ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. บ้านปู” เป็น “A+” จาก “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 26, 2014 16:42 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A+” จากเดิมที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” สืบเนื่องมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทที่ชะลอตัวลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาด แม้ว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังโดยการลดต้นทุนและชะลอการลงทุนต่าง ๆ ออกไป แต่ราคาถ่านหินที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดส่วนเกินของบริษัทลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันโอกาสที่บริษัทจะสร้างกำไรส่วนเกินให้กลับมาอยู่ในระดับเดิมยังคงเป็นไปอย่างยากลำบากตราบใดที่การปรับลดของอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังไม่เกิดขึ้น

อันดับเครดิต “A+” สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในแถบเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินโดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ถ่านหินอันดับหนึ่งของโลก ตลอดจนภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหินได้ต่อไป วินัยทางการเงินและการบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังจะช่วยให้บริษัทยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีแม้ว่าภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งนี้ เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงและการดำเนินงานที่ดีขึ้นของเหมืองในประเทศออสเตรเลียจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมถ่านหิน

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2556 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 11% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาจากประเภทของธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 85% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือ 15% มาจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 82% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 18% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557

ในปี 2556 การผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปูมีปริมาณรวม 42.4 ล้านตัน ประกอบด้วยถ่านหินจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซีย 28.6 ล้านตันและประเทศออสเตรเลีย 13.8 ล้านตัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทผลิตถ่านหิน 33.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนกันยายน 2557 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 676 ล้านตัน ในขณะที่บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 509 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตประมาณ 14 ปี

ในปี 2556-2557 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลง ราคาขายถ่านหินของเหมืองที่ประเทศอินโดนีเซียลดลง 17.6% จากราคาขายเฉลี่ยในปี 2555 เป็น 75.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2556 บริษัทได้พยายามลดต้นทุนในหลายส่วนรวมถึงการลดค่า Stripping Ratio อย่างไรก็ตาม อัตราการปรับตัวลดลงของราคาถ่านหินมีมากกว่าการลดลงของต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ CEY (Centennial Coal Co., Ltd.) บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ออสเตรเลียมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปัญหาในการผลิต ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินของบริษัทลดลงเหลือ 32.2% ในปี 2556 เทียบกับ 39.0% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การเติบโตกว่า 50% ของธุรกิจไฟฟ้า ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทได้บางส่วน ทำให้ EBITDA รวมของบริษัทลดลง 33.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาถ่านหินยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ในขณะที่บริษัทยังคงดำเนินการลดต้นทุนต่อเนื่อง รวมถึงการลดอัตรา Stripping Ratio ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียลดลงเป็น 34.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 35.4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน การลดลงของอัตรากำไรถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินที่ลดลง 10.3% เป็น 69.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วงเวลาดังกล่าว ผลการดำเนินงานบริษัทยังได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากการดำเนินงานของเหมืองออสเตรเลียที่ปรับตัวดีขึ้นและกำไรที่สม่ำเสมอจากธุรกิจไฟฟ้า โดยเหมืองที่ออสเตรเลียหยุดการผลิตในเหมืองที่มีต้นทุนในการผลิตสูงลง และเพิ่มการผลิตในเหมืองเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินที่ออสเตรเลียปรับตัวดีขึ้นเป็น 29.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 24.0% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ายังคงให้กำไรสม่ำเสมอโดย EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้ามีจำนวน 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.2% ทำให้ EBITDA รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เท่ากับ 504 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงเพียง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความพยายามในการลดต้นทุนและการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังอยู่ระดับเดิมแม้ว่าราคาถ่านหินจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 52.4% ณ เดือนกันยายน 2557 ใกล้เคียงกับ 51.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินที่ลดลงทำให้กำไรส่วนเกินของบริษัทลดลง โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับต่ำต่อเนื่องที่ 5.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ใกล้เคียงกับปี 2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 11.5% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) เทียบกับระดับ 9.4% ในปี 2556 อัตราส่วนดังกล่าวถือว่าเป็นระดับอ่อนแอในรอบระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังคงมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีเงินสดในมือ 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้คงเหลือจากสถาบันการเงินรวมจำนวนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การฟื้นตัวของราคาถ่านหินยังคงไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการปรับลดการผลิตถ่านหินของผู้ผลิตหลัก ดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index ยังคงลดลงโดยอยู่ที่ระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เทียบกับ 68.53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ในช่วงราคาถ่านหินอยู่ในระดับต่ำ บริษัทยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสภาพคล่องทางการเงินโดยการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น และลดค่าใช้จ่ายในทุกระดับขององค์กร บริษัทยังได้ปรับลดแผนลงทุนต่อเนื่องและลดลงเหลือเพียง 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการลงทุนในช่วงปี 2555-2558 จากแผนเดิมที่วางงบลงทุนรวมจำนวน 1,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเน้นเฉพาะการลงทุนที่จำเป็น และการลงทุนต่อเนื่อง เช่น การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าหงสาในประเทศลาว การลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศจีน และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับหลังจากโครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัทชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์คือ นายศิวะ งานทวีและผู้เกี่ยวข้อง สำหรับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสาในประเทศลาว บริษัทไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาลแพ่งและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนศาลฎีกาตามคำร้องของโจทก์

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BP15NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558         	A+
BP165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559       	A+
BANPU184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561	A+
BANPU195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562	A+
BANPU207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563	A+
BANPU207B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563	A+
BANPU214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564	A+
BANPU225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565  	A+
BANPU234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566	A+
BANPU247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567	A+
BANPU257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568    	A+
BANPU264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569	A+
BANPU234B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2566	A+
แนวโน้มอันดับเครดิต:	Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2557  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ