ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงินสูง และความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงแผนการลงทุนที่ระมัดระวังของบริษัทและสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว และคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 20%-40% เมื่อพิจารณาถึงแผนการลงทุนของบริษัทแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเดรดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการกู้เงินเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่
บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยบริษัทก่อตั้งและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2543 เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ. และ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 45% บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ โดยมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทรวม 6,813 เมกะวัตต์ ณ เดือนมิถุนายน 2559 แบ่งเป็นกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 6,419 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออีก 394 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง บริษัทถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยกำลังการผลิตขนาด 5,656 เมกะวัตต์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยคิดสัดส่วนกำลังการผลิตประมาณ 14% ของกำลังการผลิตติดตั้งของทั้งประเทศ
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็ง โรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่บริษัทลงทุนมีโครงสร้างการลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงินสูงช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดให้แก่บริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 5,600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 88% ของกำลังการผลิตที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. อีก 28 เมกะวัตต์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่วนที่เหลืออีก 791 เมกะวัตต์ส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ประสบการณ์ของบริษัทในด้านการบริหารโครงการและการดำเนินงานโรงไฟฟ้ายังมีส่วนช่วยให้โครงการลงทุนต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงการและการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน เมื่อจำแนกประเภทของโรงไฟฟ้าตามเชื้อเพลิงแล้ว ประมาณ 82% ของกำลังผลิตไฟฟ้าของบริษัทใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในขณะที่ 12% เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4% เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และอีก 2% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ กฟผ. ด้วย ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทแล้ว กฟผ. ยังเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ของบริษัทอีกด้วย กฟผ. ยังเป็นผู้ให้บริการดำเนินงานโรงไฟฟ้าแก่โรงไฟฟ้าที่สำคัญของบริษัทด้วย เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2
บริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ปรับปรุงด้วยการรับชำระคืนเงินต้นของสัญญาเช่าทางการเงิน) ประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2554-2558 โดยส่วนมากมาจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (ได้รับอันดับเครดิตระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง) โครงการโรงไฟฟ้าหงสาได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จนถึงช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 โดยเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่บริษัทได้ 751เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 12% ของกำลังการผลิตติดตั้งที่ดำเนินงานแล้วของบริษัท กำไรของโรงไฟฟ้าหงสาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปีแรกของการดำเนินงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและประสบปัญหาทางเทคนิคบางประการ อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรงไฟฟ้าหงสาจะสามารถเพิ่ม EBITDA ให้แก่บริษัทได้ประมาณ 1,800-2,300 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อบริษัทจากกำไรที่ลดลงของโรงไฟฟ้าราชบุรี
บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 บริษัทมีเงินกู้รวม 22,644 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 26.7% นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 บริษัทมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 7,950 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้รวมกับประมาณการ EBITDA ประมาณ 11,500-12,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 นั้นเพียงพอสำหรับชำระหนี้และลงทุนตามสัดส่วนสำหรับโครงการที่มีภาระผูกพัน บริษัทมีภาระเงินกู้ที่ต้องชำระคืนเพียง 1,200 ล้านบาทในปี 2559 บริษัทมีภาระผูกผันสำหรับการลงทุนในช่วงปี 2559-2561 มูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหงสาและโรงไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อย ในประเทศลาว และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงหาโอกาสในการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป ดังนั้น บริษัทอาจจะต้องกู้เงินสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ โดยที่คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะไม่เกิน 40% ในช่วงปี 2559-2561