ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร “บ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ” เป็น “BBB+” จาก “A-” ด้วยแนวโน้ม "Stable"

ข่าวทั่วไป Tuesday August 6, 2013 16:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เป็น “BBB+” จาก “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงระยะเวลาในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทหลังอุทกภัยปี 2554 ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่คาดหมายไว้เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวต่ำกว่าคาดและอนาคตของสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ที่ยังไม่แน่นอน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารบริษัทในการจัดการธุรกิจช่วงวิกฤติ ตลอดจนรายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค การกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์หลังจากที่บริษัทซื้อนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่น ทั้งนี้ ความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังว่าธุรกิจไฟฟ้าและการขายสาธารณูปโภคจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัท ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จะช่วยกระตุ้นความต้องการที่ดินในสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของบริษัทซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจไฟฟ้า

บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) นอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งไฟฟ้าและสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยและจีนด้วย ในช่วงระหว่างปี 2550-2554 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการขายคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60% ของ EBITDA รวม ที่เหลืออีก 40% มาจากธุรกิจขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ซึ่งขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา

บริษัทประสบปัญหาอุทกภัยในระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 สินทรัพย์ในการดำเนินงานซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดอยุธยาต้องหยุดดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 และปิดซ่อมแซมในปี 2555 หลังอุทกภัย มีบริษัทประมาณ 20 แห่งจากกว่า 200 แห่งในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาหยุดดำเนินกิจการและย้ายโรงงานไปที่อื่น โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก หลังจากเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนภายในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา บริษัทได้สร้างคันกั้นน้ำความยาว 77 กิโลเมตรล้อมรอบสวนอุตสาหรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม

แม้ว่าโรงงานที่ปิดกิจการและย้ายออกจากสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาจะมีจำนวนไม่มาก และได้มีการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแล้วก็ตาม แต่ยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยายังคงชะลอตัว โดยบริษัทขายที่ดินได้เพียง 65 ไร่ในปี 2555 เทียบกับระดับปกติที่ขายได้ 400-650 ไร่ต่อปีในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย ดังนั้น เพื่อลดการพึ่งพิงสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา บริษัทจึงได้ซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งคือสวนอุตสาหกรรมปลวกแดงในจังหวัดระยองและ พรอสเพอร์ริตี้ อินดัสเตรียล เอสเตท ในจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 1,435 ล้านบาท หลังจากการซื้อกิจการดังกล่าว นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทก็มีการกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ดีขึ้น ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรวม 4 แห่งในจังหวัดอยุธยา ระยอง และปราจีนบุรี ในปี 2555 บริษัทขายที่ดินได้รวม 2,762 ไร่ โดย 2,698 ไร่เป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดระยองและปราจีนบุรี และ 65 ไร่ในจังหวัดอยุธยา ยอดขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นผลมาจากการขายที่ดินแปลงใหญ่ให้ผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งและผู้ผลิตไฟฟ้ารายหนึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 บริษัทมีที่ดินคงเหลือในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับขายทั้งหมด 5,777 ไร่ โดยประมาณ 50% อยู่ในจังหวัดอยุธยา และอีก 25% อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากเป็นเจ้าของสวนอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 41% ใน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาด้วย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 432 เมกะวัตต์ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานอยู่จำนวน 267 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตส่วนขยาย 55 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) อีก 110 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนาด 267 เมกะวัตต์ของบริษัทประสบอุทกภัยจนต้องปิดการดำเนินงานและได้ประกาศเหตุสุดวิสัยกับคู่สัญญาในปี 2555 การซ่อมแซมและเปลี่ยนอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปี 2555 และโรงไฟฟ้าเริ่มทยอยกลับมาผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ ขายไฟฟ้ารวม 220 ล้านหน่วย (Gigawatt hours -- GWh) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โดยขายให้แก่ กฟผ. จำนวน 77 ล้านหน่วย และขายให้แก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมจำนวน 147 ล้านหน่วย โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็น 50%-60% ของปริมาณที่ขายในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย ซึ่งปกติบริษัทขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมได้ประมาณ 250-280 ล้านหน่วยต่อไตรมาส

ในปี 2555 เกือบทุกหน่วยธุรกิจของบริษัทต้องหยุดดำเนินงานหลังเหตุอุทกภัยยกเว้นการขายคอนโดมิเนียมในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม บริษัทบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้ดี โดยนอกเหนือจากการได้รับเงินค่างวดจากการขายที่ดินแล้ว บริษัทได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมจากบริษัทประกันภัยจำนวนประมาณ 1,300 ล้านบาท ในปี 2555 บริษัทยังสามารถขายกิจการโรงแรมในประเทศจีนมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินสดจากการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิของบริษัทรวมเงินเพิ่มทุนของบริษัทโรจนะ พาวเวอร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาทในปี 2555 ด้วย

รายได้รวมยังคงอยู่ระดับที่ดีที่ 6,171 ล้านบาทในปี 2555 และ 1,726 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 รายได้ที่ยังคงสูงเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการขายที่ดินในช่วงก่อนอุทกภัยและจากการขายคอนโดมิเนียมในประเทศจีนตามนโยบายการรับรู้รายได้เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ แม้ว่ารายได้จะยังคงอยู่ในระดับที่ดี แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงอย่างมากเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและภาระดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง กำไรก่อนภาษีของบริษัทลดลงเป็น 129 ล้านบาทในปี 2555 และมีผลขาดทุน 186 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 อย่างไรก็ตาม บริษัทรายงานผล

การดำเนินงานเป็นกำไรสุทธิจำนวน 1,194 ล้านบาทในปี 2555 และ 350 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เนื่องจากบริษัทบันทึกเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัยจำนวน 1,214 ล้านบาทในปี 2555 และ 941 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากการลงทุนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาและผลการดำเนินงานที่ลดลงระหว่างการหยุดดำเนินงาน เงินกู้กับสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจาก 12,244 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 19,423 ล้านบาทในปี 2555 และ 19,883 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 65.6% ณ เดือนมีนาคม 2556 จากระดับ 60% ในระหว่างปี 2552-2553

คาดว่าในอนาคตฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นโดยลำดับ ภายในปี 2556 ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP จะเพิ่มขึ้นเป็น 180 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ 90 เมกะวัตต์ บริษัทยังมีแผนจะขายไฟฟ้าจากโครงการขยายกำลังการผลิตของบริษัทให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญาไม่รับประกันการซื้อไฟฟ้า (Non-firm) จำนวน 50 เมกะวัตต์ด้วย ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ประสบอุทกภัยทางภาคตะวันออกของประเทศ พิจารณาจากมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 632 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ยังได้ประกาศแผนการขยายกำลังการผลิตในสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของบริษัทในจังหวัดปราจีนบุรีด้วย ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้าไปขยายการผลิตในสวนอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทไม่ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในระหว่างปี 2556-2557 บริษัทวางแผนลงทุนจำนวน 2,000-3,000 ล้านบาทสำหรับซื้อที่ดินและเป็นค่าพัฒนาที่ดินในสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่และจะลงทุนจำนวน 2,600 ล้านบาทสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะคงอยู่ในระดับสูงและจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน)(ROJNA)
อันดับเครดิตองค์กร:	                 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต:	              Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ