทจะยังคงจ่ายเงินปันผลในระดับสูงอย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะไม่ทำการลงทุนขนาดใหญ่อื่น ๆ อีกในระยะปานกลาง รวมถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไป

บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ในประเทศไทยโดย ณ เดือนตุลาคม 2555 บริษัทมีตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 68% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท กลุ่มสินค้าของบริษัทประกอบด้วยสุรา เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ และอาหาร โดยมีตราสัญลักษณ์สินค้าหลัก คือ “รวงข้าว” “หงส์ทอง” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุรา และ “ช้าง” สำหรับเบียร์ “โออิชิ” สำหรับเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มอัดลมซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายภายใต้ชื่อ “เอส” ด้วย สถานะทางธุรกิจของบริษัทถือว่าเข้มแข็ง โดยในปี 2555 บริษัทครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 90% ในตลาดสุราวิสกี้ไทย (Off-trade) และประมาณ 50% ในตลาดชาพร้อมดื่ม อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในตลาดเบียร์ไทยอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ 30% ในปี 2555

บริษัทมีโรงงานผลิตหลากหลายประเภทในประเทศไทย ได้แก่ โรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 10 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และโรงกลั่นอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่และระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนกฎระเบียบที่เข้มงวดและข้อห้ามต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จุดแข็งของสถานะทางการเงินของบริษัทคือยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้วยการใช้เงินกู้ยืมขนาดใหญ่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน รวมถึงเงินปันผลจ่ายในระดับสูง และภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนตามกำหนดเวลาแล้วทำให้คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนตัวลงจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นในระยะใกล้

บริษัทมีรายได้รวม 161,044 ล้านบาทในปี 2555 เติบโต 22% จากปีก่อน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2555 รายได้จากธุรกิจสุราคิดเป็น 58% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจเบียร์สร้างรายได้ 21% ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารสร้างรายได้ประมาณ 21% รายได้สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ 39,154 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายรวมของบริษัทค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับ 15%-16% ตั้งแต่ปี 2553 ธุรกิจสุราเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนการสร้างกำไรของบริษัทและคาดว่าธุรกิจนี้จะค่อย ๆ เติบโตเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคยังมีอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารนั้นโดยลักษณะของธุรกิจเองเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ในขณะที่ธุรกิจเบียร์ยังคงแสดงผลขาดทุนอยู่ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับขึ้นจาก 15,000 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาทในปี 2555 และ 5,400 ล้านบาทสำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตอยู่ที่ระดับที่สูงกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปีในระยะปานกลาง ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็งของบริษัทช่วยเสริมจุดแข็งของสถานะทางการเงินและใช้เป็นเงินสำรองสำหรับการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัท ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทแม้ว่ายังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ก็ปรับลดลงหลังจากที่ลงทุนใน F&N โดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ต่ำลง สำหรับอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 29.4 เท่าในปี 2555 แต่คาดว่าจะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 15 เท่าเมื่อบริษัทรับรู้ภาระดอกเบี้ยเต็มจำนวนที่เกิดจากเงินกู้ก้อนใหม่นี้ สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากเงินสดจำนวน 4,500 ล้านบาท ตลอดจนสินค้าคงคลังประเภทสุราที่ผลิตแล้วเสร็จจำนวน 11,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อจากธนาคารต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 52,000 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารและมีความยืดหยุ่นทางการเงินในการเข้าถึงนักลงทุนในตลาดเงินได้ง่าย

ณ สิ้นปี 2555 เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 104,153 ล้านบาท จาก 18,227 ล้านบาทในปี 2554 ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการซื้อหุ้น 28.6% ในบริษัท F&N ซึ่งมีมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 92,000 ล้านบาท) บริษัทลงทุนในครั้งนี้ด้วยเงินกู้ยืมก้อนใหม่ การลงทุนใน F&N นั้นได้ร่วมกับกิจการที่เกี่ยวข้องกันคือ TCC Assets Limited (TCCA) ซึ่งมีตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ TCCA ถือหุ้น 61% ใน F&N ผ่านการทำการคำเสนอซื้อหุ้น F&N ทั้งหมดในช่วงเดือนกันยายน 2555 ถึงกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ตามประกาศของ F&N เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ระบุว่า F&N เสนอจ่ายคืนเงินสด 3.28 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น 1 หุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นของ F&N การกระจายเงินสดในครั้งนี้ของ F&N สืบเนื่องมาจากการขายหุ้นที่ F&N ถืออยู่ใน Asia Pacific Breweries Limited และ Asia Pacific Investment Pte. Ltd. (APB) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินสดประมาณ 1,352.75 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จาก F&N ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 บริษัทจะใช้เงินสดทั้งหมดที่ได้รับจากการลดทุนของ F&N สำหรับจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมซึ่งรวมถึงภาระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนใน F&N ด้วย การชำระคืนเงินกู้ล่วงหน้านี้จะช่วยลดภาระเงินก้อนใหญ่ที่บริษัทต้องชำระคืนเมื่อครบกำหนด มีผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนตัวลงจาก 22.4% ในปี 2554 เป็น 55% ในปี 2555 และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35%-45% ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินกู้รวมของบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากบริษัทมีแผนจะใช้ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวน 12,000 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2557 และมีเงินกู้ครบกำหนดที่ต้องชำระคืนในช่วง 5 ปีข้างหน้าโดยมีภาระชำระคืนเงินก้อนใหญ่ในช่วงครึ่งหลัง นอกจากนี้ การจ่ายเงินปันผลจำนวนมากก็จะชะลอการลดภาระหนี้สินของบริษัทให้ช้าลงด้วย

บริษัทไทยเบฟเวอเรจคาดหวังว่าการลงทุนใน F&N จะสร้างประโยชน์หลัก ๆ ให้แก่บริษัท 2 ด้าน คือ การขยายตลาดต่างประเทศและการขายสินค้าของบริษัทข้ามไปยังเครือข่ายการกระจายสินค้าของ F&N อย่างไรก็ตาม การผสานธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการประหยัดต้นทุน การกระจายสินค้า และการกระจายทางภูมิศาสตร์นั้นอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะปรากฏผล ในระหว่างนี้คาดว่าบริษัทจะได้รับเพียงเงินปันผลจาก F&N เท่านั้น

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ