ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต “ธ. ทหารไทย” องค์กรที่ “A+” หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันที่ “A” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ “BBB+” พร้อมคงแนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Wednesday July 17, 2013 13:02 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารที่ระดับ “A” และ “BBB+” ตามลำดับ โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารคือ ING Bank N.V. (ING Bank) อันดับเครดิตยังสะท้อนสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในระดับสูงและเงินกองทุนจำนวนมากด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงโดยสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่อยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะลดลงก็ตาม ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงอ่อนแอ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงความไม่แน่นอนในภาวะตลาดเงินโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายว่าสถานะทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อไปในระยะกลาง การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยให้การบริหารความเสี่ยงของธนาคารดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่มูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารได้เป็นอย่างดีด้วย

อันดับเครดิต “BBB+” ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 4,000 ล้านบาท (TMB09PA) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ดังกล่าว หุ้นกู้ประเภทนี้เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน ไม่สะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสามารถไถ่ถอนคืนได้ภายหลัง 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และทุก ๆ 6 เดือนหลังจากนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายดอกเบี้ยในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในรอบบัญชีก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ การไม่จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคาร

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารประกอบด้วย ING Bank (รวมถึง ING Support Holding) และกระทรวงการคลัง ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น ณ เดือนมีนาคม 2556 เท่ากับ 30.1% และ 26.1% ตามลำดับ ING Bank ในฐานะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารธนาคาร ตลอดจนช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถานะการเงินและธุรกิจของธนาคาร อีกทั้งยังได้นำความรู้ในการบริหารความเสี่ยงและจุดแข็งด้านการบริการลูกค้ารายย่อยของ ING Bank มาใช้กับธนาคารซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต ธนาคารเริ่มดำเนินโครงการ Transformation Program มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและมุ่งเน้นการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อความสำเร็จในอนาคต อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังคงเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ การเติบโตของสินเชื่อที่ทำกำไร การพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ การรักษาแหล่งเงินทุนให้มีความมั่นคง และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 7 ณ เดือนมีนาคม 2556 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 4.9% และเงินรับฝาก 5.2% ธนาคารมีสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เท่ากับ 454.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 400.8 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม 2555 ธนาคารมีแผนการเติบโตโดยมุ่งเน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร อย่างไรก็ตาม สินเชื่อดังกล่าวมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงซึ่งอาจส่งผลให้สถานะด้านเครดิตของธนาคารอ่อนแอลงได้หากลูกหนี้เหล่านั้นประสบปัญหาจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ระบบการจัดการความเสี่ยงของธนาคารได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นทั้งโดยการปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการตัดจำหน่ายหนี้เสีย ส่งผลให้ปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงจาก 76.5 พันล้านบาทในปี 2550 เป็น 21.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 16.32% ในปี 2550 เป็น 4.80% ในเดือนมีนาคม 2556 แต่ยังคงสูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่มิใช่บริษัทจดทะเบียน) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 2.97% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีฐานเงินทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเพื่อใช้รองรับความสูญเสียที่มิได้คาดหมายจากความเสี่ยงในช่วงขาลงในอนาคต โดย ณ เดือนมีนาคม 2556 สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) (สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกิน 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) คิดเป็น 25% ของเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลดลงจาก 41% ในปี 2554 และดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 39%

ในปี 2555 รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองส่วนเกิน ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากในปี 2555 โดยมีต้นทุนด้านเครดิต 8.6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 182% เทียบกับปีก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิสำหรับปี 2555 มีจำนวน 1.6 พันล้านบาท ลดลง 60% จาก 4.0 พันล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) สำหรับปี 2555 เท่ากับ 0.22% ลดลงจาก 0.61% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาสแรกของปี 2556 เป็นที่น่าพอใจ โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 1.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 124% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ROAA ที่ยังไม่ได้ปรับเต็มปีเท่ากับ 0.25% เพิ่มขึ้นจาก 0.11% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าธนาคารจะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งและเสถียรภาพให้แก่สถานะการเงินได้ในระยะกลาง

ทางด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ธนาคารประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนให้มีการกระจายตัวและมีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น โดยมีฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารยังคงดำรงสภาพคล่องไว้ในระดับสูง โดย ณ เดือนมีนาคม 2556 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินเท่ากับ 90% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 95%

ธนาคารมีฐานเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะกลาง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 10.70%, 11.50% และ 17.31% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.50%, 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TMB19NA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
TMB204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
TMB09PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2652 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ