ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจไก่แบบครบวงจร และนโยบายการเลี้ยงไก่ในฟาร์มของตนเอง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทพึ่งพาธุรกิจไก่เพียงธุรกิจเดียว ตลอดจนความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจไก่ ความเสี่ยงจากโรคระบาด และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจไก่ในประเทศไทย ทั้งนี้ นโยบายการให้ความสำคัญในการพัฒนาอาหารแปรรูปจะช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าพื้นฐานในประเทศได้บางส่วน ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจะรักษาโครงสร้างหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับปานกลาง และดำเนินนโยบายการขยายธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อรับมือกับความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจไก่
บริษัทจีเอฟพีทีก่อตั้งในปี 2524 โดยกลุ่มตระกูลศิริมงคลเกษม ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจไก่แบบครบวงจรของไทย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนมกราคม 2535 ณ เดือนเมษายน 2556 ตระกูลศิริมงคลเกษมถือหุ้นในสัดส่วน 55% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไก่ที่ครบวงจร โดยครอบคลุมตั้งแต่อาหารสัตว์ ไก่เป็น เนื้อไก่สด ไก่แช่แข็ง และไก่ปรุงสุก ทั้งไก่เนื้อตลอดจนไก่พ่อแม่พันธุ์และปู่ย่าพันธุ์จะถูกเลี้ยงในฟาร์มของบริษัททั้งหมด การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทมีมาตรฐานในระดับสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ระหว่างปี 2551-2555 รายได้จากการจำหน่ายไก่เป็นและเนื้อไก่สดคิดเป็นสัดส่วน 40%-50% ของรายได้รวมของบริษัท ตามด้วยอาหารสัตว์ 30%-35% และไก่ปรุงสุก 20% รายได้จากการขายภายในประเทศคิดเป็น 85% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2555 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกมีสัดส่วน 15% โดยประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลักของบริษัท
บริษัทดำเนินนโยบายการร่วมทุนกับคู่ค้าต่างประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยถือหุ้น 49% ใน บริษัท แม็คคีย์ ฟู้ด เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (McKey) และถือหุ้น 49% ใน บริษัท จีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย) จำกัด (GFN) McKey เป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ไก่ให้กับ “ร้านแม็คโดนัลด์” ในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Nichirei ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนใน GFN เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุนที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย โดยหนึ่งในธุรกิจหลักประกอบด้วยอาหารแปรรูป เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ไก่ ในปี 2554 Nichirei มีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วน 20% บริษัทจีเอฟพีทีเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 3% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของประเทศในปี 2555 ในขณะที่บริษัทร่วมทุนทั้ง 2 แห่งมีส่วนแบ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แห่งละ 3%-4% บริษัทร่วมทุนทั้ง 2 แห่งให้ส่วนแบ่งกำไรสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2556 แก่บริษัทรวม 92 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 11% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัท
นโยบายของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปสำหรับการส่งออกจะช่วยลดความผันผวนของราคาเนื้อไก่สดในตลาดภายในประเทศได้ โดยสินค้าส่งออกเกือบทั้งหมดของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุก นอกจากการส่งออกโดยตรงแล้ว บริษัทยังจำหน่ายเนื้อไก่ชำแหละให้แก่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทยและบริษัทร่วมทุนเพื่อการส่งออกด้วย ในปี 2555 และครึ่งแรกของปี 2556 รายได้จากผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปและปรุงสุกสำหรับการส่งออกโดยตรงและทางอ้อมคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของบริษัท
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2551 จนถึงครึ่งแรกของปี 2556 ผันผวนตามวัฏจักรธุรกิจ ในระหว่างปี 2551-2554 ราคาเนื้อไก่ที่สูงส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทสูงถึง 15%-17% จาก 10%-14% ในปี 2548-2550 รายได้ของบริษัทเติบโตเป็น 14,210 ล้านบาทในปี 2554 เพิ่มขึ้น 8.9% ต่อปีในระหว่างปี 2551-2554 เนื่องจากธุรกิจอาหารสัตว์และสินค้าที่เกี่ยวกับการส่งออก ในปี 2555 ธุรกิจไก่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากทั้งปัญหาอุปทานไก่ล้นตลาด ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเหลือ 6.5% และ EBITDA ลดลงเหลือ 696 ล้านบาทในปี 2555 จาก 1,893 ล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 โดยยอดขายเพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 7,919 ล้านบาทในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2556 เนื่องจากราคาเนื้อไก่ในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นและการส่งออกไก่ที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุว่า ราคาเฉลี่ยไก่เนื้อในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เป็น 42.2 บาทต่อกิโลกรัม รายได้จากการส่งออกของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้น 47.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ปรับตัวขึ้นเป็น 9.7% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับอัตรากำไรปกติของบริษัท EBITDA ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 801 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 176% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นจากราคาไก่และยอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทร่วมทุน GFN ก็เริ่มให้กำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 55 ล้านบาทแก่บริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 จากที่บริษัทต้องรับรู้ผลขาดทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 151 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนที่เหลือของปีคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีโดยได้รับอานิสงส์จากราคาไก่ที่ยังทรงตัวในระดับสูงและการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ที่ยังดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาข้าวโพดซึ่งเป็นต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวลดลงจากผลผลิตจำนวนมากในฤดูกาลผลิตนี้ อีกทั้งราคากากถั่วเหลืองก็ปรับตัวลดลงหลังจากผลผลิตเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก
โครงสร้างหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ระหว่าง 30%-45% ในระหว่างปี 2551-2554 อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 49.4% ณ เดือนธันวาคม 2555 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนมีเพิ่มขึ้นในช่วงวัฏจักรตกต่ำของธุรกิจไก่และการลงทุนในบริษัทร่วมทุน GFN อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนมิถุนายน 2556 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 40.9% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไร ตลอดจนความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนที่ลดลง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ระดับ 18.3% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ซึ่งนับเป็นระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าอัตราส่วนนี้จะลดลงจาก 50%-70% ในช่วงปี 2551-2554 ก็ตาม
บริษัทมีแผนลงทุนประมาณปีละ 1,000-1,200 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2558 เพื่อขยายฟาร์มไก่เนื้อและไก่พ่อแม่พันธุ์ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจึงเพียงพอรองรับแผนการลงทุนของบริษัทได้ EBITDA ปีละประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจึงเพียงพอรองรับแผนการลงทุนของบริษัทได้