ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. ซีเฟรชอินดัสตรี” ที่ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 26, 2016 17:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในฐานะผู้แปรรูปกุ้งขนาดกลาง ตลอดจนประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปในประเทศไทย และฐานการตลาดและฐานการผลิตที่มีการกระจายตัวในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังคำนึงถึงนโยบายของบริษัทที่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลขั้นสูงสุดทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทพึ่งพาสินค้ากุ้งเพียงประเภทเดียว ความผันผวนโดยธรรมชาติและสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้ง รวมถึงความเสี่ยงจากโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดในธุรกิจกุ้งได้ต่อไป โดยสถานการณ์โรคตายด่วนในกุ้งในประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยเพิ่มปริมาณกุ้งและทำให้ราคากุ้งในประเทศไทยปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้ฐานะทางการเงินและระดับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

บริษัทซีเฟรชอินดัสตรี เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางของไทยที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปและส่งออกกุ้ง บริษัทก่อตั้งในประเทศไทยในปี 2525 โดยตระกูลเจียอาภา และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2536 ณ เดือนมีนาคม 2559 ตระกูลเจียอาภาถือหุ้นในสัดส่วน 66.1% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ต่อมาบริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศโดยการซื้อกิจการบริษัทแปรรูปกุ้งในประเทศอังกฤษในปี 2554 และลงทุนในกิจการร่วมค้าในธุรกิจกุ้งครบวงจรในประเทศเบลีซ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลางในปี 2555 สินค้าหลักของบริษัทประกอบด้วยกุ้งสดแช่แข็ง กุ้งต้มแช่แข็ง และสินค้ามูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวกับกุ้ง ในปี 2558 สินค้ามูลค้าเพิ่มมีสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวมของบริษัท กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งต้มแช่แข็งมีสัดส่วนอย่างละประมาณ 15% ของรายได้รวม ในขณะที่สินค้าอาหารทะเลอื่น ๆ คิดเป็น 10% ของรายได้รวม ฐานการผลิตและตลาดของบริษัทมีการกระจายตัวในระดับหนึ่ง แม้ว่าสินค้าหลักของบริษัทจะเป็นกุ้งเพียงอย่างเดียวก็ตาม บริษัทเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปกุ้ง 2 แห่ง กำลังการผลิตรวมทั้งหมด 30,000 ตันต่อปี โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร ประเทศไทย โรงงานแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในเมือง Worcestershire ประเทศอังกฤษ ในด้านของตลาดส่งออกของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2556-2558 นั้น สหภาพยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 69%-78% รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12%-14% และทวีปอเมริกาเหนือ 6%-13% กระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของบริษัทได้รับการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งทั้งในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การที่บริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานในด้านความปลอดภัยของอาหารและห่วงโซ่อุปทานทำให้สินค้าของบริษัทได้รับความไว้ใจจากบริษัทผู้ค้าปลีกชั้นนำหลายรายในต่างประเทศ บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากลูกค้าจำนวนน้อยราย

ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในปี 2556 ได้รับผลกระทบจากโรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome--EMS) ที่เกิดกับธุรกิจกุ้งในประเทศไทย โรคตายด่วนทำให้ผลผลิตกุ้งในประเทศไทยลดลง 50% และส่งผลทำให้ราคาขายกุ้งเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบทำให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Loss) ที่ระดับ 140 ล้านบาท ในปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ที่บริษัทมี EBITDA จำนวน 530 ล้านบาท ในปี 2557-2558 ธุรกิจกุ้งในประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ระดับประมาณ 40% ของระดับปกติ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2557-2558 โดยได้รับอานิสงส์บางส่วนจากธุรกิจในต่างประเทศ โรคกุ้งตายด่วนและการยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีนำเข้าจากกลุ่มสหภาพยุโรปทำให้ปริมาณขายจากธุรกิจในประเทศไทยของบริษัทลดลง 18% ในปี 2557 และลดลง 25% ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การลดลงของปริมาณขายได้รับการชดเชยบางส่วนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายจากธุรกิจในประเทศอังกฤษ ซึ่งซื้อกุ้งจากประเทศอื่น ดังนั้น ปริมาณขายรวมของบริษัทจึงลดลง 10% ในปี2557 และลดลง 9% ในปี 2558 ในขณะเดียวกัน บริษัทยังขายสินค้ามูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นและปรับราคาสัญญาใหม่เพื่อสะท้อนต้นทุนใหม่ที่เหมาะสมด้วย อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 7.2%-8.4% ในช่วงปี 2557-2558 จากปี 2556 ที่บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานในอัตรา 3.1% ของยอดขาย และใกล้เคียงกับปี 2553-2555 ซึ่งบริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ระดับ 3.4%-8.2% แม้ว่าผลประกอบการของธุรกิจกุ้งในประเทศอังกฤษและไทยจะฟื้นตัว แต่ผลประกอบการของธุรกิจลงทุนร่วมค้าในประเทศเบลีซยังคงต่ำกว่าแผน โดยมีส่วนแบ่งขาดทุนจากกิจการร่วมค้า 100 ล้านบาทในปี 2558 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (รวมผลขาดทุนจากกิจการร่วมค้า) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 661 ล้านบาท ในปี 2557 และ 625 ล้านบาทในปี 2558 เปรียบเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 140 ล้านบาท ในปี 2556

งบดุลของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2553 ที่บริษัทไม่มีหนี้เงินกู้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.1% ในปี 2556 จาก 27.8% ในปี 2555 เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาโรคระบาดในปี 2556 และมีค่าใช้จ่ายลงทุนอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.5% ในปี 2558 ตามการฟื้นตัวของธุรกิจ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 30.3%-33.0% ในปี 2557-2558 จากที่เคยติดลบในปี 2556 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 11.0 เท่าในปี 2557 และ 9.8 เท่าในปี 2558

หลังจากกลุ่มสหภาพยุโรปได้ออกประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยด้วยการให้ใบเหลืองในประเด็นที่ประเทศไทยยังมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Finishing -- IUU) เมื่อเดือนเมษายน 2558 นั้น ขณะนี้กลุ่มสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาว่าประเทศไทยมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่ หากประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างมีนียสำคัญก็จะส่งผลให้สินค้าประมงของไทยไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ สินค้าที่ผลิตจากกุ้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกุ้งที่มาจากการเลี้ยง แต่ปลาป่นเป็นส่วนหนึ่งในอาหารกุ้งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งซื้อมาจากเรือประมง ดังนั้น หากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยกเลิกการนำเข้าสินค้าประมงและกุ้งจากประเทศไทย ก็จะส่งผลทำให้ปริมาณกุ้งส่งออกไปยังตลาดยุโรปลดลงทันที อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับผลกระทบดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัทมีฐานการผลิตในอังกฤษซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 600-750 ล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี 2559-2561 บริษัทวางแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 150-250 ล้านบาทต่อปีในช่วงดังกล่าว โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้เพื่อขยายฟาร์มกุ้งและเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนของบริษัทและ EBITDA ที่ประมาณการไว้ คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังคงอยู่ในระดับปานกลางในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30%-40% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ 8-12 เท่า ในช่วงระหว่างปี 2559-2561

บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี (มหาชน) (CFRESH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ