ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตพันธบัตรไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท “บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” ที่ระดับ “A+/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday June 21, 2013 18:01 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตพันธบัตรไม่มีประกันของ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2557 ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บตท. ที่ระดับ “A+” ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บตท. จะนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไปซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับระดับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. เนื่องจากได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 แม้ว่าโครงสร้างคณะกรรมการของ บตท. จะมีความเหมาะสมในการรองรับพันธกิจ แต่อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ก็มีข้อจำกัดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การมีประวัติผลงานตามพันธกิจในช่วงสั้น ๆ เนื่องจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไม่เอื้ออำนวย และต้นทุนการดำเนินงานที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารชุดใหม่ของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน รวมทั้งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ ยังคาดว่า บตท. จะได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลในการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อให้มีอุปสงค์ในการออกตราสาร MBS เพิ่มมาก

บตท. ก่อตั้งปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีก 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท.

เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน ซึ่งประมาณ 80% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท. นั้นเป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรก แล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังและขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นปัจจัยจำกัดศักยภาพการเติบโตของ บตท. เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสภาพคล่องที่เพียงพอและมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรงเลือกที่จะเก็บพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอาไว้เอง นอกจากนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังสร้างผลตอบแทนที่สูงและมีน้ำหนักความเสี่ยงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภคและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ

ในปี 2550 และ 2551 บตท. ได้ปรับปรุงขั้นตอนการซื้อสินเชื่อ รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบการบริหารงานและพัฒนาระบบงานภายใน ในปลายปี 2550 บตท. ได้แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ รวมทั้งแต่งตั้งผู้จัดการในตำแหน่งสำคัญ ๆ และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บตท. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศ ระบบบริหารความเสี่ยง และระบบควบคุมภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการให้บริการสินเชื่อและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อตามแผนการขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 บตท. ได้แต่งตั้งรองกรรมการผู้จัดการให้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่หลังจากกรรมการผู้จัดการคนก่อนหมดวาระ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า บตท. จะยังคงดำเนินกิจการต่อไปอย่างราบรื่นเนื่องจากมีความต่อเนื่องของผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญ

ในปี 2552 บตท. ร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร 2-3 แห่งในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว บตท. วางแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรปัจจุบัน พร้อมทั้งขยายเครือข่ายพันธมิตรให้เพิ่มมากขึ้น ในปี 2555 บตท. ซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากโครงการความร่วมมือและโครงการจัดซื้อพอร์ตสินเชื่อจากสถาบันการเงินพันธมิตรได้ทั้งสิ้น 3,256 ล้านบาท ซึ่งได้สร้างยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 4,756 ล้านบาทในปี 2555 เพิ่มขึ้นจาก 1,732 ล้านบาทในปี 2554

การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่งผลทำให้ บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 ภายหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 318 ล้านบาทในปี 2550 แล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ก็ลดลงจาก 39.79% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 6.90% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.94% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นมากถึง 18.84% ในปี 2554 อย่างไรก็ดี ในปี 2555 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมได้ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 5.57% เป็นผลจากการแก้ไขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ในปี 2551 บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 และการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวขึ้นเป็น 4.1 ล้านบาทจากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับปี 2555 บตท. มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 ล้านบาทภายหลังจากซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ามาเป็นจำนวนมากและได้รับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงการแก้ไขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่งผลทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง

ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น โดยในปี 2555 คิดเป็น 80% ของเงินทุนรวม ในขณะที่ต้นทุนการเงินเฉลี่ยในปี 2555 อยู่ที่ 3.44% เมื่อเทียบกับระดับ 3.64% ในปี 2554 ซึ่งยังถือว่ามีต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการสินเชื่อบ้านในตลาดแรก ปัจจัยดังกล่าวทำให้ บตท. อยู่ในสถานะที่เสียเปรียบในการแข่งขัน

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 บตท. ภายใต้ชื่อของ บริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ บตท. (5) จำกัด ได้ออกพันธบัตรมีประกัน 660 ล้านบาท (MBSB15DA) ซึ่งถือเป็นตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) ตามแผนที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ การออกตราสาร MBS ส่งผลบวกต่อ บตท. กล่าวคือช่วยให้ บตท. สามารถทำตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน และช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินของ บตท. ในปัจจุบัน

บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (SMC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
พันธบัตรไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2557 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ