ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% โดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งสะท้อนการสนับสนุนที่บริษัทอาจได้รับจากบริษัทแม่ในฐานะเป็นบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มธนชาต ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และมีแนวทางการบริหารงานที่ระมัดระวัง ตลอดจนความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และสภาพคล่องและฐานทุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากเครือข่ายและความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของธนาคารธนชาตที่มีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศซึ่งจะช่วยเสริมสถานะทางการตลาดของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่า บริษัทจะคงสถานะการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของธนาคารธนชาตและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกลุ่มธนชาตต่อไป
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท อาจถูกปรับลดได้หากสถานะด้านเครดิตของธนาคารธนชาต หรือระดับของการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนชาตเปลี่ยนแปลงไป ส่วนโอกาสที่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะถูกปรับขึ้นนั้นมีจำกัดเมื่อคำนึงถึงสถานะเครดิตในปัจจุบันของธนาคารธนชาต
ในฐานะเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% โดยธนาคารธนชาตและมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มธนชาต บริษัทได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนชาตทั้งในด้านการทำธุรกิจและในด้านการเงิน และใช้ประโยชน์จากสาขาของธนาคารธนชาตในการขยายฐานลูกค้ารายย่อยมาโดยตลอด โดยกว่า 30% ของบัญชีเปิดใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารธนชาต บริษัทยังใช้ผลิตภัณฑ์ทางด้านการเงินและบริการของธนาคารธนชาตในการต่อยอดการให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจร นอกเหนือจากความช่วยเหลือในการขยายธุรกิจแล้ว ธนาคารธนชาตยังให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทผ่านการให้วงเงินสินเชื่อด้วย การเกื้อหนุนเหล่านี้ช่วยทำให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ไม่มีความสัมพันธ์กับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบ
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้ที่ระดับ 4%-5% โดยในปี 2558 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 4.07% ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 7 จากโบรกเกอร์จำนวน 36 ราย ในปี 2556 บริษัทได้ลงนามในสัญญาการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Daiwa Securities Group Inc. (Daiwa) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปี 2558 บริษัทได้ลงนามในสัญญาการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Affin Hwang Investment Bank Berhad (Affin Hwang) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศมาเลเซีย บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินธุรกิจเผยแพร่บทวิเคราะห์ (Co-branded Research) แก่กลุ่มลูกค้าสถาบันจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าในตลาดแถบเอเซีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างฐานนักลงทุนต่างชาติได้อีกครั้ง
บริษัทมีเงินลงทุนที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 2-3 บริษัท โดย ณ เดือนธันวาคม 2558 มูลค่าตลาดของเงินลงทุนเหล่านั้นอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท แม้ว่าเงินลงทุนนี้จะสร้างผลตอบแทนแก่บริษัทในรูปของรายได้จากเงินปันผล แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อยู่บ้าง นอกเหนือไปจากนี้แล้วก็ถือว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ไม่มากนักเนื่องจากบริษัทมีนโยบายการลงทุนเพื่อผลตอบแทนแบบ Arbitrage กับการซื้อขายเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เท่านั้น โดยไม่มีการเก็งกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์รายวัน บริษัทมีความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อ ยอดสินเชื่อของบริษัทคิดเป็น 6.1% ของสินเชื่อรวมของทั้งอุตสาหกรรมและคิดเป็น 106% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยบริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2558 ลดลงเป็น 3.3 พันล้านบาท เทียบกับ 3.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตในส่วนนี้ได้ต่อไปโดยใช้เกณฑ์การเรียกหลักประกันเพิ่มและการบังคับขายที่เคร่งครัด รวมทั้งคงนโยบายการกำหนดเกณฑ์ของหลักประกันและการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีและเทียบเคียงได้กับคู่แข่ง ในขณะที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ 60% ในปี 2558 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจหลักทรัพย์ ถ้าหากมีการแข่งขันด้านราคายังอย่างต่อเนื่อง ทีมผู้บริหารอาจจะเผชิญความท้าทายในการรักษาความสามารถในการทำกำไรในปีต่อไป บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 3.1 พันล้านบาทและมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ 64% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่ทางการกำหนด