ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย” ที่ “A-" ด้วยแนวโน้ม "Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 29, 2014 13:42 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ ชสอ. ในการส่งเสริมและพัฒนาขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะของ ชสอ. ในการเป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในด้านขนาดของสินทรัพย์และจำนวนสมาชิก รวมทั้งประวัติการดำเนินงานที่ยาวนาน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของคณะผู้บริหารและพนักงาน ผลประกอบการทางการเงินที่ปรับดีขึ้น และคุณภาพที่ดีของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิก การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสิทธิพิเศษที่กฎหมายมีให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิด้วย โดยสิทธิพิเศษดังกล่าวได้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่คุณภาพสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และยกระดับความได้เปรียบทางการแข่งขันของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งรวมทั้ง ชสอ. ให้มีเหนือสถาบันการเงินทั่วไป อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากอัตราส่วนหนี้สินของ ชสอ. ที่ค่อนข้างสูง ตลอดจนความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สิน และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นซึ่งอาจจะลดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า ชสอ. จะสามารถรักษาบทบาทที่สำคัญในขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่า ชสอ. จะสามารถรักษาระดับฐานเงินทุนภายในที่ได้รับจากสมาชิกไว้ได้ พร้อมทั้งมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งเพื่อสามารถให้ผลตอบแทนคืนสู่สมาชิกในระดับที่น่าพอใจ โดยที่การเปลี่ยนแปลงใดใดไม่ว่าจะเป็นการมีนโยบายดำเนินงานในเชิงรุกมากขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจากทางการที่จะลดทอนสิทธิพิเศษของสหกรณ์ออมทรัพย์ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ ชสอ. ได้

ชสอ. ก่อตั้งในปี 2515 โดยการริเริ่มของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ ชสอ. จัดเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นทุติยภูมิ โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิจะเป็นสมาชิกของ ชสอ. ส่วนบุคลากรของสถานประกอบการที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์จะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิ ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์และจำนวนสมาชิกแล้ว ชสอ. จัดเป็นชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 9 แห่งในประเทศไทย ชสอ. ได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิได้รับ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้จากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล และภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินปันผล

ชสอ. เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2516 โดยมีจำนวนสหกรณ์สมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 81 แห่ง ณ วันเริ่มก่อตั้งเป็น 1,025 แห่ง ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 หรือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่หรือ 76.7% ของจำนวนสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ ชสอ. แล้ว ชสอ. ให้บริการทางการเงินแก่สหกรณ์สมาชิกซึ่งรวมถึงการรับฝากและการให้กู้ยืมเงิน นอกจากนี้ ชสอ. ยังมีบทบาทสำคัญต่อขบวนการสหกรณ์ในระดับชาติด้วย โดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม วางแผน และพัฒนาสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ของ ชสอ. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากประมาณ 30,000 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2551 เป็นมากกว่า 60,000 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 การเติบโตขึ้นของสินทรัพย์เกิดจากการระดมเงินทุนผ่านการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินทุนจากสหกรณ์สมาชิกทั้งในรูปแบบของทุนเรือนหุ้น เงินฝาก และการกู้ยืมผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินยังคงเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด

ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดหรือ 59.8% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกอยู่ในระดับ 59%-66% ของสินทรัพย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 38.4% ของสินทรัพย์รวมเป็นเงินลงทุน และส่วนที่เหลืออีก 1.8% เป็นเงินสดและสินทรัพย์อื่น ๆ ชสอ. มีนโยบายให้กู้ยืมทั้งแก่สหกรณ์ที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก แต่จะให้สิทธิพิเศษแก่สหกรณ์สมาชิกก่อนหากความต้องการกู้ยืมจากสมาชิกมีมาก ทั้งนี้ ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกมีจำนวน 36,850 ล้านบาท ชสอ. ให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเพียง 263 รายจากจำนวนสหกรณ์สมาชิกทั้งหมด 1,025 ราย ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ส่งผลให้ ชสอ. มีความเสี่ยงจากการการกระจุกตัวในเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิก เงินให้กู้ยืมแก่สมาชิก 20 อันดับแรกคิดเป็น 50.3% ของเงินให้กู้ยืมรวม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2552 และอยู่ที่ระดับ 39.5% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่ ณ ปัจจุบันระดับดังกล่าวก็ถือว่าค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมลดทอนลงจากการที่ ชสอ. มีคุณภาพเงินให้กู้ยืมในระดับที่สูง

ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง 9 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของเงินให้กู้ยืมรวม เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกของ ชสอ. ที่มีคุณภาพดีนั้นได้รับผลพลอยได้จากกลไกการชำระคืนหนี้อัตโนมัติและสิทธิพิเศษทางกฎหมายที่มีให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิ เงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิที่ถึงกำหนดชำระสามารถใช้วิธีหักชำระจากเงินได้รายเดือนของสมาชิก นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายสหกรณ์ สหกรณ์มีบุริมสิทธิเป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของสมาชิก กลไกการชำระคืนและการสนับสนุนที่กำหนดไว้ในกฎหมายช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตให้แก่เงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิ ในขณะที่ความมั่นคงของกระแสเงินสดรับในการชำระคืนเงินให้กู้ยืมของสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ในขั้นปฐมภูมิช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ยืมของลูกหนี้ของ ชสอ. นอกเหนือจากกลไกการชำระคืนและสิทธิพิเศษทางกฎหมายแล้ว ชสอ. ยังมีเกณฑ์และแนวทางที่เข้มงวดในการพิจารณาเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกด้วย ในปี 2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเกิดการผิดนัดชำระเงินเนื่องจากการทุจริตภายใน อย่างไรก็ตาม ชสอ. ไม่มีรายการธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ดังกล่าว

ภายใต้ พ.ร.บ. สหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ถูกจำกัดให้ลงทุนในขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยการจำกัดขอบเขตดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงทางด้านเครดิตของเงินลงทุน อัตราส่วนเงินลงทุนต่อสินทรัพย์รวมของ ชสอ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 31.4% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2553 เป็น 38.4% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 เงินลงทุน ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ประกอบไปด้วยหุ้นกู้เอกชน 78.9% ของเงินลงทุน ในขณะที่ 14.4% เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารทางการเงินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อีก 6.7% เป็นการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นทุนและกองทุนส่วนบุคคล ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดของเงินลงทุนของ ชสอ. ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 หรือ 81.6% เป็นเงินลงทุนระยะยาว

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชสอ. เผชิญกับอุปสรรคในการระดมเงินทุนในด้านของเงินฝากและเงินกู้ยืมจากสมาชิกโดยผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน กล่าวคือเงินฝากและเงินกู้ยืมผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินในรอบปีบัญชี 2554-2556 เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% 5.6% และ 1.9% ตามลำดับ เทียบกับอัตราการเติบโตที่มากกว่า 10% ในช่วงรอบปีบัญชี 2551-2553 ชสอ. ได้ระดมทุนเพิ่มเติมผ่านการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 7,825 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2551 เป็น 15,665 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 หรือคิดเป็น 25% ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้ เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าเงินทุนขนาดใหญ่ที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินจะมีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อมากกว่าการใช้เงินฝากและการกู้ยืมจากสหกรณ์สมาชิกเป็นแหล่งเงินทุน การมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ ชสอ. มีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อเมื่อถึงกำหนดและความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยความเสี่ยงจะมีค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านลบในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์หรือระบบเศรษฐกิจ เงินทุนระยะสั้นที่มากขึ้นก็ส่งผลให้ ชสอ. มีส่วนต่างระหว่างระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นลบมากขึ้น ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ประมาณ 30% ในสินทรัพย์ของ ชสอ. เป็นสินทรัพย์ระยะยาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนที่ไม่มีกลไกในการปรับอัตราดอกเบี้ยได้ ชสอ. จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในระดับหนึ่งด้วย

ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากเงินลงทุนและต้นทุนทางการเงินของ ชสอ. ปรับลดลงจาก 2% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 0.8% ในรอบปีบัญชี 2556 อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายจากเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 1% ในรอบปีบัญชี 2556 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในรอบปีบัญชี 2554 เป็น 1% ในรอบปีบัญชี 2556 ธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้มีความซับซ้อนเหมือนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของธุรกิจจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินงานของ ชสอ. ยังอยู่ในระดับที่ต่ำและสามารถควบคุมไว้ที่ระดับประมาณ 5% ของรายได้รวมในช่วง 3 รอบปีบัญชีที่ผ่านมา ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรให้เพิ่มขึ้น โดยกำไรสุทธิของ ชสอ. เพิ่มขึ้นจาก 543 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 713 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2554 และ 748 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2555 และปรับเพิ่มขึ้นถึง 913 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2556 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 1.5% ในรอบปีบัญชี 2556 อัตราผลตอบแทนต่อทุนของ ชสอ. โดยเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในรอบปีบัญชี 2553 เป็น 7.3% ในรอบปีบัญชี 2556 ในรอบปีบัญชี 2556 ชสอ. ได้ปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกเป็น 5.6% จาก 5.2% ในรอบปีบัญชี 2553

ทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขข้อบังคับของ ชสอ. ที่กำหนดให้สหกรณ์สมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของ ชสอ. เพิ่มเติมในสัดส่วนที่สอดคล้องกับทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์สมาชิก ในสถานการณ์ปกติ ทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ทุนเรือนหุ้นของแต่ละสหกรณ์สมาชิกจะเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติจากกลไกปกติในการซื้อหุ้นเพิ่มรายเดือนของสมาชิก ทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 6,257 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2552 เป็น 9,211 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2553 เนื่องจากมีการซื้อหุ้นเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากสหกรณ์สมาชิกรายหนึ่งในรอบปีบัญชี 2553 หลังจากการซื้อหุ้นเพิ่มเป็นพิเศษในครั้งนั้น ทุนเรือนหุ้นก็ปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 2%-6% ต่อปีในช่วงรอบปีบัญชี 2554-2556 โดยทุนเรือนหุ้นของ ชสอ. อยู่ที่ระดับ 10,283 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 ทุนของ ชสอ. ซึ่งประกอบไปด้วยทุนเรือนหุ้น ทุนสำรองตามกฎหมาย ทุนสำรองตามข้อบังคับ กำไรหรือขาดทุนจากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และกำไรสุทธิก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 7,708 ล้านบาทในรอบปีบัญชี 2552 เป็น 12,805 ล้านบาท ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2556 อัตราส่วนทุนของ ชสอ. ต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 20% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่และตั้งมานานซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวที่ระดับประมาณ 40%

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (FSCT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ