ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตประเทศ &พันธบัตรรัฐบาล “สปป.ลาว” ที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 10, 2015 09:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่เป็นสากลและขจัดความยากจน อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตได้รับผลกระทบจากภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง รายได้ของรัฐบาลที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ข้อจำกัดของระบบข้อมูลของภาครัฐ การเกิดใหม่ของตลาดทุนในประเทศ และการพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะมีความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้ในระดับคงที่ต่อเนื่องไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่หนี้ต่างประเทศของภาครัฐจะอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 40-50 ของ GDP ในระยะปานกลาง นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่ต้องชำระจะคงอยู่ในระดับร้อยละ 30-40 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี อัตราส่วนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอนาคตเมื่อเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศถูกแทนที่ด้วยเงินกู้จากนักลงทุนระหว่างประเทศ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” ยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่ารายได้ของรัฐบาลจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้

ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบ ถ้ามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลโดยปราศจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เพื่อรองรับภาระหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลอาจได้รับผลกระทบจากการลดลงของการส่งออก หรือในกรณีที่รายได้ของรัฐบาลจากภาษีและไม่ใช่ภาษีลดลง

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอันดับเครดิตอาจเป็นไปได้หากมีการลดลงของหนี้ต่างประเทศของภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือการลดลงของภาระหนี้ที่ต้องชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ

เศรษฐกิจของ สปป. ลาว ซึ่งประเมินจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) ขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตที่แท้จริงมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปีตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยในปี 2556 GDP ของ สปป. ลาว ตามราคาตลาดเท่ากับ 11.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับประมาณ 1,688 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อประชากรต่อปี

ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจของ สปป. ลาว จะยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อไปด้วยอัตราการขยายตัวที่แท้จริงสูงกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน รายได้ต่อประชากร (GDP per Capita) ของ สปป. ลาว ในช่วงระหว่างปี 2551-2556 มีอัตราการเติบโตที่แท้จริงโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 5.72 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ต่อประชากรที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ของ สปป. ลาว เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2550 การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วอย่างต่อเนื่องจะช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล

ภาครัฐของ สปป. ลาว รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินยังต้องพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มีระบบข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึงและทันเหตุการณ์ ฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เพียงพอและเชื่อถือได้จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศหรือเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขี้นได้ทันเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเกิดวิกฤต การรายงานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและตรงต่อเวลาจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดแนวนโยบายที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลและทันท่วงที

ในปัจจุบัน หน่วยงานหลักของ สปป. ลาว ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มี 2 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (Bank of Lao PDR) และ Lao Statistics Bureau ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแผนงานและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment) ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบด้วยรายได้ประชาชาติ อัตราการขยายตัวของ GDP อัตราเงินเฟ้อ สินเชื่อและเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน การค้าระหว่างประเทศ และอื่น ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลทางเศรษฐกิจและข้อมูลตลาดการเงินล่าสุดของ สปป. ลาว ที่มีการเผยแพร่เป็นข้อมูลของปี 2556

สปป. ลาว มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการในปี 2518 ระบบการปกครองประเทศประกอบด้วยพรรคเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยมีสภาแห่งชาติลาว (National Assembly) เป็นคณะผู้มีอำนาจบริหารประเทศเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยความเห็นชอบของสภาแห่งชาติลาว การเมืองที่มีเสถียรภาพสูงทำให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องในการนำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบการบริหารและการปฏิบัติงานของภาครัฐของ สปป. ลาว กำลังมีการทบทวน และพัฒนาภายใต้การช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้กระบวนการในการบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและไม่ซับซ้อนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการทบทวน ปรับปรุง และจัดทำร่างระเบียบกฎเกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กล่าวถึงนี้รวมถึง กฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านการพาณิชย์ การลงทุน และการดูแลสิ่งแวดล้อม สปป. ลาว ได้มีการนำแผนปฏิรูปภาษีอากรมาใช้ และมีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ตั้งแต่ปี 2553 พร้อมไปกับการพัฒนาระบบการบริหารและการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ดี แม้ระบบภาษีอากรจะมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้น ซึ่งเป็นผลให้รายได้ของรัฐบาลจากภาษีอากรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราร้อยละ 20 ต่อปีในช่วงปี 2554-2556 อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ผนวกกับการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็กระทบต่อผลประกอบการของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ภายในประเทศ สัดส่วนรายได้รัฐบาลจากภาษีอากรเทียบกับรายได้รัฐบาลทั้งหมดลดลงจากร้อยละ 73 ในปี 2551 เหลือร้อยละ 60 ในปี 2556 ซึ่งเหตุผลอีกประการหนึ่งที่สัดส่วนของรายได้จากภาษีอากรลดลงเนื่องมาจากการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรของรัฐบาลจากค่าภาคหลวงที่เก็บจากธุรกิจเหมืองแร่และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ รัฐบาล สปป. ลาว มีรายได้จากเหมืองแร่คิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้รวมของรัฐบาลในปี 2555 ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกผันผวน ตัวอย่างเช่นในปี 2556 รายได้ของรัฐบาลจากเหมืองแร่ทั้งที่เป็นภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ลดลงร้อยละ 22.7 มาอยู่ที่ 1,860 พันล้านกีบ จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 2,408 พันล้านกีบ ในปี 2555

ในขณะเดียวกัน รายได้จากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะอันใกล้ ภายหลังจากที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลาย ๆ แห่งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินกิจการ จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank -- ADB) ประมาณว่าโดยทางเทคนิคแล้วสาขาลุ่มแม่น้ำโขงใน สปป. ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากถึง 20,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ในปี 2554 สปป. ลาว มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยมีกำลังการผลิตรวมเท่ากับ 2,570

เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีก 12 โรง โดยมีกำลังการผลิตรวมเท่ากับ 2,623 เมกะวัตต์ ADB คาดว่าในปี 2563 สปป. ลาว จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,100 เมกะวัตต์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยจากการประมาณการของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล สปป. ลาว รายได้ของรัฐบาลจากโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

รัฐบาล สปป. ลาว ควรกระจายฐานรายได้ของรัฐบาลให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยการมีฐานภาษีที่ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนรายได้ของรัฐบาลให้มีเสถียรภาพและเจริญเติบโตในระยะยาว

หนี้ต่างประเทศของภาครัฐของ สปป. ลาว ในปี 2556 มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 39.5 ของ GDP หรือเท่ากับ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับปานกลางค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในขณะที่รัฐบาลกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินในประเทศค่อนข้างน้อย คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของ GDP เท่านั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล สปป. ลาว จะเพิ่มขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า และจะคงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปเพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในอนาคต ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ค่อนข้างมากทำให้มีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ลดลง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวอาจลดลงบางส่วนเนื่องจากสัดส่วนของภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลส่วนมากเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศ และหนี้ระหว่างรัฐบาล ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าหนี้ดังกล่าวนั้นมีความยืดหยุ่นกว่าหนี้เงินกู้ยืมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ในปี 2556 สปป. ลาว มีหนี้เงินกู้จากต่างประเทศเท่ากับ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในจำนวนนี้ เป็นหนี้เงินกู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศเท่ากับร้อยละ 46.3 และอีกร้อยละ 53.7 เป็นหนี้เงินกู้ยืมระหว่างรัฐบาล

ภาระการจ่ายชำระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะปานกลาง ในขณะเดียวกัน หนี้เงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศจะทยอยครบกำหนดชำระและถูกแทนที่ด้วยหนี้เงินกู้จากภาคเอกชนซึ่งมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า ภาระหนี้ที่ต้องชำระ (Debt Service) ต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว จะอยู่ในช่วงระหว่าง ร้อยละ 30-40 ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า และคาดว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป. ลาว จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปีในระยะปานกลาง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao PDR)

อันดับเครดิตประเทศ: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

พันธบัตรรัฐบาล ในวงเกินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2568 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ