ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เดิม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย รวมถึงการมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง และฐานลูกค้าที่กระจายตัวกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงของธุรกิจที่สูงขึ้นจากการดำเนินกิจการในต่างประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาก๊าซ LPG มากขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทยเอาไว้ได้ โดยกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการค้าก๊าซ LPG ในประเทศไทยจะช่วยลดผลกระทบจากกำไรที่ผันผวนของการดำเนินงานในต่างประเทศได้
อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากสถานะการเงินของบริษัทนั้นด้อยลงอย่างมากและเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย และ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมนั้นด้อยกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งอย่างมีนัยสำคัญ หรือเกิดจากการซื้อกิจการหรือลงทุนโดยใช้หนี้สินจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หากผลประกอบการของบริษัทดีกว่าประมาณการพื้นฐานเป็นระยะเวลานาน
บริษัทสยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ ก่อตั้งในปี 2544 โดยกลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2551 ณ เดือนกันยายน 2558 กลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 61%
บริษัทเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทย โดยธุรกิจในประเทศไทยประกอบด้วยการค้าก๊าซ LPG ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “สยามแก๊ส” และ “ยูนิคแก๊ส” ณ เดือนสิงหาคม 2558 กลุ่มบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามปริมาณการขาย LPG อยู่ที่ 23.5% รองจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 37.5% บริษัทมีโครงข่ายการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ บริษัทมีคลังเก็บก๊าซ LPG จำนวน 7 แห่ง และมีสถานีบรรจุก๊าซและให้บริการ LPG จำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบขนส่งของตนเอง ทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อสนับสนุนธุรกิจค้าก๊าซ LPG ในประเทศอีกด้วย ธุรกิจจำหน่ายก๊าซ LPG ในประเทศไทยนั้นสามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดนั้นเริ่มด้อยลงอันเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงของการค้าก๊าซ LPG ในภาคยานยนต์
นอกจากนี้ อันดับเครดิตได้พิจารณาถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทในต่างประเทศ บริษัทเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2553 โดยได้ดำเนินธุรกิจค้าก๊าซ LPG ในประเทศจีน เวียดนาม สิงค์โปร์และมาเลเซีย รวมถึงธุรกิจการค้านอกชายฝั่งทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก บริษัทเป็นเจ้าของคลังเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ 2 แห่งในประเทศจีนเพื่อใช้กักเก็บก๊าซ LPG ซึ่งมีความสามารถในการเก็บก๊าซ LPG ได้ทั้งสิ้น 300,000 ตัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีคลังลอยน้ำที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีขนาดบรรจุ 45,000 ตันเพื่อสนับสนุนการค้าก๊าซ LPG นอกชายฝั่งทะเล ถึงแม้ว่าธุรกิจการค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศนั้นจะช่วยกระจายความเสี่ยงธุรกิจเชิงภูมิภาคและให้โอกาสในการเติบโตแก่ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของธุรกิจนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเผชิญความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 41,598 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายก๊าซ LPG ในประเทศไทย และ การลดลงของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกซึ่งอ้างอิงราคาซื้อขายในสัญญาของ Saudi Aramco (Saudi Aramco Contract Price -- CP) รายได้จากการค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศยังคงคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้รวม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ปรับตัวดีขึ้นเป็น 3.5% เนื่องจากความผันผวนของราคา CP ที่ลดลง
ในระหว่างปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจการค้า LPG ในประเทศของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอ เพื่อใช้รองรับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านราคาก๊าซ LPG จากธุรกิจในต่างประเทศ ราคา CP ณ เดือนกันยายน 2558 นั้นเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ ประมาณ 460 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนธันวาคม 2558 ราคา CP ที่อยู่ในระดับต่ำนั้นเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในต่างประเทศเนื่องจากบริษัทมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง และความเสี่ยงที่ราคา LPG จะลดลงนั้นเริ่มจำกัด
ภายใต้การประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ที่เติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 5%-10% ในระยะกลาง โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของปริมาณการจำหน่ายในต่างประเทศ รายได้จากธุรกิจในตลาดต่างประเทศคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 60% หรือมากกว่านั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นคาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้ สภาพคล่องของบริษัทนั้นยังคงเพียงพอ จากการสนับสนุนของวงเงินเสินเชื่อจำนวน 18,000 ล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1,500-1,700 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะมากกว่า 5 เท่า และ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะฟื้นกลับมาที่ 10%-15%