ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. บ้านปู” ที่ “A+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 25, 2015 13:01 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในแถบเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า สภาพคล่องทางการเงินที่ดี ตลอดจนรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแผนการนำบริษัทย่อยคือ บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและความสำเร็จในการลดต้นทุนและเงินลงทุนของบริษัทด้วย ในขณะที่ภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหิน ความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนมาตรการที่เข้มงวดของประเทศต่าง ๆ ที่จะกำหนดใช้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทบ้านปูจะยังคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยบริษัทยังคงรักษาวินัยทางการเงินและการบริหารการเงินอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินที่ดีในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินมีความท้าทายในปัจจุบัน ทั้งนี้ เงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าและการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมถ่านหินได้บางส่วน นอกจากนี้คาดว่าเงินที่จะได้จากการขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (Initial Public Offering – IPO) จากการนำบริษัทบ้านปู เพาเวอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มกระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัท

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดตราบใดที่ราคาถ่านหินยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากราคาถ่านหินลดลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าความคาดหมาย ในขณะเดียวกัน การลดลงเป็นระยะเวลานานของกระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้อันดับเครดิตถูกปรับลดลง

บริษัทบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีเหมืองถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2557 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในขณะที่กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 30% ของ EBITDA ส่วนกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 11% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 9% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาจากประเภทของธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 80%-85% ของ EBITDA ในปี 2556 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจไฟฟ้า

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทผลิตถ่านหินได้ 32.1 ล้านตัน ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนกันยายน 2558 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 596 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตประมาณ 13 ปี

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ได้รับแรงกดดันจากราคาถ่านหินที่ลดลง ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินในเหมืองอินโดนีเซียลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.8% เป็น 58.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีที่ 35.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เทียบกับ 34.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทยังคงดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงการลดอัตราส่วนหน้าดินต่อถ่านหิน (Stripping Ratio) นอกจากนี้ เหมืองที่อินโดนีเซียยังได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงกว่า 40% เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงคิดเป็น 25% ของต้นทุนการผลิต ส่วนเหมืองที่ประเทศออสเตรเลียนั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ราคาขายเฉลี่ยของถ่านหินปรับตัวลดลงเป็น 65.83 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตัน ซึ่งลดลงเพียง 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง 16.7% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้สัญญาขายถ่านหินในราคาคงที่ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของการขายถ่านหินทั้งหมดก็ช่วยให้ราคาขายถ่านหินในประเทศออสเตรเลียปรับตัวลดลงไม่มาก อย่างไรก็ตาม เหมืองออสเตรเลียผลิตได้น้อยกว่าเป้าหมายเนื่องจากประสบปัญหาการผลิตในเหมือง Mandalong และ Mayuna และเหมือง Springvale ได้รับใบอนุญาตต่อสัญญาการทำเหมืองล่าช้า ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของเหมืองออสเตรเลียลดลงเป็น 27.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เทียบกับ 29.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อสุทธิกับค่าภาคหลวงที่ลดลงแล้ว อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินของบริษัทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 22.2% เทียบกับ 22.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้อัตรากำไรจะทรงตัว แต่ราคาขายถ่านหินที่ลดลงก็ทำให้กำไรต่อตันลดลงเป็น 12.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 15.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557

ธุรกิจไฟฟ้ารายงานกำไรลดลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงประจำปีและค่าใช้จ่ายจากการซ่อมนอกแผนของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยของบริษัท บริษัทยังมีการรับรู้ขาดทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศลาวเนื่องจากโรงไฟฟ้าเพิ่งเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยนอันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ EBITDA รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เท่ากับ 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 33.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความพยายามในการลดต้นทุนและการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปทำให้ภาระหนี้ของบริษัทยังอยู่ในระดับเดิมแม้ว่าราคาถ่านหินจะลดลง เงินกู้สุทธิมีจำนวน 2,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เดือนกันยายน 2558 เทียบกับ 2,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2556 และ 2,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงมาอยู่ที่ระดับ 56.7% ณ เดือนกันยายน 2558 จาก 52.5% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 เนื่องจากการลดลงของส่วนของผู้ถือหุ้น การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดผลต่างจากการแปลงค่าข้อมูลทางการเงินที่มีผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้น แม้ภาระหนี้จะอยู่ในระดับเดิม แต่การลดลงของ EBITDA ทำให้กำไรส่วนเกินเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทลดลง โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) ลดลงเป็น 3.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 5.6 เท่าในช่วงเดียวกันของปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 3.9% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) เทียบกับระดับ 11.5% ในปี 2557

ราคาถ่านหินยังคงอ่อนแอในระยะสั้นเนื่องจากการลดลงของอุปทานถ่านหินยังไม่สมดุลกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเปราะบาง ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินประมาณ 50% ของการใช้ถ่านหินทั่วโลกมีการนำเข้าลดลง 39% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 เศรษฐกิจที่ซบเซา ประกอบกับนโยบายการควบคุมมลพิษ และการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศของรัฐบาลจีนทำให้จีนนำเข้าถ่านหินลดลง ดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index ยังคงลดลงโดยอยู่ที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เทียบกับ 59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา การลงนามในข้อตกลงปารีสซึ่งว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศสมาชิก 195 ประเทศส่งสัญญาณในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมถ่านหิน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากข้อตกลงดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความพยายามของกลุ่มประเทศสมาชิกในการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย

บริษัทยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน โดย ณ เดือนกันยายน 2558 บริษัทมีเงินสดในมือ 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้คงเหลือจากสถาบันการเงินรวมจำนวนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทยังได้มีการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น และลดค่าใช้จ่ายและการลงทุนด้วย บริษัทได้ปรับลดแผนลงทุนที่ไม่รวมการลงทุนเพื่อการบำรุงรักษาเหลือ 554 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับช่วงปี 2559-2563 เทียบกับการลงทุนรวม 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2555-2558 โดยจะเน้นเฉพาะการลงทุนที่ต่อเนื่องและจำเป็นรวมถึงการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงของผลการดำเนินงานในอนาคต แม้ราคาถ่านหินจะยังคงลดลงในปี 2559 แต่บริษัทจะยังคงรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงานไว้ได้ เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายตามแผน และการเริ่มรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าหงสา โดยคาดว่ากำไรจากธุรกิจไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปี 2560-2561 เทียบกับ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการนำบริษัทย่อยคือบริษัทบ้านปู เพาเวอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ด้วย ซึ่งหากบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนได้สำเร็จตามแผนก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน อีกทั้งลดภาระหนี้ และทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะช่วยให้กระแสเงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BP165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
BANPU184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
BANPU195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
BANPU207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BANPU207B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
BANPU214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
BANPU225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
BANPU234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
BANPU247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
BANPU257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
BANPU264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
BANPU234B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2566 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ